ปานปรีย์: การทูตไทย ‘ต้องไม่เงียบเกินไป’

นโยบายต่างประเทศภายใต้รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสินจะไปทิศทางไหนอยู่ที่แนวคิดของรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร

ซึ่งมีคุณจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ

คุณจักรพงษ์เคยดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ

เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย

ล่าสุดเป็นนายทะเบียนของพรรคเพื่อไทย

ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงนี้คือ นักการทูตอาวุโสที่เคยเป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศก่อนเกษียณคือคุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

นอกนั้นก็มีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยต่างประเทศที่เป็นนักการทูตเก่าเช่นกันคือคุณรัศม์ ชาลีจันทร์

รัศม์ ชาลีจันทร์ หรือ “ทูตรัศม์” อดีตเอกอัครราชทูตในหลายประเทศรวมทั้งโมซัมบิกและคาซัคสถาน

หลายคนรู้จักทูตรัศม์ในฐานะผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador ที่บอกเล่าประสบการณ์ชีวิต การทำงาน ประสบการณ์การท่องเที่ยวในต่างแดน

บ่อยครั้งก็โพสต์แสดงทัศนะที่เผ็ดร้อนทางการเมืองทั้งเรื่องในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ

ดังนั้น จะเห็นว่าทีมงานของคุณปานปรีย์มีมืออาชีพด้านการทูตพอสมควร

อีกทั้งยังน่าจะทำให้ทีมงานในกระทรวงต่างประเทศเองจะมีความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอและดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษะที่เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม

ใครที่ติดตามคุณสีหศักดิ์ก่อนหน้านี้จะได้รับทราบถึงความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลก่อนว่ามีสภาพ “ตั้งรับ” มากกว่า “เชิงรุก”

คุณสีหศักดิ์เคยบอกว่าในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยเรา “ตกจากจอเรดาร์ของการเมืองระหว่างประเทศ” เพราะนโยบายทีไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตรผันผวนร้อนแรงอย่างยิ่ง

จึงน่าเชื่อได้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศปานปรีย์จะได้รับข้อเสนอและแนวทางการกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศที่ปรับเข้ากับยุคสมัยได้ทันการมากขึ้น

โดยเฉพาะนโยบายต่อเมียนมา

ในวันที่พบปะกับสื่อมวลชนครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน คุณปานปรีย์เน้นคำว่า public diplomacy หรือ “การทูตสาธารณะ”

อันหมายถึงการที่การทูตจะต้องเข้าถึงประชาชน ไม่ใช่เรื่องระดับชาติหรือนานาชาติเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่กลับจากการติดตามนายกฯเศรษฐาไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ คุณปานปรีย์จะไปเยือนชายแดนที่จังหวัดปราจีนบุรีติดกับกัมพูชา

เพื่อไปพบปะพูดจากับชาวบ้านและผู้อยู่อาศัยในบริเวณชายแดน จะได้ข้อมูลและแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้ในการวางนโยบายกับเพื่อนบ้านต่อไป

คุณปานปรีย์บอกว่าเรื่องพม่านั้นไทยจะต้องกลับไปสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาเซียนเพื่อผลักดันให้ผู้นำทหารพม่าต้องทำตามฉันทามติ 5 ข้อที่อาเซียนได้ตกลงไว้กับรัฐบาลทหารอาเซียน แต่ถึงวันนี้ยังไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ก็จะยังคงไว้ซึ่งช่องทางของการสื่อสารกับรัฐบาลพม่า

แต่ก็ไม่ลืมที่จะเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี (ซึ่งมีข่าวล่าสุดของป่วย แต่ทางการพม่าไม่ยอมให้นายแพทย์จากข้างนอกมาดูแลรักษา)

และพยายามใช้ความเป็นเพื่อนบ้านในการผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อหาทางยุติความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันก็จะเน้นหลักการมนุษยธรรมและการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อให้มาร่วมในการแก้ปัญหาของพม่า

คุณปานปรีย์คงจะได้ยินได้ฟังข้อเสนอจากคนในกระทรวงต่างประเทศเองว่าผลจากการดำเนินนโยบายต่อพม่าภายใต้รัฐบาลก่อนนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

เพราะยุคสมัยที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัยเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศนั้นมีการเน้นย้ำใช้ quiet diplomacy หรือ “การทูตเงียบงัน”

โดยอ้างว่าไม่ต้องการจะแสดงความคิดเห็นหรือให้ข่าวสารเกี่ยวกับการประสานกับช่องทางต่าง ๆ ในพม่าโดยหวังว่าจะไม่เป็นการกดดันกองทัพพม่ามากเกินไป

คุณดอนอ้างเสมอว่าการใช้การทูตแบบนี้ไม่เป็นการผลักไสให้รัฐบาลทหารพม่ารู้สึกถูกโดดเดี่ยว และเชื่อว่าไทยเป็นเพื่อนที่พร้อมจะรับฟังเขามากกว่าประเทศอาเซียนอื่น ๆ

แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้มองว่าการที่รัฐบาลไทยก่อนถูกมองว่ามีความสนิทสนมกับกองทัพเมียนมาแต่ไม่ได้แสดงผลของความคืบหน้าใด ๆ ในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อนั้นเท่ากับว่าไทยให้ท้ายรัฐบาลทหารพม่า

โดยไม่เชื่อมต่อกับฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเห็นต่างจากฝ่ายกองทัพพม่า

อีกทั้งยังทำให้เกิดความแตกแยกในมวลหมู่สมาชิกอาเซียนเอง

แทนที่ไทยจะเล่นบทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสมาชิกอาเซียนที่มีความเห็นและท่าทีต่อพม่าที่แตกต่าง ไทยกลับถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจรัฐบาลทหารพม่า และมีจุดยืนที่แปลกแยกไปจากอาเซียนบางประเทศเช่นอินโดฯ, มาเลเซีย, สิงคโปร์และฟิลิปปินส์

ส่วนสมาชิกอาเซียนอื่นเช่น สปป. ลาว, เวียดนามและกัมพูชานั้นถูกมองว่ามีความเห็นอกเห็นใจรัฐบาลทหารพม่ามากกว่า

ไทยถูกมองว่าอยู่ข้างเดียวกับกลุ่มหลัง

ทำให้บทบาทของเราในฐานะเป็น “ผู้ประสานรอยร้าว” หดหายไปอย่างน่าเสียดาย

นี่น่าจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับรัฐมนตรีปานปรีย์ที่บอกว่าจะดำเนินนโยบายที่ “ไม่เงียบเกินไป”

คุณปานปรีย์ใช้คำว่าต้องไม่ใช่ too-quiet diplomacy

อันหมายถึงการทูตที่ต้องส่งเสียงในจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อตอกย้ำถึงบทบาทของไทยที่หนักแน่นและมุ่งมั่น

อันจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะนำพาไทยกลับไปมีบทบาทที่คึกคักในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่เป็นที่รังเกียจของสังคมโลกเหมือนที่เคยมองว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือเป็นการต่อท่อจากคณะรัฐประหารเดิม

คุณปานปรีย์จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้นักการทูตมืออาชีพที่กระทรวงต่างประเทศมีอยู่ไม่น้อย เสริมทัพด้วยอดีตนักการทูตที่มาเป็นทีมการเมืองเป็นหัวข้อที่กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาลนี้เช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว