พอรัฐบาลตัดสินใจเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายอีก 1 แสนล้านบาท ก็ไม่มีใครแปลกใจ
เพราะดูจากโครงการ “ประชานิยม” มากมายของพรรคเพื่อไทย (ยังไม่นับของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ) ร่างงบประมาณรายจ่ายเดิมที่รัฐบาลก่อนเตรียมเอาไว้อย่างไรเสียก็ไม่พอ
ปัญหาที่ตามมาจากการต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่าย คือการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และนั่นหมายถึงการที่ต้องปรับเพดานด้านอื่นๆ ตามมาด้วยหรือไม่
เสียงคัดค้านจากฝ่ายค้านก็ดังขึ้นมาฉับพลัน
เพราะเห็นตัวเลขของรัฐบาลที่เคาะเพิ่มกรอบวงเงินงบปี 67 เป็น 3.48 แสนล้านบาท จากเดิม 3.35 ล้านบาท ดัน "ขาดดุลงบฯ" เพิ่มอีก 1 แสนล้าน เป็น 6.93 แสนล้าน
นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปกระทรวงการคลังวันแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังยืนยันว่านโยบายแจก "เงินดิจิทัล" คนละ 1 หมื่นบาทนั้นไม่ทำให้ต้องกู้เงินเพิ่ม
แต่ก็ยังไม่บอกรายละเอียดว่าจะเอาเงินมาจากไหน
คุณเศรษฐาขอเวลา 1 เดือนในการที่จะชี้แจงว่าแหล่งเงินมาจากไหน
อาจตีความได้ว่า ที่ยังไม่แถลงวันนี้ก็เพราะยังพูดจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ลงตัว
ยังพยายามให้ฝ่ายต่างๆ บอกมาว่าจะตัดงบประมาณส่วนของตัวเองได้มากที่สุดเท่าไหร่
เพื่อในท้ายที่สุดจะได้ยืนยันว่า “ไม่กู้ ไม่ขึ้นภาษี”
แต่ถ้าลงท้ายต้องใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งช่วยออกเงินไปก่อน แล้วให้รัฐบาลจัดสรรชดเชยกลับไปภายหลัง ก็อาจจะต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อดันเพดานเงินจำนวนนี้ให้สูงเกิน 32% ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
อาจจะต้องยกเพดานให้สูงขึ้นไปถึง 45-50%
ซึ่งก็คือการสร้างหนี้ในรูปแบบหนึ่ง
เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่มีต้นทุน
คุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณี ครม.นัดแรกของรัฐบาลเศรษฐา ที่ได้ปรับเงินเพิ่มในปีงบประมาณ 2567 เพื่อชดเชยขาดดุลอีก 1 แสนล้านบาท ทำให้ประมาณการหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 64% ของ GDP
แกนนำฝ่ายค้านบอกว่า คุณเศรษฐาเพิ่งให้สัญญาผ่านการกล่าวปิดการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 12 กันยายน ว่ารัฐบาลทราบดีและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารงบประมาณสำหรับทุกนโยบายอย่างมีความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 63% ให้สูงขึ้นไปอีกโดยไม่มีเหตุอันควร
แต่มติ ครม.นัดแรกก็เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) เพื่อนำไปประกอบการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567
โดยในการปรับปรุงแผนการคลังใหม่นี้ พบว่ากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิมเมื่อต้นปีอยู่ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท มากกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนมกราคม 2566 โดยประเมินไว้ที่ 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 30,000 ล้านบาท
เท่ากับว่าต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุลไป 6.93 แสนล้านบาท
ซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ 5.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท
ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 63% ของ GDP
คุณศิริกัญญาระบุต่อไปว่า การประมาณการครั้งนี้แม้หนี้สาธารณะจะไม่ถึงกรอบที่ตั้งไว้ที่ 70% แต่มีข้อสังเกตน่าสนใจหลายประการ คือ
1.งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าน่าจะขยายขึ้นมาเพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แต่ก็ยังไม่น่าพอสำหรับวงเงิน 560,000 ล้านบาท
2.ประมาณการรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 30,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลเคยบอกว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้จัดเก็บภาษีเพิ่มได้ 1 แสนล้านบาท
3.ขยายการกู้ชดเชยขาดดุลไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ในขณะที่ปีที่แล้วยังเจอกับผลกระทบโควิด จากที่จะกู้เพิ่ม 3% ของ GDP ก็เพิ่มเป็น 3.63% และจากที่จะทยอยลดลงจนเหลือ 2.79% ในปี 2570 กลับคงไว้ในระดับสูงที่ 3.36%
4.ประมาณการว่า GDP จะโตระหว่าง 3.2-3.3% ระหว่างปี 2567-2571 เฉลี่ยไม่มีทางถึง 5% ตามที่ได้เคยหาเสียง
คุณศิริกัญญาบอกว่า “เห็นได้ว่ารัฐบาลค่อนข้างมือเติบและตั้งงบเพิ่มขึ้นมาก โดยวิธีการกู้มาโปะเพิ่มถึงแสนล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 64% ในปีหน้า...”
เธอจึงเตือนนายกฯ ว่าอาจจะต้องลดการพูดถึงวินัยการคลังไปสักพักก่อน
เพราะอาจจะทำไม่ได้อย่างที่พูด
และถ้าเป็นแบบนี้ เป้าหมายที่เพื่อไทยเคยตั้งว่าจะทำงบประมาณสมดุลใน 7 ปีข้างหน้า ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง
ก่อนหน้าจะมีการประกาศปรับงบรายจ่ายเพิ่มนั้น นายกฯ เศรษฐาได้เป็นประธานประชุมพิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบฯ 2567 ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
คุณเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ออกมาแถลงว่า ที่ประชุม 4 หน่วยงานมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 เป็น 3.48 แสนล้านบาท จากเดิมที่ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 ไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน ที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา
กรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 1.3 แสนล้านบาทนี้ มาจากประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท
ซึ่งจะนำไปจ่ายเป็นเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ส่วนอีก 1 แสนล้านบาท จะมาจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล
ส่งผลให้หลังจากทบทวนตัวเลขแล้ว ในปีงบ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ 6.93 แสนล้านบาท ขณะที่ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2.787 ล้านล้านบาท
“งบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง” นายเฉลิมพลกล่าว
จากนี้จะให้ทุกกระทรวงจัดทำคำของบประมาณมายังสำนักงบประมาณในวันที่ 6 ต.ค.นี้
จากนั้นสำนักงบประมาณจะใช้เวลาพิจารณา 35 วัน ก่อนเสนอให้ ครม.และที่ประชุมสภาฯ พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
คาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปีงบ 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ในวันที่ 17 เม.ย. 2567
ซึ่งแปลว่ากว่าจะได้ใช้งบประมาณปีใหม่ก็จะตกปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม
ช้ากว่าปีปกติไป 8 เดือน...และจะต้องเร่งทำงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ 2568 ทันทีเลยเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้า ยังต้องลุ้นการแจกเงินหมื่น!
ขณะที่เรารอว่ามาตรการ “ปั๊มหัวใจ” ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน digital wallet ของรัฐบาลเศรษฐานั้น การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจากแบงก์ชาติก็ส่งสัญญาณอะไรหลายอย่าง
เริ่มพรุ่งนี้: มาตรการ CBAM ที่กระทบส่งออกไป EU
เส้นตายสำหรับการเริ่มต้นมาตรการของยุโรปอันเกี่ยวกับมาตรฐาน “โลกร้อน” ที่จะกระทบผู้ส่งออกไทยใกล้เข้ามาแล้ว
พักหนี้เกษตรกรรอบนี้จะได้ผล ดีกว่า 13 ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการ “พักหนี้เกษตรกร” 3 ปีทั้งต้นทั้งดอกแล้ว
ไฉนจาก ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ วันนี้ กลายเป็น ‘ผู้ว่าซีอีโอ’?
หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางคือ “ผู้ว่าซีอีโอ”
Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power
พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า
‘อำนาจอ่อน’ แบบไหนที่จะสร้างพลังประเทศไทยในเวทีสากล?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่เพิ่งตั้งโดยมีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน