พักหนี้เกษตรกรรอบนี้จะได้ผล ดีกว่า 13 ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการ “พักหนี้เกษตรกร” 3 ปีทั้งต้นทั้งดอกแล้ว

แม้จะมีคำเตือนจากนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ทักท้วงว่า 13 ครั้งที่พักหนี้เกษตรกรโดยรัฐบาลที่ผ่านมานั้นไม่ได้ผลตามประสงค์แต่อย่างใด

มิหน้ำซ้ำ 70% ของเกษตรกรที่เข้าโครงการกลับมีหนี้เพิ่มขึ้นอีก

และ “หนี้เสีย” หรือ NPLs ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างไร

เพื่อความเป็นธรรม ลองดูรายละเอียดของมติ ครม. ชุดนี้ว่าเป็นอย่างไร

ตามแนวทางนี้จะพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ  ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติ และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) เป็นระยะเวลา 3 ปี

พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ มีรายละเอียดคือ

1.มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล

โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท

และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) จะได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ ‘ระยะแรก’ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567

ทั้งนี้ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567

ส่วนลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs นั้น จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

2.การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ

โดย ธ.ก.ส. จะร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกร ในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ

โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงิน เป็นต้น

คุณจุลพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการพักหนี้เกษตรกร ว่า ในส่วนของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ปกตินั้น แน่นอนว่ารัฐบาลจะรับภาระและช่วยเหลือในเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว

แต่ในระหว่างการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนั้น หากเกษตรกรมีความประสงค์ และมีกำลังเพียงพอในการชำระหนี้สินในขณะนั้น เงินที่เกษตรกรนำไปชำระหนี้ดังกล่าว อย่างน้อย ‘ครึ่งหนึ่ง’ จะถูกนำไปตัดหนี้เงินต้น

สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPL นั้น ในระหว่างที่รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยนั้น หากลูกหนี้สามารถแก้ไขตัวเองจนกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ รัฐบาลจะชดเชยหนี้สินในส่วนดอกเบี้ยให้เป็นเวลา 3 เดือน

แต่หากกลับมาเป็นหนี้ปกติไม่ได้ รัฐบาลก็จะไม่ชดเชยในส่วนนี้ให้

นอกจากนี้ กรณีเกษตรกรที่มีสถานะเป็น NPL และสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ นั้น หากภายในระยะเวลา 3 ปี เกษตรกรสามารถชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ได้ เงินที่ชำระหนี้จะนำไปตัดเงินต้นทั้ง 100% โดยไม่ตัดดอก

คุณจุลพันธ์ ระบุว่า ภายใต้มาตรการพักหนี้ฯนี้ ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ในปีที่ 1 ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และตลอดระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ 3 ปี

คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่มีการใช้จ่ายจริง

“ครั้งนี้ (มาตรการพักชำระหนี้) จะแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา เพราะ 13 ครั้งที่ผ่านมา การพักหนี้เกษตรกร เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เมื่อพ้นระยะเวลาโครงการแล้ว เกือบทุกครั้งที่ภาครัฐได้ไปสำรวจตรวจสอบดู พบว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ในสถานที่ดีกว่าเดิม หรือหลายครั้งแย่กว่าเดิมในเรื่องของมูลหนี้ และสถานะเศรษฐกิจ

“แต่ครั้งนี้ที่เราช่วยเหลือ เราตั้งเป้าว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปี เขาจะได้รับการพักภาระ และเมื่อกลับมาแล้ว ต้องกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง...”

ตรงนี้แหละที่ไม่มีความแน่นอนว่าเกษตรกรจะ “กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิม” ได้อย่างไร

เพราะมาตรการเสริมที่อยู่ในโครงการนี้ยังไม่มีอะไรรับรองว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพของการ “พักหนี้” ได้

แม้ว่าจะเป็นการทำแบบ “สมัครใจ” ไม่ได้เป็นการ “เหวี่ยงแห” ให้ทุกคน แต่ก็คาดได้ว่าส่วนใหญ่จะขอเข้าโครงการเพราะอย่างน้อยก็มีจังหวะ “หายใจ” ขึ้นมาบ้าง

อนาคตเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครรับรองได้

เพราะท้ายที่สุดเรื่องของ “ผลผลิตต่อไร่” และการหาตลาดที่ยั่งยืน ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและแท้จริง

คุณจุลพันธ์เสริมว่าสิ่งที่เราทำมีกรอบประมาณทั้งสิ้นที่เราไปช่วยเหลือ คือ 1.1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยจะเข้าไปช่วยในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยแทนพี่น้องเกษตรกร

ซึ่งการพักหนี้เกษตรกรในครั้งนี้ โดยเป็นการพักชำระต้นและการพักชำระดอก

ซึ่งการชำระดอก รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่กำหนด

ส่วนหนี้เกษตรกรที่เข้าโครงการได้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นหนี้ปกติ และกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL)

โดยกลุ่มที่เป็นหนี้ปกติ จะคัดกลุ่มที่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปแบบอื่น หรือกลุ่ม PSA ออกไป เพื่อไม่ให้การช่วยเหลือมีความซ้ำซ้อน

แต่หากกลุ่มนี้พ้นระยะเวลาการช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการอื่นแล้ว ในปีถัดๆไป หรือในระยะที่ 2-3 จากทั้งหมด 3 ระยะ อาจจะมีสิทธิ์เข้ามาได้ ซึ่งทุกคนที่เข้าสู่โครงการจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง และเดินมาที่ ธ.ก.ส. คือ ต้องเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ

ทางการอ้างว่ากลไกนี้จะแตกต่างจากการพักหนี้ฯในอดีต

รัฐมนตรีช่วยคลังบอกว่าการเข้าสู่โครงการฯโดยสมัครใจจะเกิดประโยชน์ เพราะ ธ.ก.ส. มีเครือข่ายและองค์ความรู้ในการช่วยเหลือเกษตรกร

“เราไม่อยากเห็นปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือ พักหนี้ฯ 3 ปีแล้วไม่เคยเจอหน้ากันเลยกับ ธ.ก.ส. กลับมาอีกที สภาพหนักกว่าเดิม

“เราจึงอยากจะให้ (เกษตรกร) มาทำงานร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการปรับสภาพ ปรับภาระ ปรับโครงสร้างหนี้สินของตัวเอง เพื่อจะยืนยันว่าได้พี่น้องเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือจนกลับมาได้อีกครั้ง” คุณจุลพันธ์ ระบุ

ขณะเดียวกันในเร็วๆนี้ ธ.ก.ส. จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้นโยบาย ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาล โดยหนึ่งในโครงการฯที่ ธ.ก.ส. จะออกมานั้น เป็นโครงการที่จะเข้าช่วยเหลือให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพได้

โดย ธ.ก.ส.จะให้เงินกู้เพิ่มเติมรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้

คุณฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. อธิบายว่าภายใต้มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าว มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ 2.69 ล้านราย

ในจำนวนนี้มี 6 แสนรายที่เป็นลูกหนี้ NPL และมียอดเงินต้น 3.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 70-80% ของลูกหนี้ NPL ทั้งหมดของ ธ.ก.ส.ที่มีประมาณ 8.6 แสนราย

ขณะที่ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มี NPL คงค้างอยู่ที่ 1.29 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ของสินเชื่อรวม

“ข้อดีของมาตรการฯนี้เมื่อเทียบกับ 13 มาตรการฯในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา คือ ถ้าลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความสามารถนำเงินมาจ่าย เงินที่จ่ายเข้ามา ธ.ก.ส.จะตัดต้นให้ทั้งหมด นั่นหมายความว่าพอพ้นจากช่วงพักหนี้ฯ มูลหนี้จะลดลงและเกษตรกรจะฟื้นตัวเร็วขึ้น” คุณฉัตรชัยกล่าว

สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าโครงการนี้ดีกว่าที่ผ่านมาหรือไม่อยู่ที่จะแก้ตรงจุดของปัญหาของเกษตรกรที่ฝังลึกมายาวนานหรือไม่

เพราะท้ายที่สุดก็แก้ที่ต้นตอว่า “ทำไมเกษตรกรไทยจึงเป็นหนี้กันมากมายและยาวนานขนาดนี้”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว