หนึ่งในประเด็นหลักของการนำเสนอสหประชาชาติโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน คือสิ่งที่เรียกว่า “การเงินสีเขียว” หรือ Green Finance ซึ่งไม่ค่อยจะได้กล่าวถึงในประเทศมากนัก
แต่ในเวทีระหว่างประเทศเรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นหัวข้อสำคัญ
เพราะทั้งโลกกำลังให้ทุกประเทศแสดงความมุ่งมั่นจริงใจในการช่วยจัดการปัญหาโลกร้อน
และทุกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจจะต้องโยงไปถึง “ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ทุกด้านของนโยบายระดับชาติของทุกประเทศจะต้องมีความเป็น “สีเขียว”
แต่ก่อนอาจจะมองไปเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องอื่นๆ
แต่วันนี้หากประเทศไหนไม่ทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง
เช่น สินค้าที่จะส่งออกจะต้องพิสูจน์ว่ามาจากแหล่งที่ไม่ส่งก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
หากสินค้าที่ส่งออกมีกระบวนการผลิตที่สร้างคาร์บอนมากเท่าใด ก็จะต้องโดนภาษีมากเท่านั้น
ดังนั้น แม้กระทั่งการระดมทุนก็จะต้องเป็นทุนที่ส่งเสริมการผลิตและการซื้อขายที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน
จึงเป็นที่มาของคำว่า “การเงินสีเขียว”
คุณเศรษฐา ในถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ประกาศว่า ไทยมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
พร้อมขับเคลื่อนการเงินสีเขียว (Green Finance) สร้างความยั่งยืนร่วมกัน
นายกฯ ไทยบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน
คุณเศรษฐาบอกว่าช่วงเวลาผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยเราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที
ไทยขอชื่นชมวาระเร่งด่วนของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ได้สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ใกล้เคียงกับปี ค.ศ.2050 มากที่สุด พร้อมนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ.2040
และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี ค.ศ.2025
เป็นปีที่ไทยมีพันธกรณีจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด
นายกฯ ไทยบอกว่าไทยพยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ
โดยคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ
ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ
ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญ และมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050
นั่นหมายความว่า ไทยได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030
โดยมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้
รัฐบาลไทยใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่
ที่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
ไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ
ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย
คุณเศรษฐาแจ้งประชาคมโลกว่ารัฐบาลไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff)
สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop)
และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด
โดยประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037
และตอกย้ำว่า ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน
ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้
ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG
นายกฯ ไทยบอกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ล่าสุดได้จัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) ขึ้น
เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน
ก่อนจบ นายกฯ ไทยเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเร่งดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุเป้าหมายและเอาชนะวิกฤตการณ์นี้
วงการการเงินในไทยก็กำลังตื่นตัวเรื่องการออกพันธบัตรและระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ที่เน้นเรื่องธุรกิจสีเขียว
เป็นแนวโน้มใหม่ที่เรามองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด เพราะหากเราไม่เอาจริงเอาจัง และไม่มียุทธศาสตร์ที่แน่ชัด เราก็จะตกรถไฟขบวนใหญ่
คราวนี้ ตกแล้วตกเลย
คำถามคือ นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศนอกจากจะอ่านรายงานจากที่ข้าราชการเขียนให้แล้ว ตัวเองได้ตั้งใจที่จะทำความเข้าใจและลงมือทำอย่างจริงจังหรือไม่
นี่คือช่องว่างระหว่างการ “หาเสียง” กับ “การทำจริง” อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นหนักสำหรับอนาคตของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว