ความกังวลของ ‘คนวงใน’ ว่าด้วยแจกเงิน Digital Wallet

นักวิชาการหลายค่ายออกมาวิเคราะห์ วิพากษ์และเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet ของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยอย่างกว้างขวาง

แนวคิดนี้มาจากทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และเป็น “นโยบายเรือธง” ของพรรคระหว่างการหาเสียงอย่างคึกคัก

พอมาเป็นรัฐบาล “ข้ามขั้ว” นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ถือเป็นนโยบายหลักที่ยืนยันว่าจะต้องเดินหน้าทำให้สำเร็จให้จงได้

ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากวงการต่างๆ ข้างนอกเพียงใด พรรคเพื่อไทยก็ยังยืนยันว่าต้องทำและทำได้แน่นอน

โดยยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะหาเงินก้อนใหญ่ 560,000 ล้านบาทมาจากไหน

มีแต่คำยืนยันว่าจะไม่เอาเงินจากไหนบ้าง

จะไม่ขายกองทุนวายุภักษ์

ไม่เอาเงินกองทุนผู้ประกันตนมาใช้

ไม่เอากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้

ไม่ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ

และจะยึดกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ

คนนอกวิพากษ์ยังพอจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจจะไม่เข้าใจเบื้องลึกของแนวคิดนี้

แต่มีนักวิชาการสองท่านที่ต้องถือว่าเป็น “คนวงใน" ของพรรคเพราะเป็น “ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ” ของพรรคมายาวนาน

ที่ดิ้นออกมาแสดงความเห็น ที่ทำให้ผู้คนต้องลุกขึ้นนั่งไตร่ตรองเรื่องนี้เช่นกัน

ด้านหนึ่งคือ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งให้สัมภาษณ์รายการ Money Chat Channel ว่ามีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายนี้พอสมควร

เพราะหวั่นว่าจะเป็นนโยบายแบบ “เหวี่ยงแห” ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

ขณะที่ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ซึ่งเป็นทั้งรักษาการกรรมการบริหารและเป็นกรรมการของคณะขับเคลื่อนนโยบายของพรรค

ท่านเห็นด้วยกับนโยบายนี้แน่นอน แต่เป็นห่วงว่าการแจกทีเดียวทั้งก้อน 10,000 บาทจะทำให้เกิดอาการ “ช็อก” ในระบบ

ท่านจึงเสนอว่าควรจะแยกแจกเป็นสองสามก้อน เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในแต่ละขั้นตอน อีกทั้งยังเป็นการบริหารสภาพคล่องของเงินที่ต้องหามาให้ได้กว่า 5 แสนล้านอีกด้วย

พอ ดร.กิตติให้สัมภาษณ์สื่อเช่นนั้น ก็มีคำแถลงการณ์จากพรรคเพื่อไทยทันทีว่านั่นเป็นความเห็นส่วนตัวของนักวิชาการ แต่พรรคยังยืนยันที่จะแจกเงินครั้งเดียว 10,000 บาทไม่เปลี่ยนแปลง

ดร.ศุภวุฒิ (เคยเป็นแคนดิเดตตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของพรรคเพื่อไทย) บอกว่า นโยบายนี้หวั่นว่าจะเป็นแบบ “เหวี่ยงแห” ไม่มุ่งเป้าไปที่คนที่ควรจะได้ และไม่จำเป็นต้องแจกคนที่มีเงินอยู่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ในความเห็นของ ดร.ศุภวุฒิ หากเดินหน้าทำนโยบายนี้ก็มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดภาวะ twin deficits แบบเดียวกับยุควิกฤตต้มยำกุ้ง

นั่นหมายถึง การที่จะต้องเจอกับการขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณพร้อมๆ กัน

อีกทั้งการฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่ไม่แน่ว่าจะสามารถจูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาวได้หรือไม่

ในความเห็นของท่าน รัฐบาลควรเอาเงินไปช่วยคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่ 4.5 ล้านคนมากกว่า

หรือหากจะอยากให้ขยายกว้างไปกว่านั้น ก็อาจรวมอีก 5 ล้านคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนนั้น แต่ไม่ควรใช้วิธีเหวี่ยงแหแจกให้ 56 ล้านคน เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องได้เงินกระตุ้น

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ดร.ศุภวุฒิเข้าใจดีถึงหลักการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Keynesian Economics

แต่นั่นคือแนวทางที่ควรจะทำเฉพาะในสภาวะพิเศษ และควรจะทำในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

เช่นกรณีเกิดการระบาดของโควิดที่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ซึ่งอุปสงค์ต่ำกว่าอุปทานมาก

ในกรณีเช่นนั้น ย่อมเข้าใจได้ว่ารัฐบาลอาจต้องยอมขาดดุลงบประมาณ เพื่อกระตุ้นให้ดีมานด์เพิ่มสูงขึ้นมา

แต่หากตรวจดูข้อมูลทางการแล้วจะเห็นว่า ในช่วงปี 2014-2020 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด รายได้สูงกว่ารายจ่ายมาตลอด

พอถึงปี 2022 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 14.7 พันล้านเหรียญเท่านั้น

แสดงว่าดีมานด์กับซัพพลายใกล้เคียงกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นแบบเหวี่ยงแหไปทั่ว

ในหลักการคิดของเศรษฐศาสตร์ หากมีการเร่งกระตุ้นอุปสงค์มากๆ จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่ม

ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะนำไปสู่สภาพอาจจะคล้ายกับตอนเกิดวิกฤตต้มย้ำกุ้งเมื่อปี 1997

เพราะเกิดกรณี twin deficits คือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณพร้อมๆ กัน

ทำให้เกิดปรากฏการณ์ค่าเงินอ่อน เงินทุนไหลออกต่างประเทศเพราะอัตราดอกเบี้ยข้างนอกสูงกว่า จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องระมัดระวังอย่างมาก

ในความเห็นของ ดร.ศุภวุฒิ รัฐบาลควรจะปรับนโยบายนี้ให้พุ่งไปเฉพาะจุด

นั่นคือ (1) ให้เงินช่วยเหลือกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริง ๆ 4.5 ล้านคน

 (2) ปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน และ

 (3) ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือ SMEs

และท่านก็ยอมรับว่าวิธีเช่นนี้อาจไม่ทันใจนักการเมือง

แต่ท่านพูดในฐานะนักวิชาการ ที่ยึดหลักการและความถูกต้องเหมาะสมเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม

ส่วน ดร.กิตตินั้นสนับสนุนโยบายนี้อย่างเต็มที่ และเชื่อว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแน่นอน

แต่ท่านก็มองว่าควรจะทยอยแจกเงินเป็น 2-3 รอบ  เช่นรอบแรก 2,500 บาท เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หากมีผลทางบวกก็แจกอีก 2,500 บาท

และถ้าแนวโน้มดูดี ก็แจกอีก 5,000 บาท

ยกตัวอย่างว่าก่อนสงกรานต์อาจแจกก้อนแรก 2,500 บาท จากนั้นให้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจประเมินผล

หากรายงานมาว่าได้ผลดี คนจับจ่ายซื้อของกันดี คนขายของก็เข้าสู่ระบบภาษี ก็อาจให้อีกงวด 2,500 บาท               พอเข้าเดือนเมษายนก็ให้ไปอีก 5,000 บาท

ระหว่างที่แผนกำลังเดินอยู่ก็ต้องมีการบริหาร “สภาพคล่อง” หรือ cash flow เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเงินไหลเข้าระบบอย่างสม่ำเสมอตามเป้าหมาย

นั่นย่อมหมายความว่า ดร.กิตติก็มีความกังวลว่า จะหาเงินก้อนใหญ่ทีเดียว 560,000 บาทมาจากแหล่งไหนได้บ้างเหมือนกัน

ดร.กิตติพร้อมจะปกป้องนโยบายนี้อย่างเต็มเปี่ยม ในคำให้สัมภาษณ์ “ไทยโพสต์” ท่านบอกว่า "พวกที่มาวิจารณ์ว่าจะเจ๊ง ผมถามว่าจะเจ๊งได้ยังไง เพราะการทำ ต้องมีเงินเข้ามาถึงจะทำได้ หากงบยังไม่พร้อม ก็จะบอกประชาชนว่าขอให้รอก่อน ขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย แต่ให้แน่นอน ก็จะอยู่ในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2567 แต่มกราคมอาจไม่ทัน รอบแรกน่าจะอยู่ในช่วง ก.พ.หรือ มี.ค. แต่สงกรานต์ได้แน่นอน และจะได้เยอะ”

ดร.กิตติบอกด้วยว่า ผลของ "นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต" เป็นไปตามหลัก "ผลกระทบทวีคูณ" ทางเศรษฐศาสตร์

สมมุติหากจ่ายไปหนึ่งบาท จะเกิดคลื่น เหมือนโยนหินลงไปในน้ำ จะเกิดคลื่นหมุนเวียนกี่รอบที่ไม่ใช่จีดีพี เรื่องนี้อยู่ที่แต่ละคนจะมีหลักทฤษฎีในการคิดอย่างไร

 “บางคนอาจบอกว่าจะเกิด 2-3 รอบ แต่ผมว่าไม่ใช่ แต่จะเกิดถึง 6 รอบ โดยคิดจากการบริโภคหน่วยสุดท้าย (Marginal Propensity to Consume/MPC) ที่เท่ากับหนึ่งหารด้วยหนึ่งลบ เท่ากับ MPC”

เช่น มีเงินหนึ่งร้อยบาท จะใช้เงินเท่าใด ที่ประชาชนแต่ละกลุ่มจะใช้ไม่เหมือนกัน อย่างคนรวยมีเงินหนึ่งร้อยบาท จะใช้ประมาณ .40 เปอร์เซ็นต์ แต่คนจนจะใช้มากกว่าอาจประมาณ .75 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนรวยมีเม็ดเงินเยอะ จึงมีสัดส่วนของเงินที่มากกว่าที่จะนำไปใช้จ่ายได้

 “เพราะฉะนั้นถ้าคนจนเยอะ แล้วอยู่ในจุด bottom หากใส่เงินเข้าระบบไปหนึ่งบาท คนมีรายได้น้อยจะใช้เงินเกือบหมด แต่หากเป็นคนรวยจะใช้ไม่มาก แต่จะเก็บเยอะ แต่เราอยากให้เหลือน้อย เพราะอยากให้ใช้เยอะๆ”

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรึกษาเศรษฐกิจชื่อ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ออกมาคัดค้านนโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาล

และทำนายว่ารัฐบาลจะพังเพราะเรื่องนี้

ดร.ศุภวุฒิไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ยังไม่ถึงกับพยากรณ์ว่ารัฐบาลจะมีอันเป็นไปหากดำเนินนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท

แต่ก็สะกิดแรงพอที่จะทำให้เห็นว่า ถ้ารัฐบาลเศรษฐาไม่ฟัง “จิ้งจกทัก” ก็อาจจะต้องเสียใจภายหลังได้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว