ทำอย่างไรไทยจึงไม่ตก รถด่วนขบวนดิจิทัล

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความกังวลเรื่องใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเหตุผลที่ได้เล่าให้ฟังในคอลัมน์เมื่อวานนี้ ยังไม่ถึงกับห้าม แต่ไม่สนับสนุนเพราะมีความเป็นห่วง

จึงกำลังจะเชิญหลายๆ ฝ่ายมาปรึกษาหารือเพื่อวางเกณฑ์ที่จะตอบโจทย์ทั้งเรื่องความปลอดภัย, ความเหมาะสม และขณะเดียวกันก็ไม่ให้ไทย “ตกรถด่วนขบวนดิจิทัล” ที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลกเช่นกัน

จึงควรจะเป็นหน้าที่ของ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทุกฝ่ายที่จะต้องนั่งลงแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยและจริงใจเพราะทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง

หัวใจของเรื่องจึงอยู่ที่การ “บริหารความเปลี่ยนแปลง” ที่กำลังเขย่าทุกวงการ พร้อมกับคำเตือน ธปท. ก็ออกวิจัยเชิงลึกในเรื่องภูมิทัศน์ทางการเงินในอนาคต (Consultation Paper on Financial Landscape) ที่น่าสนใจ

เป็นงานวิจัยว่าด้วยแนวนโยบายในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินในอนาคตที่จะออกมาภายในไตรมาส 1/65 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

 “ที่ผ่านมายังไม่พบว่าสถาบันการเงินเข้าไปลงทุนตรงในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่อาจจะมีบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือของสถาบันการเงินเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง...”

ซึ่ง ธปท.บอกว่าไม่เห็นด้วยหากสถาบันการเงินเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง

เพราะสถาบันการเงินมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพและต้องดูแลประชาชนผู้ฝากเงิน

ข้อสังเกตต่อการใช้ Crypto Payment เป็นวงกว้างนั้นมีดังนี้

การชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซี หรือ Crypto Payment กำลังมีการใช้งานมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมคริปโตฯ กำลังอยู่ในช่วงเบ่งบาน มูลค่าตลาดสูงถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ภาคธุรกิจบางแห่งเริ่มออกมาประกาศรับการชำระเงินแบบ Crypto Payment แล้ว

โดยใช้วิธีให้ตัวกลางสร้างระบบ Auto Convert เพื่อแปลงคริปโตฯ เป็นเงิน Fiat และส่งต่อให้ร้านค้า

แม้ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินโดยที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีหรือรูปแบบการกำกับมากนัก

แต่ในระยะยาวก็ยังถือว่ามีความท้าทายที่น่าจับตามมองหลายด้าน

เอกสารนี้บอกว่าข้อดีของ Crypto Payment ต่อประเทศไทยมีดังนี้

- ดึงดูดเงินจากต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ

- ทำให้ประเทศไทยเข้าถึงกลุ่ม New Wealth ที่เป็นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

- ร้านค้ามีช่องทางในการรับชำระค่าสินค้าและบริการได้มากขึ้น

- มีโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยสร้างความได้เปรียบจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต

ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า หากเปิดรับ Crypto Payment (ร้านค้ารับเป็นคริปโตฯ) สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็จะ

- มีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาคริปโตฯ

- มีโอกาสถูกโจมตีไซเบอร์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน และใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

- ภาครัฐไม่สามารถกำกับดูแลหรือดำเนินนโยบายการเงินในประเทศ

- หากใช้เป็นวงกว้างจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินและระบบการเงินของประเทศ

อีกทั้งมีข้อสังเกตว่า หากเปิดรับ Crypto Payment (ร้านค้ารับเงินบาท) สิ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ

- ผู้ที่ทำหน้าที่ตัวกลางแปลงคริปโตฯ เป็นเงินบาท อาจต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท.

- ต้องมีระเบียบและการกำกับดูแลที่ชัดเจน สามารถเดินหน้าได้ทั้งธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล

- ช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนต่อการใช้งานบาทดิจิทัลของ ธปท.

งานวิจัยเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการให้ความรู้ต่อประชาชนในวงกว้าง เพราะอย่างไรเสียก็ต้องยอมรับความจริงว่าแนวโน้มเรื่อง Decentralized Finance (DeFi) หรือการเงินทางเลือกที่ไม่อยู่ในกรอบการกำกับดูแลของรัฐบาลกลางนั้นกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระดับโลก

เพราะเอกชนที่ทำเรื่องนี้มีคำอธิบายว่าเขามีวิธีการบริหารความเสี่ยงของตนอยู่ในหลายรูปแบบ

เช่น Exchange ที่ให้บริการด้านนี้มีกลไกป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของราคาด้วยการแปลงเป็นเงินบาทแบบเรียลไทม์

หากเป็น Exchange ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลก็จะมีมาตรการป้องกันการโจรกรรมไซเบอร์ การฟอกเงินและข้อมูลส่วนบุคคลลูกค้าอยู่แล้ว

เทคโนโลยีการรับชำระเงินและแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาไปไกลพอสมควรแล้วเช่นกัน

เอกชนมองว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรจะมีบทบาททั้ง “ดูแลและส่งเสริม” ไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนเทคโนโลยีด้านการเงินที่กำลังกลายเป็นวิถีปกติของคนทั้งโลกในรูปแบบต่างๆ

หากสามารถสกัดกั้นการใช้คริปโตฯ เป็นแหล่งฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขี่คลื่นของ DeFi, NFT, Payment หรือ ICO ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย

ผมมองว่าการแลกเปลี่ยน “ความห่วงกังวล” ของผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล และ “ความกระตือรือร้น” ที่จะวิ่งตามเทคโนโลยีของเอกชนนั้นเป็นเรื่องปกติและควรจะทำกันอย่างถ้วนถี่และคึกคักต่อไป

เพื่อช่วยกันผลักดันประเทศไทยก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านอย่างรู้เท่าทันและไม่เข้าข่าย “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ เรื่องในบ้านเรามาแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนกังวลโครงการท่าเรือในพม่า ขณะที่การสู้รบในยะไข่ยังเดือด

สมรภูมิที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพม่าวันนี้คือรัฐยะไข่ที่กองทัพอาระกันสามารถเอาชนะทหารรัฐบาลพม่าในหลายแนวรบ ขณะที่ยังมีความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นและโยงไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีนด้วย

ปูตินปลดรัฐมนตรีกลาโหม: ปรับยุทธศาสตร์สงครามใหม่?

ข่าวที่สร้างความแปลกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของรัสเซียกับสงครามยูเครนมากว่า 2 ปี คือการที่ปูตินเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค

บทพิสูจน์นายกฯคนใหม่ สิงคโปร์: ฝีมือสำคัญกว่าบารมี

การผลัดใบของผู้นำสิงคโปร์เริ่มแล้วสัปดาห์นี้...เป็นที่จับตาของคนทั้งโลกว่าเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ที่สร้างเศรษฐกิจจาก “โลกที่ 3 สู่โลกที่ 1” นี้จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้อย่างไร

หากการเมืองแทรกแซง ธนาคารกลางได้…

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เริ่มเคลื่อนไหวในสัปดาห์นี้เพื่อแสดงจุดยืนว่า “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลางเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