สี จิ้นผิงกำลังจะสร้าง “ระเบียบโลกทางเลือกใหม่” ที่มีจีนเป็นแกน...เพื่อประกบกับ “ระเบียบโลกขั้วเดียว” ที่มีสหรัฐฯเป็นพระเอก
ผู้นำจีนเสนอ Global Development Initiative (GDI) หรือ “ความริเริ่มพัฒนาโลก”
ซึ่งเป็นฐานรากของ “พิมพ์เขียว” ของจีนเพื่อสร้างพันธมิตรกลุ่มใหม่ที่มุ่งท้าทายโลกที่นำโดยตะวันตกมาช้านาน
ตัว GDI เองมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมการพัฒนา, ลดความยากจนและส่งเสริมสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา
แต่อีกสองแผนที่ตามมาสะท้อนถึง “ยุทธศาสตร์องค์รวม” ที่กระชับก้าวย่างอันสำคัญของปักกิ่ง
นั่นคือ Global Security Initiative หรือ “ความริเร่มด้านความมั่นคงโลก”
และ Global Civilization Initiative หรือ “ความริเริ่มด้านอารยธรรมโลก”
เป็นความพยายามอย่างชัดแจ้งของจีนที่จะระดมแรงสนับสนุนจาก “โลกขั้วใต้” (Global South) เพื่อขยายอิทธิพลและบทบาทของจีนในเวทีระหว่างประเทศ
และขยายภาพของจีนในสหประชาชาติไปพร้อม ๆ กันด้วย
เป็นที่ชัดเจนว่านี่คือความพยายามของปักกิ่งที่จะปรับปรุง “กฎกติกามารยาท” ระดับโลกที่เคยถูกกำหนดโดยโลกตะวันตกมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
เท่ากับเป็นการประกาศ “จองพื้นที่” ของตนในกิจการระหว่างประเทศ
เพราะจีนมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความสำคัฐของจีนกับโลกตะวันตกจะยังตกอยู่ในภาวะของความผันผวนปั่นป่วนไปอีกยาวนาน
ดังนั้น จีนจึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายใหม่ของตนที่มุ่งเชิญชวนเอาประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มตะวันตก
และเป็นประเทศที่มีความสงสัยคลางแคลงในความจริงใจของสหรัฐฯและยุโรป
หัวใจของพิมพ์เขียวของจีนครั้งนี้คือกับสร้างความเป็นผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายมาเป็นพวก
โดยมีเป้าหมายหลักอย่างน้อยสองประการ
นั่นคือกลุ่มประเทศที่ถึงมาเป็นมิตรนั้นจะเกิดช่องทางการค้าและการลงทุนให้กับจีนที่ต้องการเห็นการขยายเศรษฐกิจของตนที่จะต้องอาศัยตลาดต่างประเทศ
โดยเฉพาะหากกลัวว่าตะวันตกจะพยายามกดดันจีนด้วยการปิดตลาดของตน
การมีตลาดสำรองในโลกที่สามจึงสอดคล้องกับเป้าหมายระยะกบางและระยะยาวของจีนอย่างชัดเจน
เป้าหมายที่สองคือเมื่อทุกประเทศสมาชิกมีเสียงหนึ่งเสียงเหมือนกันในสหประชาชาติ การได้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมาเป็นพวกก็ย่อมจะเป็นการเสริมสร้างอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศเมื่อต้องมีการลงคะแนนเสียง
นั่นคือการขยายพลังอำนาจและค่านิยมของจีนไปยังอีกส่วนหนึ่งของโลกที่รอคอยการนำของจีนเพื่อทดแทนอิทธิพลตะวันตก
นั่นเท่ากับว่าจีนกำลังกระโดดเข้าไปเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดของโลก
ในบรรดา 152 ประเทศที่ถือว่าเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” ในสหประชาชาตินั้นมีดัชนีรวมกันเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มตะวันตก
ไม่ว่าจะเป็นขนาดประชากร
อัตราโตของประชาการ
หรืออัตราเติบโตด้านผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
ถือเป็นครั้งแรกที่จีนส่งออกไปตลาดของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นส่วนของจีนในโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) รวมกันแล้วมากกว่าที่ส่งไปสหรัฐฯ, สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเสียอีก
สี จิ้นผิงเคยประกาศในเวทีระหว่างประเทศในหลายโอกาสอย่างชัดแจ้งมาตลอดว่า
“ประเทศจีนจะเป็นสมาชิกของครอบครัวประเทศกำลังพัฒนาเสมอไป เราจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการเป็นกระบอกเสียงของประเทศกำลังพัฒนาในระบบธรรมาภิบาลของโลก...”
