คนจนเล่นหวย, คนรวยเล่นหุ้น, วัยรุ่นเล่นคริปโตฯ

วันก่อนผมคุยกับคนในวงการ Cryptocurrencies หรือเงินสกุลคริปโตฯ ที่กำลังเป็นข่าวคราวร้อนแรงอยู่ขณะนี้ เขาพูดทีเล่นทีจริงว่า

 “แต่ก่อนมีคนบอกว่าคนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น...แต่เดี๋ยวนี้มีเพิ่มมาอีกประโยคหนึ่ง...วัยรุ่นเล่นคริปโตฯ”

ว่าแล้วเราต่างก็หัวเราะกันร่วน

แต่จะว่าไป, อาจจะเป็นจริงของเขาก็ได้

ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศว่า “ไม่สนับสนุน” การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลหรือ digital assets ในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ขณะที่คนในวงการนี้จำนวนหนึ่งแย้งว่าอย่างไรเสียก็หยุดยั้งการก้าวเข้าสู่การใช้เงินคริปโตฯ ไม่ได้แล้ว

เพราะมันคือแนวโน้มของโลก และหลายประเทศก็กำลังไปในทิศทางนี้

คนรุ่นก่อนอาจจะเห็นเป็นความเสี่ยง

แต่คนรุ่นใหม่เห็นว่าเป็น “สินทรัพย์ทางเลือก” (Alternative Assets) ที่ไม่ต้องมีการควบคุมโดยส่วนกลางที่เรียกว่า Decentralized Finance หรือ DeFi ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ในเมืองไทยเราก็เห็นกระแสของธุรกิจหลายวงการเริ่มจะก้าวเข้าสู่การยอมรับเงินคริปโตฯ บางตระกูลในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจขายปลีก รวมไปถึงร้านกาแฟและบริการต่างๆ

วันก่อนผมยังคุยกับเจ้าของ “ปลาเผาคริปโตฯ” ที่ยอมให้ลูกค้าจ่ายเป็นคริปโตฯ ด้วยซ้ำไป

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยและ ก.ล.ต. ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลหรือผู้กุมกฎ หรือ regulator ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเกาะติดและส่งสัญญาณเตือน

ล่าสุดแบงก์ชาติบอกว่า “ไม่ห้าม” แต่ “เป็นห่วง” และกำลังเร่งหารือออกเกณฑ์การใช้คริปโตฯ

คุณชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า

จากการที่ ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และยังมีความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล

หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

มีผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย

ในระยะต่อไป หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้

ผู้บริหารแบงก์ชาติบอกว่า ธปท.เริ่มเห็นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการที่มีความแพร่หลายมากขึ้น

ธปท.มีความกังวลหากนำมาใช้ในวงกว้างที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในภาพรวมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ได้เข้านิยามลักษณะของ Means of Payment

อันหมายความว่าประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึง ต้องสามารถคงมูลค่าได้ รวมทั้งต้องปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้และผู้รับ

โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Blank Coin) เช่น Bitcoin หรือ Ether เพราะราคาจะมีความผันผวนสูง

คุณชญาวดีเสริมว่า

 “แม้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผู้ลงทุนจะยอมรับความเสี่ยงได้ แต่ในการนำมาใช้ชำระสินค้าหรือบริการอาจจะไม่ได้มีลักษณะตามลักษณะในการเป็น Means of Payment

 “ในความเป็นห่วงของ ธปท.ไม่ได้ห้ามหากมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการในวงจำกัด หรือใช้ระหว่างบุคคลต่อบุคคลที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้อยู่แล้ว เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่กังวลว่าหากใช้ในวงกว้างอาจจะกระทบต่อผู้อื่นที่ยังไม่เข้าใจในความเสี่ยงเรื่องนี้เพียงพอ เช่น กรณีแพลตฟอร์มถูกโจรกรรม ผู้ใช้งานก็อาจจะไม่สามารถเรียกชดเชยความเสียหายได้”

และบอกต่อว่ามีหน่วยงานเอกชนและสถาบันการเงินเข้ามาหารือกับ ธปท.ในเรื่องนี้หลายราย

ธปท.กำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวนโยบายกำกับดูแลในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาในเร็วๆ นี้

(พรุ่งนี้: ภูมิทัศน์ทางการเงินในอนาคต).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนกังวลโครงการท่าเรือในพม่า ขณะที่การสู้รบในยะไข่ยังเดือด

สมรภูมิที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพม่าวันนี้คือรัฐยะไข่ที่กองทัพอาระกันสามารถเอาชนะทหารรัฐบาลพม่าในหลายแนวรบ ขณะที่ยังมีความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นและโยงไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีนด้วย

ปูตินปลดรัฐมนตรีกลาโหม: ปรับยุทธศาสตร์สงครามใหม่?

ข่าวที่สร้างความแปลกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของรัสเซียกับสงครามยูเครนมากว่า 2 ปี คือการที่ปูตินเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค

บทพิสูจน์นายกฯคนใหม่ สิงคโปร์: ฝีมือสำคัญกว่าบารมี

การผลัดใบของผู้นำสิงคโปร์เริ่มแล้วสัปดาห์นี้...เป็นที่จับตาของคนทั้งโลกว่าเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ที่สร้างเศรษฐกิจจาก “โลกที่ 3 สู่โลกที่ 1” นี้จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้อย่างไร

หากการเมืองแทรกแซง ธนาคารกลางได้…

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เริ่มเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้เพื่อแสดงจุดยืนว่า “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลางเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