เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในแอฟริกา - เพียงห้าสัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูมของไนเจอร์ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกองทหารองครักษ์ของตัวเอง
ที่กาบอง ประธานาธิบดีอาลี บองโกแห่งกาบองก็พบว่าตัวเองถูกควบคุมตัวในบ้านพักของเขาเอง
เช้าตรู่ของวันพุธที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมามีคำประกาศอย่างกะทันหันทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติให้นายบองโกเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ก่อนหน้านั้น
แต่ภายในไม่กี่นาทีต่อมาก็มีคำประกาศสุดเซอร์ไพรส์ในขณะที่ทหารกลุ่มหนึ่งประกาศยึดอำนาจจากผู้นำที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง
หลังจากการยึดอำนาจโดยทหารได้ไม่นานก็มีภาพการเฉลิมฉลองฝูงชนกลางถนนแสดงความยินดีปรีดากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เหตุรัฐประหารนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ยึดอำนาจประกาศยกเลิกคำสั่งปิดระบบอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลของนายบองโกก่อนการเลือกตั้ง
การสั่งปิดอินเตอร์เน็ทของผู้นำคนก่อนมีผลตลอดการ "นับ" คะแนนการหย่อนบัตรที่มีทีท่าว่าจะไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องนัก
ภาพที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ครั้งที่สองนี้สร้างความประหลาดใจไปทั่วประเทศ
เพราะเป็นภาพของประธานาธิบดีบองกงเป็นคลิปวีดีโอที่ส่งไปออกอากาศจากสถานที่เขาถูกคุมขัง
บองโกดูสีหน้าสับสนงุนงง และเริ่มอ่านสาส์นเป็นภาษาอังกฤษที่ร้องขอให้ “เพื่อน ๆ นอกประเทศให้ช่วย "ส่งเสียงดัง" ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
เป็นการตั้งความหวังว่าจะมีแรงกดดันจากภายนอกช่วยพลิกสถานการณ์ที่จะช่วยให้กลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหารถูกปราบปราม
เป็นเสียงเรียกร้องที่ไม่น่าจะเกิดผลตามที่เขาต้องการนัก
ตัวบองโกเองค่อนข้างจะแปลกใจกับการที่มีกลุ่มทหารกล้าโค่นเขาลงจากอำนาจ แต่คนในแอฟริกาและชาวโลกที่ติดตามข่าวสารของทวีปแห่งนี้ก็ไม่น่าจะช็อกอะไรมากนัก
ก่อนหน้านั้น การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่โค่นล้มนายบาซูมในประเทศไนเจอร์เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่า "โรคระบาดรัฐประหาร" ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางยังไม่ได้แผ่วเบาลงแต่อย่างใด
เพราะก่อนหน้านี้การยึดอำนาจโดยกลุ่มทหารในแอฟริกาก็กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ว ๆ วัน
เดือนมกราคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโรช มาร์ค คริสเตียน กาโบเร ของบูร์กินาฟาโซถูกปลดโดยทหาร
แต่ 8 เดือนต่อมาผู้นำกลุ่มทหารนี้เองก็ถูกโค่นโดยนายทหารที่มียศต่ำกว่าในวันที่ 30 กันยายน
และก่อนหน้านั้นปี 2021 ก็ได้เกิดรัฐประหารสองครั้งในแอฟริกาตะวันตก
ในเดือนพฤษภาคม พ.อ. อัสซิมี โกอิตา ซึ่งเคยเป็นผู้บงการการยึดอำนาจทางทหารในประเทศมาลีก่อนหน้านี้ก็ก่อเหตุยึดอำนาจรอบที่สองเพื่อเพื่อยืนยันการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของตนอีกครั้ง
จากนั้นในเดือนกันยายน กองกำลังพิเศษของกินีได้บุกเข้าไปในพระราชวัง Sékoutouréyah ในเมืองโกนากรีเพื่อควบคุมตัวประธานาธิบดี Alpha Condé
และต้องไม่ลืมเหตุทำนองเดียวกันที่ประเทศแชด
หลังจากการเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2021 ในการสู้รบกับผู้นำกระดูกเหล็ก ไอดริส เดบี อิตโนอย่างยืดเยื้อ กลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า “สภาทหาร” ก็ประกาศเข้ากุมอำนาจ
เพื่อสถาปนาลูกชายของตนเองให้สืบทอดตำแหน่งต่อไป
เป็นการกระทำเพื่อให้อำนาจของตระกูลนี้ยังบริหารประเทศต่อไปโดยไม่มีกลุ่มอื่นใดมาท้าทาย
คำถามที่น่าสนใจคือเกิดอะไรขึ้นในโลกตะวันตกและแอฟริกากลาง - และโดยเฉพาะประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส?
เมื่อหกปีก่อน การลี้ภัยของยาห์ยา จัมเมห์ ผู้ปกครองแกมเบียหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งทำให้ทุกประเทศในแอฟริกาตะวันตกอยู่ภายใต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญหลายพรรค
ในใจกลางทวีป ระบอบเผด็จการในบางประเทศยังกุมอำนาจอยู่ แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างว่ายุคแห่ง “ทหารครองเมือง”น่าจะผ่านไปนานแล้ว
แต่แล้วความหวังเช่นนั้นก็สิ้นสลาย
เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกิดรัฐประหาร 7 ครั้งใน 5 ประเทศ
อีกทั้งในประเทศชาด กลุ่มติดอาวุธที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็เข้าสู่อำนาจอีกครั้ง
มีเหตุผลอันใดหรือที่เรื่องอย่างนี้ยังเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา?
