ฮ่องกงไม่เพียงปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างราบคาบเท่านั้น ล่าสุดยังตามไล่ล่าบรรดานักเคลื่อนไหวที่กระจายตัวอยู่ต่างประเทศด้วย
ต้นสัปดาห์นี้ ตำรวจฮ่องกงประกาศจับนักเคลื่อนไหวที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศจำนวน 8 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติในหลายกระทง
เหล่าบรรดานักเคลื่อนไหวฮ่องกงที่หลบหนีไปปักหลักทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นที่คุ้นเคยของคนบนเกาะแห่งนี้
แปดคนที่เจอหมายจับมีดังนี้
อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ Nathan Law Kwun-chung, Dennis Kwok Wing-hang และ Ted Hui Chi-fung, Mung Siu-tat นักสหภาพแรงงาน, ทนายความ Kevin Yam Kin-fung และนักเคลื่อนไหว Finn Lau Cho-dik Anna Kwok Fung-yee และ Elmer Yuan Gong-yi
ข้อหาหนักคือ “สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ” และ “ยุยงให้มีการแบ่งแยกดินแดน”
แถมข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ออกมาสนับสนุนกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “บ่อนทำลายฮ่องกง” และยังต้องการคุกคามเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอีกด้วย
ครั้งนี้ต่างจากการประกาศจับครั้งก่อนๆ ตรงที่มีการเสนอรางวัลนำจับรายละ 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 4.4 ล้านบาทด้วย
มิหนำซ้ำยังจะมีการอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาทั้งหมด
ตามด้วยการเตือนประชาชนอย่าได้คิดจะไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ แก่ผู้อยู่ในบัญชีดำด้วย
เรียกว่าตามไล่ล่านอกบ้านและขู่คนในบ้านเสร็จสรรพ เป็นที่รู้กันว่านักเคลื่อนไหวใน “บัญชีดำ” ทั้งหมดนี้หลบหนีออกจากฮ่องกงแล้ว
กระจายตัวไปอยู่ตามประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษและออสเตรเลีย
ข้อหาที่หนักหน่วงรุนแรงนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ปักกิ่งประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2020
จีนบอกเสมอมาว่า คนเหล่านี้มีเจตนาจะทำลายฮ่องกง และได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตก จำเป็นที่ทางการจะต้องจัดการปราบปรามให้สิ้นเสี้ยนหนาม
โลกตะวันตกออกมาวิพากษ์ความเคลื่อนไหวล่าสุดของฮ่องกงตามคาด
เจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ แถลงวิจารณ์การออกหมายจับครั้งนี้อย่างฉับพลัน
และประกาศว่ารัฐบาลอังกฤษ “จะไม่ยอมรับความพยายามใดๆ ของจีนในการข่มขู่และปิดปากบุคคลใดๆ ที่อยู่ในอังกฤษและต่างประเทศ”
นั่นย่อมหมายถึงการปกป้องคนฮ่องกง ที่หลบหนีมาอยู่อังกฤษเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลจีน
รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เพนนี หว่อง แสดงความ “ผิดหวังอย่างมาก” ต่อกรณีนี้ทันทีเหมือนกัน
ปฏิกิริยาจากผู้ที่อยู่ในรายการของการไล่ล่าครั้งนี้ต่างก็ออกมาแจ้งว่า จะยังเดินหน้าทำเรื่องประชาธิปไตยสำหรับฮ่องกงต่อไป
เควิน แยม ซึ่งวันนี้มีตำแหน่งเป็นเป็นนักวิชาการอาวุโสประจำ Center for Asian Law ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากออสเตรเลียว่า อย่างไรเสียก็จะเดินหน้าเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้าน “อำนาจเผด็จการ” ของรัฐบาลฮ่องกงต่อไป
“มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะเดินหน้าเป็นปากเสียงต่อต้านการปราบปรามที่ยังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ เพื่อต่อต้านทรราชที่กุมอำนาจปกครองเมืองซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่เสรีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย”
Ted Hui อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปไตยของฮ่องกง แสดงความเห็นต่อต้านต่อเนื่อง
เขาบอกว่าการออกหมายจับที่มี “ค่าหัว” ด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงที่ไม่ชอบธรรม
และยืนยันว่าประเทศเสรีต่างๆ จะไม่ส่งตัวเราข้ามแดนเป็นอันขาด
ยิ่งมีการตั้ง “ค่าหัว” ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าจีนกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางของลัทธิเผด็จการที่รุนแรงยิ่งขึ้นอีก
แต่ก็ยอมรับว่าแม้จะมีหมายจับ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะสามารถได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้มากนัก
เพราะต่างชาติที่ให้คนเหล่านี้ไปอาศัยพักพิงนั้นคงจะไม่ยอมส่งตัวกลับมา
จึงตีความได้ว่าคำประกาศ “ไล่ล่า” ล่าสุดนั้นเป็นเพียงการข่มขู่ให้คนในประเทศหวาดกลัว และสกัดกิจกรรมทางการเมืองของนักเคลื่อนไหวในต่างประเทศได้บ้าง
นักเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายประเทศ ได้หลบหนีออกไปก่อนกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2020
บางคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการระดมทุนทั่วโลก และหนึ่งในนักเคลื่อนไหวสามารถระดมทุนได้หลายแสนดอลลาร์ฮ่องกงในหนึ่งเดือน
ผู้บริจาคก็อาจจะเสี่ยงถูกตั้งข้อหาเหมือนกันว่าละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ถ้าเงินบริจาคถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด เช่น การส่งเสริมการแยกดินแดนหรือการโค่นล้มอำนาจรัฐ
แต่ตำรวจฮ่องกงก็คงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะบัญชีธนาคารที่ใช้รวบรวมเงินบริจาคนั้นตั้งอยู่นอกฮ่องกง
กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020
ทางการระบุว่า 161 คนและบริษัท 5 แห่งถูกตั้งข้อหา ขณะที่ 79 คนถูกศาลตัดสินลงโทษแล้ว
เกือบทั้งหมดของผู้ต้องหาได้เคยเรียกร้องให้ต่างชาติคว่ำบาตรฮ่องกง
ขณะที่ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมในปี 2019 และรณรงค์ให้มีความเคลื่อนไหวทางออนไลน์ทั้งก่อนและหลังการออกเดินทาง
หนึ่งใน 8 ผู้ต้องหาคือ Kevin Yam ซึ่งได้เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายปฏิรูปการเมืองในเดือนมิถุนายน 2015
ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย และมีเพจ Facebook ซึ่งมีผู้ติดตาม 6,947 คน
Yam และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายฮ่องกงคนอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกันได้ร่วมกันก่อตั้ง Progressive Lawyers Group ในปี 2015 หลังจากการประท้วง Occupy เมื่อปีที่แล้ว
Yam เขียนคอลัมน์ใน Ming Pao ซึ่งเป็นภาษาจีนทุกวัน ก่อนที่จะหยุดเขียนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
กลุ่มทนายความฝ่ายก้าวหน้านี้ถูกยุบในปี 2021
ปัจจุบัน Yam เป็นสมาชิกคณะกรรมการของกลุ่ม The 29 Principles ซึ่งอ้างอิงจากเว็บไซต์ว่า “ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวฮ่องกงที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่เสมือนถูกเนรเทศ” และ “สนับสนุนนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ทำงานภายใต้ระบอบเผด็จการ”
ผู้ต้องหาอีกคน Cheung เป็นอดีตโฆษกของ Hong Kong Higher Institutions International Affairs Delegation
เขาเคยชักชวนให้สนับสนุนกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกงปี 2019
อีก 3 คน ได้แก่ Wayne Chan Ka-kui นักรณรงค์เพื่อเอกราชฮ่องกง, Lau Hong อดีตสมาชิกกลุ่ม Studentlocalism ที่ถูกยุบไปแล้ว และ Samuel Chu จากสภาประชาธิปไตยฮ่องกง ซึ่งปักหลักที่สหรัฐฯ ก็อยู่ในลิสต์รายชื่อเช่นกัน
เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลปักกิ่งต้องการจะจัดการปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยทุกวิถีทาง ด้วยการกดดันทั้งด้านกฎหมาย, สังคม และใช้กลไกระหว่างประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง
แต่กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกงก็คงจะยังดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศเพื่อกระตุ้นให้การรณรงค์ของตนยังไม่ล้มหายตายจากไป
การเผชิญหน้าทุกรูปแบบระหว่างรัฐบาลจีนกับผู้เห็นต่าง ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยจะยังไม่จบลงง่าย ๆ ในเร็ววัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว