เมื่ออินโดนีเซียสวมบท ‘คนกลาง’ ท่ามกลางความตึงเครียดมหาอำนาจ

อินโดนีเซียเพิ่งจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่มีประเทศคู่แข่งเช่นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ อินเดีย-ปากีสถานเข้าร่วมด้วยอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ที่สำคัญคือเชิญทั้งจีนและสหรัฐฯมาร่วมการซ้อมรบทางทะเลครั้งนี้ด้วย

อีกทั้ง อินโดนีเซียก็เสนอ “แผนสันติภาพ” สำหรับสงครามยูเครนอีกด้านหนึ่ง

เป็นการตอกย้ำว่าเพื่อนอาเซียนเราคนนี้กำลังยกระดับบทบาทของตนเป็น “คนกลาง” ในเวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ

เห็นได้ตั้งแต่เมื่อประธานาธิบดีโจโก วิโดโดบินไปมอสโกและกรุงเคียฟเพื่อพบกับผู้นำรัสเซียและยูเครนเพื่อแสดงบทบาทเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” ระดับสากล

จะสำเร็จหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับว่าอินโดนีเซียกำลังเล่นบทของ “Middle Power” หรือประเทศที่มีอิทธิพลขนาดกลางอย่างน่าสนใจ

เมื่ออเมริกาและจีนเป็น Super Power ประเทศระดับกลาง ๆ ก็ย่อมสามารถเล่นบท Middle Power ได้

เหมือนอย่างที่บางคนเชื่อว่าประเทศไทยควรจะปรับบทบาทของเราให้เป็น “ประเทศทรงอิทธิพลขนาดกลาง” เช่นกัน

การซ้อมรบทางเรือ “โคโมโด” ครั้งนี้มาร่วมทั้งหมด 49 ประเทศโดยมีความสำคัญตรงที่ทุกประเทศที่เป็นมิตรกับอินโดนีเซีย (ไม่ว่าจะเป็นมิตรระหว่างกันเองหรือไม่ก็ตาม) ก็มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การซ้อมรบทางทะเลด้วยกันที่นี่

เรือรบของกองทัพเรืออเมริกา จีน และรัสเซียเข้าร่วมการฝึกซ้อมในน่านน้ำอินโดนีเซียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เริ่มด้วยการฝึกซ้อมการตอบสนองต่อภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม

เป็นจังหวะที่เหมาะเจาะมากเพราะโลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งกันเกือบทุกรูปแบบในทุกภูมิภาค

การสร้างบรรยากาศของความร่วมมือโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านความเชื่อด้านการเมืองและจุดยืนด้านอุดมการณ์ทางความคิดจึงเป็นเรื่องที่หายาก

และหา “ประเทศเป็นกลาง” ได้ยากยิ่ง

ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียซึ่งจัดการการประชุม G20 เมื่อปีที่แล้วที่เกาะบาหลีภายใต้เงาของสงครรายูเครน

และมาเมื่อสัปดาห์ก่อนก็เป็นเจ้าภาพในการซ้อมรบทางเรือโคโมโดในช่องแคบมากัสซาร์เป็นเวลาสี่วัน

การซ้อมรบรอบนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากการประชุมสุดยอดด้านกลาโหมที่เรียกว่า Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์

ซึ่งจบลงด้วยการทะเลาะเบาะแว้งครั้งใหม่ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของจีนและสหรัฐฯ

โดยมีประเด็นความขัดแย้งไต้หวันเป็นประเด็นหลัก

การซ้อมรบ Komodo ซึ่งจัดขึ้นในน่านน้ำระหว่างเกาะบอร์เนียวและเกาะสุลาเวสี เป็นการรวมตัวกันของ 49 ประเทศ รวมถึงคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปกติไม่พูดคุยกันด้วยซ้ำ

อินโดฯต้องการจะแสดงให้เห็นว่าประเทศที่แม้จะไม่เป็นมิตรกันก็ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กันหากตนได้ประโยชน์

ส่วนกรณีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็ว่ากันไปบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทวิภาคี

อินโดนีเซียวางตัวเป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการจัดการกับความตึงเครียดเหล่านี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยตำแหน่งประธาน G20 เมื่อปีที่แล้ว

และปีนี้ก็นั่งเก้าอี้เป็นประธานอาเซียนหมุนเวียน

ประธานาธิบดีโจโกวีตอกย้ำบทบาท “เป็นกลาง” ของอินโดนีเซียโดยยึดหลักการของความ "เสรีและคึกคัก" ในมวลหมู่ประเทศต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของโลกที่มีส่วนพัวพันกัน

อินโดฯมองว่าตนมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

และมีประชาการมากอันดับ 4 ของโลก

ดังนั้น จึงมุ่งมั่นที่จะแสดงบทบาทระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสองสถานะนั้น

กลุ่มประเทศต่างๆ ที่ได้รับเชิญก็มองบทบาทของอินโดนีเซียในทางสร้างสรรค์

เพราะเชื่อว่าอินโดฯไม่โอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

และในยามที่โลกขาดกลไกของการไกล่เกลี่ยเพื่อป้องกันสงครามรอบใหม่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก การที่อินโดฯเสนอตัวมาเล่นบทบาทที่ขาดแคลนเช่นนี้จึงเข้ากับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง

               ด้วยการเข้าร่วมของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ จีน และอีกหลายประเทศ การซ้อมรบ Komoda ครั้งนี้จึงเปิดโอกาสให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บัญชาการกองทัพเรือของประเทศที่เข้าร่วม

โดยอาจจะหลีกเลี่ยงประเด็นร้อน ๆ ทางการเมือง แต่หันมาพิจารณาวิธีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพเรือของแต่ละประเทศในฐานะ “มืออาชีพ”

การฝึกโคโมโดไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องสู้รบ หากแต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือทางทะเลและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การขยายงานทางการทูตเป็นต้น

นอกจากการซ้อมรบทางเรือแล้ว ยังมีกิจกรรมเบาๆ เช่น ขบวนพาเหรดในเมือง รายการอาหาร และนิทรรศการการเดินเรือ

ผมไม่แน่ใจว่าผู้บัญชาการทหารเรือของจีนกับสหรัฐฯนัดหมายคุยกันนอกรอบหรือไม่ แต่ทั้งสองน่าจะมีเรื่องที่ต้องปรับความเข้าใจกันพอสมควร

โดยเฉพาะหลังจากที่เรือรบของจีนแล่นตัดผ่านเส้นทางของเรือพิฆาตอเมริกัน USS Chung-Hoon เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้นในบริเวณใกล้กับช่องแคบไต้หวัน

ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจในน่านน้ำแถบนี้ขึ้นมาทันที

นักข่าวถามว่าในเมื่อจีนกับสหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะราบรื่น อีกทั้งยังมีกรณีสงครามยูเครนด้วย การซ้อมรบที่อินโดฯจะมีความสำคัญอย่างไร โฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า "เราเคารพในความสามารถของรัฐบาลอินโดนีเซียในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมในฐานะประเทศเจ้าภาพ

และเสริมว่า “สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น อินโดนีเซีย ต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าภูมิภาคนี้ยังคงเปิดกว้างและสามารถเข้าถึงได้ และทะเลและท้องฟ้าของภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้การควบคุมและใช้งานตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

สื่อ Global Times ของรัฐบาลจีนแสดงความเห็นว่าการมีส่วนร่วมของจีนในการฝึกครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม “ความเข้าใจ การแลกเปลี่ยน และการสื่อสารกับกองทัพต่างชาติ เพื่อปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในเอเชียแปซิฟิก”

ถือได้ว่าทั้งสองยักษ์ใหญ่ต่างถ้อยทีถ้อยแสดงออกอย่างสุขุมเพราะเกรงใจเจ้าของบ้านพอสมควรทีเดียว

ไม่กี่วันก่อนที่เปิดการซ้อมรบที่อินโดฯ ก็เกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่งาน Shangri-La Dialogue ของสิงคโปร์

โดยจีนปฏิเสธข้อเสนอของอเมริกาที่เสนอให้มีการคุยกันนอกรอบระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมจีนหลี่ ซ่างฝูกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯลอยด์ ออสติน

ปักกิ่งอ้างว่าที่ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมของการเจอกันก็เพราะวอชิงตันยังเอาชื่อของ รมว. กลาโหมจีนคนใหม่นี้อยู่ใน “บัญชีดำ” อันเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรจีนเพราะเขามีส่วนในการซื้อหาอาวุธจากรัสเซีย

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ดูเหมือนจะพยายามขอให้จีนยอมพูดคุยด้วยการกล่าวในสุนทรพจน์ว่า

“สำหรับผู้นำกลาโหมที่มีความรับผิดชอบ เวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยคือเวลาใดก็ได้ เวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยคือทุกครั้ง และเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยคือตอนนี้”

เมื่อ Super Power ต้องเกรงใจ Middle Power นั่นย่อมเป็นสัญญาณที่สร้างความหวังพอสมควร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว