ผู้นำเกือบทั่วโลกได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีกับนายกฯเศรษฐา ทวีสิน...ไม่ว่าจะเป็นประธานาโจ ไบเดนหรือนายกฯหลี่ เฉียงของจีน
รวมถึงผู้นำเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ได้ฝากความหวังดีมายังผู้นำใหม่ของไทย
เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย หาน จื้อเฉียงได้เข้าพบคุณเศรษฐาและเชิญให้ไปเยือนจีนเพื่อจะได้พบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ทั้งหมดนี้เป็นประเพณีทางการทูต และเป็นการให้เกียรติประเทศไทย
ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯของไทย หากมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมิได้เป็นการเข้ามาด้วยวิธีการที่น่าสงสัย ก็ย่อมจะได้รับเกียรติจากนานาชาติเช่นนี้
แต่การจะทำให้เกิดเนื้อหาสาระแห่งการสานประโยชน์ระหว่างกันอย่างแท้จริงนั้นมีมากกว่าแค่ทักทายด้วยภาษาทางการทูตที่ไพเราะหอมหวานเท่านั้น
ท้ายที่สุด สาระแห่งนโยบายต่างประเทศของเราในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม เสริมสร้างโอกาสสสให้แก่กันและกัน และการสร้างความรู้จักมักคุ้นเป็นส่วนตัวล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น
หากรัฐบาลชุดนี้จะมีนโยบาย “การทูตเชิงรุก” อย่างเป็นรูปธรรม และมิใช่แอบอิงกับ นโยบาย “ลู่ตามลม” อย่างที่เราเคยเชื่อว่าเป็นหนทางแห่งความสำเร็จในอดีตของเรา
ก้าวแรกของผู้นำไทยในเรื่องนโยบายการต่างประเทศมีทั้งในเวทีต่างๆ ทั้งระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาคและระดับโลก
หากย้อนกลับไปดูนโยบายต่างประเทศที่คุณเศรษฐาเคยหาเสียงเอาไว้ ก็จะเน้นเรื่อง “เปิดประตูการค้า เสริมโอกาสการต่างประเทศ”
คุณเศรษฐาเคยประกาศว่าจะทำทุกอย่างเพื่อเรียกคืนเสถียรภาพทางการทูตให้ประเทศไทย
เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและฟื้นฟูสิทธิมีเสียงในเวทีการเมืองโลก
คุณเศรษฐาบอกว่าตัวเองและตัวแทนรัฐบาลไทยจะเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลกเพื่อเปิดประตูโอกาสให้ประเทศไทยมีโอกาสได้เพิ่มพื้นที่ในตลาดโลก
ที่สำคัญคือจะต้องพยายามชักชวนให้ต่างชาติมาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และเพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวมีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า
คุณเศรษฐาเคยประกาศว่าจะทำให้หนังสือเดินทางไทยมีพลังมากขึ้นและสามารถเดินทางได้ทั่วโลก
เพื่อทำให้คนไทยในฐานะพลเมืองโลกมีโอกาสเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากทั่วโลกด้วยหนังสือเดินทางของประเทศไทย
นั่นย่อมแปลว่ารัฐบาลจะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เข้มแข็งและหลากหลายมากขึ้น และเสริมอิทธิพลหนังสือเดินทางไทยเพื่อให้คนไทยเดินทางไปได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า
แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ หากจะเกิดขึ้นได้จริง และไม่ใช่เพียงแค่การสร้างภาพประชาสัมพันธ์เท่านั้นก็ต้อง “จัดบ้านให้เรียบร้อย” เสียก่อน
นั่นหมายถึงการต้องแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาของเราที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างชาติ, การทำให้เกิด One Stop Service อย่างแท้จริง และการปราบปรามคอร์รัปชั่นในกระบวนการขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจของคนไทยและคนต่างชาติ
เพราะแม้ว่านายกฯจะสามารถป่าวประกาศไปทั่วโลกว่าต้องการเปิดประตูประเทศไทยให้กว้างขึ้น และเราพร้อมจะ “ทำธุรกิจ” กับทุกคน แต่หากเขามาแล้ว ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการอย่างที่เคยประสบมา
ตรวจดูปฏิทินระดับโลกก็จะเห็นว่ามีเวทีการประชุมระดับผู้นำประเทศสำคัญ ๆ ที่ผู้นำไทยควรจะต้องแสดงจุดยืนของเราให้เป็นที่ประจักษ์
ที่พลาดไปแล้วก็คือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 5-7 กันยายนที่ผ่านมาที่อินโดนีเซีย
แต่ข้อตกลงหลายประเด็นที่สำคัญและคงจะเป็นเรื่องที่กระทรวงต่างประเทศไทยเกาะติดเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลใหม่ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันต่อไป
ที่โดดเด่นและละเอียดอ่อนที่สุดน่าจะเป็นเรื่องวิกฤตพม่าที่ผู้นำอาเซียนคนอื่น ๆ น่าจะต้องการจะรู้แนวทางของรัฐบาลใหม่ของไทยให้ชัดเจน
ว่าเหมือนหรือแตกต่างไปจากวิถีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทรโอชาอย่างไร
เพราะอาเซียนย่อมจะจับตามาที่ไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่สำคัญที่สุดของพม่า
ท่าทีและกิจกรรมของรัฐบาลไทยในเรื่องพม่าภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีต่างประเทศดอน ปรมัถต์วินัยมีทั้งที่ได้รับเสียงชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น
จึงจำเป็นที่รัฐบาลของนายกฯเศรษฐาต้องวิเคราะห์และนำเสนอต่อประชาชนคนไทยและเวทีระหว่างประเทศว่าก้าวย่างต่อไปของเราคืออย่างไร
หัวข้ออื่นในการประชุดสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ที่สำคัญไม่น้อยก็มีหลายเรื่อง
เช่นการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) ตั้งเป้าจะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี
มีการคาดหมายว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน สูงถึง 400-600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยคือการจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค
อีกทั้งยังมีเรื่องการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ
เช่น จัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP
การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปีนี้
งานยักษ์ระดับโลกครั้งแรกสำหรับนายกฯเศรษฐาก็คือการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-23 กันยายน
จะมีการหารือในเวทีคู่ขนานหลายเรื่องที่สำคัญ อาทิ การประชุมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit)
การประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ (High-Level Meetings on Health)
และเวทีเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit)
จากนั้นก็จะมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 28 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2566
คาดว่านายกฯเศรษฐาคงจะให้ความสนใจมากพอที่จะนำทีมไปร่วมประชุมเองอีกเช่นกัน
เพราะการประชุมครั้งนี้มีความคืบหน้าจากคราวก่อนในหลาย ๆ ด้าน
เชื่อกันว่าเวที COP 28 จะมีการพิจารณาหัวข้อสำคัญหลายประเด็น
ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรแกรมลดผลกระทบเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส
อีกทั้งยังจะมีการหารือเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านการปรับตัวฯที่เหมาะสม
รวมถึงการเชื่อมโยงกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งหมดนี้คือ “การบ้าน” ที่รัฐบาลไทยใหม่จะต้องวางแผน จัดระบบ วางยุทธศาสตร์ วางตัวคนทำงานและสร้างเครือข่ายการประสานงานทั้งในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จึงจะตอบคำถามได้ว่า “รัฐบาลใหม่รู้ทันโลกยุคใหม่หรือไม่?”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power
พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า
‘อำนาจอ่อน’ แบบไหนที่จะสร้างพลังประเทศไทยในเวทีสากล?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่เพิ่งตั้งโดยมีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน
OFOS : หนึ่งครอบครัว หนึ่ง soft power คือความท้าทายของรัฐบาล
รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศตั้งคณะกรรมการ soft power แห่งชาติชุดใหม่ที่มีโครงสร้างและสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่จะสามารถผลักดันให้เคลื่อนทัพได้ไม่น้อย...หากสามารถดึงเอาคนเก่งคนมีพรสวรรค์เข้ามาร่วมได้อย่างจริงจัง
‘เศรษฐา’ ประกาศเรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ ที่สหประชาชาติ: รัฐบาลเอาจริงเพียงใด?
หนึ่งในประเด็นหลักของการนำเสนอสหประชาชาติโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน คือสิ่งที่เรียกว่า “การเงินสีเขียว” หรือ Green Finance ซึ่งไม่ค่อยจะได้กล่าวถึงในประเทศมากนัก
ปานปรีย์: การทูตไทย ‘ต้องไม่เงียบเกินไป’
นโยบายต่างประเทศภายใต้รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสินจะไปทิศทางไหนอยู่ที่แนวคิดของรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร
ตรวจสุขภาพกระเป๋าตังค์ ของรัฐบาล ‘เศรษฐา 1’
เมื่อรัฐบาลมีนโยบายต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบ “ปั๊มหัวใจ” ไม่ใช่เพียงแค่ “หยอดน้ำข้าวต้ม” คำถามใหญ่ก็คือว่าเรามีเงินในกระเป๋ามากน้อยเพียงใด