ช่วงหลังนี้มีปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้ถืออาวุธในหลายประเทศบนทวีปแห่งนี้รู้สึกว่าสามารถเข้ายึดอำนาจโดยไม่ต้องรับโทษ และบ่อยครั้งก็ยังได้รับการสนับสนุนจากประชากรในเมืองจำนวนมากด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่อึดอัดคับข้องใจกับคุณภาพของนักการเมืองที่เสื่อมทรุดลงตลอด
นักวิเคราะห์ที่ติดตามการเมืองใกล้ชิดของประเทศในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางบอกว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เบื่อหน่ายและไม่แยแสกับชนชั้นการเมืองแบบเดิมๆ มากขึ้นทุกที
แม้แต่กับนักการเมืองที่ได้รับเลือกให้เข้ารับตำแหน่งโดยชอบด้วยกฎหมายก็ยังถูกมองว่า
อาการอย่างนี้ย่อมต้องมีสาเหตุเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน
ความท้อแท้ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น คนตกงานจำนวนมาก
เป็นปัญหาทั้งสำหรับทั้งคนจบมหาวิทยาลัยและผู้ที่ได้รับการศึกษาน้อย
สมทบด้วยปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ
อีกทั้งยังมีการใช้อภิสิทธิ์ต่าง ๆ ในหมู่ชนชั้นสูง
และยังมีความไม่พอใจต่ออิทธิพลที่ยังคงมีอยู่ของอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในหลายประเทศ
และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือความผิดหวังอย่างหนักต่อการที่ผู้ปกครองพลเรือนจำนวนมากที่จงใจบิดเบือนกระบวนการเลือกตั้งหรือการปกครองตามรัฐธรรมนูญเพื่อยืดเวลาการครองอำนาจของตน
และยกเลิกมาตรการการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
“วิกฤตรัฐธรรมนูญ” ก็กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การเมืองถอยหลังลงคลองกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ของรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งแบบมีเบื้องหลังตุกติก
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้นำมาซึ่งการเซาะกร่อนอำนาจทางศีลธรรมขององค์กรต่างๆ เช่น สหภาพแอฟริกา หรือประชาคมเศรษฐกิจของรัฐแอฟริกาตะวันตก (Ecowas)
ที่มักถูกขนานนามว่าเป็น “สโมสรของประธานาธิบดีผู้ดำรงตำแหน่ง” เพื่อพยายามบังคับผู้นำรัฐประหารให้ฟื้นฟูการปกครองของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
กลุ่มภูมิภาคแอฟริกากลางซึ่งมีกาบองอยู่ไม่มีเจตนาจริงจังในการสร้างหรือรักษามาตรฐานการกำกับดูแลทั่วทั้งรัฐสมาชิก
แต่ในขณะที่ปัจจัยทั้งหมดนี้สร้างบรรยากาศที่ทหารรู้สึกกล้ามากขึ้นในการยึดอำนาจโดยอ้างว่าเป็น "การเริ่มต้นใหม่" การทำรัฐประหารแต่ละครั้งยังได้รับแรงผลักดันจากแรงจูงใจเฉพาะเจาะจงในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นที่แคบ และการยึดครองในกาบองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
แต่ในขณะที่ปัจจัยทั้งหมดนี้สร้างบรรยากาศที่ทหารรู้สึกกล้ามากขึ้นในการยึดอำนาจ โดยอ้างว่าเป็น "การเริ่มต้นใหม่"
แต่ท้ายที่สุดก็มีคำถามใหญ่ว่า “จะต้องเริ่มต้นใหม่กี่ครั้งจึงจะกลับไปมาสู่ระบอบที่ชาวบ้านมีสิทธิ์มีเสียงจริง ๆ”?
วันนี้ยังไม่มีคำตอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power
พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า
‘อำนาจอ่อน’ แบบไหนที่จะสร้างพลังประเทศไทยในเวทีสากล?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่เพิ่งตั้งโดยมีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน
OFOS : หนึ่งครอบครัว หนึ่ง soft power คือความท้าทายของรัฐบาล
รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศตั้งคณะกรรมการ soft power แห่งชาติชุดใหม่ที่มีโครงสร้างและสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่จะสามารถผลักดันให้เคลื่อนทัพได้ไม่น้อย...หากสามารถดึงเอาคนเก่งคนมีพรสวรรค์เข้ามาร่วมได้อย่างจริงจัง
‘เศรษฐา’ ประกาศเรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ ที่สหประชาชาติ: รัฐบาลเอาจริงเพียงใด?
หนึ่งในประเด็นหลักของการนำเสนอสหประชาชาติโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน คือสิ่งที่เรียกว่า “การเงินสีเขียว” หรือ Green Finance ซึ่งไม่ค่อยจะได้กล่าวถึงในประเทศมากนัก
ปานปรีย์: การทูตไทย ‘ต้องไม่เงียบเกินไป’
นโยบายต่างประเทศภายใต้รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสินจะไปทิศทางไหนอยู่ที่แนวคิดของรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร
ตรวจสุขภาพกระเป๋าตังค์ ของรัฐบาล ‘เศรษฐา 1’
เมื่อรัฐบาลมีนโยบายต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบ “ปั๊มหัวใจ” ไม่ใช่เพียงแค่ “หยอดน้ำข้าวต้ม” คำถามใหญ่ก็คือว่าเรามีเงินในกระเป๋ามากน้อยเพียงใด