เปิดศึกแล้วครับ
ศึกแย่งชิง ส.ว.
ช่วงนี้เห็นห้วงเวลาแห่งการล็อบบี้ชิงความได้เปรียบทางการเมือง
สายลับสองสลึงแถวๆ รัฐสภารายงานมาว่า ก้าวไกล ใช่ย่อย นึกว่าจะดีลกับคนอื่นไม่เป็น ที่ไหนได้ หัวบันไดบ้าน ส.ว.เปียกชุ่ม
เก็บเข้าลิ้นชักไปก่อนครับ เว้นวรรคปิดสวิตช์ ส.ว.ชั่วคราว
ไอ้ที่เคยด่า เครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ พักไว้ก่อน
มาช่วย "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เข้าสู่อำนาจก่อน
วุฒิสมาชิก ๒๕๐ คน เป็นหุ่นยนต์ สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้จริงอย่างนั้นหรือ
มีความเชื่อว่า ส.ว.ชุดนี้คือมรดกบาปของ คสช.
ฉะนั้น ส.ว.ทั้ง ๒๕๐ คนจึงอยู่ใต้การบงการของ คสช. ซึ่งก็คือ ๓ ป.
แต่ความเป็นจริงคือ เกิดกรณี ส.ว.เสียงแตกมาหลายครั้ง เช่นกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นต้น
แล้วการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ ส.ว.เสียงจะแตกหรือไม่?
ในการเลือกนายกฯ คนที่ ๒๙ เมื่อปี ๒๕๖๒ ส.ว.จำนวน ๒๔๙ เทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
งดออกเสียง ๑ คน "พรเพชร วิชิตชลชัย" รองประธานรัฐสภา
เป็นการงดออกเสียงตามธรรมเนียม
ไม่มี ส.ว.โหวตให้ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ซึ่งเสนอชื่อโดยพรรคเพื่อไทย เลยแม้แต่คนเดียว
นี่อาจเป็นต้นเหตุนำไปสู่การวิจารณ์ว่า ส.ว.ฝักถั่ว โหวตตามสั่ง
มันก็อาจจะจริง และไม่จริง เพราะเงื่อนไขการเลือกนายกฯ เมื่อปี ๒๕๖๒ มีความซับซ้อนน้อยกว่าครั้งนี้มากพอควร
ปี ๒๕๖๒ พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ "ธนาธร" ทั้งๆ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ทวนความจำกันอีกครั้งนะครับ
หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี ๒๕๖๒ "ธนาธร" ขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูก กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติตาม ม.๙๘ (๓) จากการถือครองหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด
ต่อมาวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ๙ ต่อ ๐ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
และมติเสียงข้างมาก ๘ ต่อ ๑ ให้ "ธนาธร" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
หมายความว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งไม่เสนอแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคตัวเอง เพราะสอบตกหมด หันไปเสนอชื่อ "ธนาธร" ซึ่งมีตำหนิให้ ส.ว.โหวตเป็นนายกฯ
การขุดโคตรด่า ส.ว.ว่าขี้ข้าเผด็จการจึงไม่เป็นธรรมเลย
นี่ยังไม่รวมคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ตามมาหลังจากนั้น ก็เกิดจาก "ธนาธร" เช่นกัน
หาก ส.ว.ไม่สนใจว่า "ธนาธร" ติดคดีอะไร ศาลสั่งว่าอะไร ปล่อยให้ "ธนาธร" เป็นนายกฯ สุดท้าย "ธนาธร" ก็พบจุดจบอยู่ดี
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยคะแนน ๗ ต่อ ๒
แต่ผลของการปล่อย "ธนาธร" เป็นนายกฯ แล้วหล่นเก้าอี้กลางทาง อาจเกิดวิกฤตทางการเมืองชนิดหลายคนคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ฉะนั้นถือว่า ส.ว.ทำหน้าที่ได้ถูกต้องตั้งแต่แรก
ที่จริงวุฒิสภาชุดนี้ มีที่มาโปร่งใสกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
มาดูกันอีกทีครับว่า ส.ว.เป็นขี่้ข้าเผด็จการจริงหรือไม่
สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้มาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดยดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดําเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้มีจํานวน ๒๐๐ คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจํานวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศจํานวนไม่เกิน ๔๐๐ คน
จากนั้นให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ ๒๕๐ คน
วิธีการเลือก
ให้ คสช.เลือกรายชื่อที่ได้จาก กกต. ซึ่งมี ๒๐๐ คน ให้เหลือ ๕๐ คน สำรอง ๕๐ คน ให้คํานึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง
เลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยคณะกรรมการสรรหาให้ได้จํานวน ๑๙๔ คน และคัดเลือกรายชื่อสํารองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจํานวน ๕๐ คน
มี ส.ว.โดยตำแหน่งเพียง ๖ คนคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ
รวมแล้ว ๒๕๐ คน
ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากมี ส.ว.แตกแถว
เพียงแต่ ส.ว.ซึ่งถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒินั้น มีความถ้วนถี่ในการโหวตเลือกนายกฯ มากกว่า ส.ส.มาก
มิได้เลือกเพราะอยู่พรรคเดียวกัน ขั้วเดียวกัน
แต่ต้องดูว่า รายชื่อที่ถูกนำเสนอนั้นมีตำหนิหรือไม่ หรือมีแนวคิดที่อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ เช่น แก้ ม.๑๑๒ สนับสนุนแยกดินแดน หรือไม่
ครับ...มีข่าวว่าที่ ๗ พรรคร่วมรัฐบาล รอคำตอบจาก ก้าวไกล ว่าตกลงแล้วมี ส.ว.กี่คนที่พร้อมจะโหวตให้
ก็แสดงว่าไม่มีพรรคไหนรู้ว่า ก้าวไกล ไปติดต่อกับ ส.ว.คนไหนบ้าง
เสียวครับ
ที่เสียวสันหลังกว่าก็คำพูดของ "พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ ๒ อดีตผู้เชี่ยวชาญการทำสภาล่ม
จะไม่เสียวได้ไง เล่นพูดตรงๆ คาดว่าจะเลือกนายกฯ ๓ วัน
๑๓ กรกฎาคม ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต่อรอบ ๒ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม
ถ้าไม่ได้อีก ก็เลือกรอบ ๓ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม
ไม่รู้ว่า ก้าวไกล ตามทันหรือเปล่า
เลือกรอบแรกไม่ได้ก็หมายความว่า "พิธา" สอบตก ไม่ผ่านด่าน ส.ว.
รอบ ๒ ไม่ได้ ก็หมายความว่า เปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ มาเป็นของเพื่อไทย แต่ก้าวไกลยังร่วมรัฐบาลอยู่
รอบ ๓ จบบริบูรณ์ เพื่อไทยตั้งรัฐบาลเหมือนเดิม ที่ต่างไปคือ เขี่ยก้าวไกลออก แล้วดึง ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา เข้าร่วม
นี่คือความหมายเลือก ๓ รอบของ "พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" ใช่หรือเปล่า
"ด้อมส้ม" ลองไปถามดู.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่
หรืออยากฟังเพลงมาร์ช
เขาว่าเป็นร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ข่าววานนี้ (๖ ธันวาคม) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...)
รัฐบาลถังแตก?
ตกใจกันทั้งประเทศ...! วันอังคาร (๓ ธันวาคม) ที่ผ่านมา "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปพูดในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business กล่าวในหัวข้อ "Financial Policies for Sustainable Economy" แนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ๓ ข้อ