พูดง่าย ๆ คือจีนต้องการจะส่งเสียงแทนประเทศ “โลกทางใต้” (Global South) เพื่อถ่วงดุลอำนาจของโลกตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม
องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นเป้าของปฏิบัติการใหญ่ของจีนในด้านนี้นอกจากสหประชาชาติแล้วก็ยังมีองค์กรการค้าโลก (WTO), G20 และอื่น ๆ
นอกเหนือไปจากที่จีนมีบทบาทคึกคักอยู่แล้วเช่น Shanghai Cooperation Organization กับ BRICS
แน่นอนว่าจีนได้เปรียบสหรัฐฯในการสร้างเครือข่ายใหม่ตรงที่ว่าวอชิงตันมีค่านิยมเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขณะที่จีนใช้นโยบาย “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ของประเทศอื่น
ในเมื่อประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยยังมีระบบการปกครองแบบรวบอำนาจและหลายรัฐบาลถูกตะวันกตกคว่ำบาตร เมื่อจีนยื่นมือแห่งมิตรภาพมาให้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมจึงมีความเป็นมิตรกว่ามาก
เพราะ “พูดกันรู้เรื่อง” มากกว่า
จึงเรียกได้ว่าแนวทางของสี จิ้นผิงวันนี้คือการใช้แนวทาง “พหุภาคีนิยม...ที่มีอัตลักษณ์แบบจีน” หรือที่นักวิชาการฝรั่งเรียกว่า Multilateralism with Chinese characters
ที่มีความแตกต่างไปจากโมเดล “พหุภาคีแบบตะวันตก”
จีนมุ่งจะใช้กลไกของสหประชาชาติทั้งหลาย รวมถึง 15 สำนักงานชำนัญพิเศษที่มีกิจกรรมระดับโลกในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน, โทรคมนาคม, สาธารณสุขหรือการแก้ปัญหาความยากจน
หากปักกิ่งสามารถใช้กลไกขององค์กรโลกเหล่านี้ในการขยายอิทธิพลบารมีของตนไปทั่วโลกได้ นี่คือเครื่องมืออันสำคัญที่จีนต้องการจะใช้เป็นฐานในการสร้าง “ระบบโลกทางเลือกใหม่” ที่มีจีนเป็นแกนนำ
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมในกรณีนี้คือการที่จีนก่อตั้งเวทีเสวนาสหประชาชาติในปี 2020
ปักกิ่งเรียกชื่อเวทีนี้ว่า Group of Friends of the Global Development Initiative
หรือ “กลุ่มเพื่อนของความริเริ่มการพัฒนาสากล”
ถึงวันนี้ จีนสามารถเชิญชวนประเทศต่าง ๆ มาร่วมแล้วอย่างน้อย 70 ชาติ
และได้ประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว...อีกทั้งยังได้รับความเห็นชอบและชื่นชมจากเลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres แล้วเช่นกัน
ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อของประเทศสมาชิกของกลุ่ม แต่มีข่าวว่ามีจำนวนมากที่เป็น “หุ้นส่วน” ของจีนในโครงการ BRI ซึ่งจีนได้ให้กู้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
โดยที่สถาบันการเงินของจีนหลายแห่งได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศเหล่านี้รวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 35 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา
ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรที่เป็น “เจ้าหนี้” และ “ลูกหนี้” และ “หุ้นส่วน” ในการพัฒนาประเทศ
ถือเป็นความสัมพันธ์ทับซ้อนหลายชั้นที่เสริมสร้างบารมีของจีนต่อประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้อย่างชัดเจน
การศึกษาของสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งสหรัฐฯ AidData อ้างว่าอย่างน้อย 20 ประเทศในกลุ่มนี้ได้แสดงถึงความสนิทสนม (หรือนักวิพากษ์อาจจะเรียกว่าความ “จงรักภักดี”) ต่อจีนด้วยการยกมือในสหประชาชาติไปทางเดียวกับจีนเป็นส่วนใหญ่
รายละเอียดของรายงานชิ้นนี้บอกว่าอย่างน้อย 75% ของการลงมติในสมัชชาสหประชาชาตินั้น ประเทศกลุ่มนี้โหวตไปในทิศทางเดียวกับปักกิ่ง
ในกรณีของกัมพูชา, ปากีสถาน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถานและซิมบาบเว, ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ประเทศจีน, การลงมติในองค์กรสหประชาชาติ อย่างน้อย 80% สอดคล้องกับทิศทางของจีน
นักวิจัยสำนักนี้อ้างด้วยว่ายิ่งประเทศกลุ่มนี้ลงมติไปทางเดียวกับจีนในองค์กรระหว่างประเทศมากเท่าใด จำนวนเงินกู้ที่จีนปล่อยให้ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
แต่แน่นอนว่าคงไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะปริมาณเงินกู้จากจีนเท่านั้นที่มีผลต่อแนวทางการโหวตของประเทศเหล่านี้
ปัจจัยอื่นรวมถึงความเห็นสอดคล้องด้านการเมือง, ความใกล้ชิดด้านการค้าและการลงทุน, ตลอดจนการมีความเห็นตรงกันในประเด็นอื่น ๆ ระหว่างปักกิ่งกับประเทศนั้น ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม้จะแจกเงินหมื่นปีหน้า เศรษฐกิจไทยก็โตไม่ถึง 4%
ใกล้สิ้นปีต้องส่องดูเศรษฐกิจของทั้งปีนี้กับปีหน้า...และต้องเล็งไปข้างหน้าด้วยว่ารัฐบาลเศรษฐาจะสามารถ “กู้มาแจก” ในปีหน้าได้หรือไม่
คิสซิงเจอร์: ‘นักการทูตอันปราดเปรื่อง’ หรือ‘อาชญกรสงครามผู้โหดเหี้ยม’
เฮนรี คิสซิงเจอร์ที่เพิ่งเสียชีวิตในวัย 100 ปีเมื่อวานเป็นนักการทูตและนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯที่น่าทึ่ง, น่ากลัว, และน่าสนใจที่สุดคนหนึ่ง
แถลง ‘แก้หนี้นอกระบบ’: เริ่มด้วยคำหรูจบด้วยคำถาม
ผมตั้งใจฟังคำแถลง “แก้หนี้นอกระบบ” ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มากเพราะอยากรู้จริงๆ ว่าในทางปฏิบัติทำอย่างไรจึงจะให้ “หนี้ใต้ดิน” กลายเป็น “หนี้บนดิน”
นักการทูตไทยยุคดิจิทัล ต้องสร้างใหม่อย่างเร่งรีบ
ต่อแต่นี้ไป นโยบายต่างประเทศจะต้องมองให้ครบทุกมิติของประเด็นการเมือง, เศรษฐกิจ, ความมั่นคงและสังคมที่กำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรง
ไทยจะ ‘วางตำแหน่ง’ ในเวทีโลกตรงไหน?
นโยบายการต่างประเทศไทย “ยุคใหม่” ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้เป็นอย่างไร? เมื่อวานได้นำเอาบางตอนของแนวทางวิเคราะห์สถานการณ์โลกที่ปรับเปลี่ยนไปของรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่, คุณปานปรีย์ พหิทธานุกร, มาเล่าให้ฟังแล้ว
การทูตเชิงรุกให้ไทย กลับอยู่จอเรดาร์โลก
นโยบายต่างประเทศของไทยกำลังจะเดินไปบนเส้นทางไหนอย่างไรจะมีผลต่อการทำให้ประเทศไทย “กลับสู่จอเรดาร์โลก” หรือไม่