องคมนตรี

อยู่ให้เขารัก

จากให้เขาเสียดาย

การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย นานวันเริ่มจะมีข้อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เห็นกันบ้างแล้ว

๘ ปีรัฐบาลประยุทธ์ มีส่วนคล้าย ๘ ปีรัฐบาลป๋าเปรม อยู่มาก ตรงที่เป็นรัฐบาลที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศอย่างมหาศาล

แต่ตอนอยู่มักมองไม่เห็น

ไปแล้วถึงได้เห็น

มีคนบางกลุ่มรวมทั้งนักการเมืองที่อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เคยดูแคลน ๘ ปี รัฐบาลประยุทธ์ไม่ทำอะไรเลย นอกจากกู้มาโกง

วันนี้ได้เห็นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ปลุกปล้ำกันมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ แต่คนไปตัดริบบิ้นคือ "เศรษฐา ทวีสิน" เพราะมาเสร็จเรียบร้อยให้ได้เก็บเกี่ยวกันในรัฐบาลนี้

ทั้งนักการเมือง ด้อมส้ม ด้อมแดง พากันน้ำลายเหนียว พูดไม่ออก เพราะด่าไว้เยอะ ต้องเด็ดหัวสอยนั่งร้าน ไล่เผด็จการ ๘ ปี

ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น

ครับ...พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง เป็นองคมนตรี ไปเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีปรีดา

แต่ก็มีคนบางกลุ่มถูกปั่นด้วยเฟกนิวส์จากต่างประเทศ ทำให้ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด ไม่พยายามที่จะเข้าใจว่า องคมนตรี มีหน้าที่ทำอะไร ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลเปิดเผย หาอ่านได้ทั่วไป

มีความพยายามที่จะดิสเครดิตองคมนตรี เพื่อกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เป้าหมายก็อย่างที่ทราบ

คือการล้มล้าง!

ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรี ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้

 “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ไม่ต่างไปจากถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี

แต่ที่แตกต่างคือสำนึกหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งจะพบว่าหลายรัฐบาลมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

เกิดการคอร์รัปชัน บางคนติดคุก บางคนหนี บางคนกลับมานอนชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ

แต่องคมนตรีทั้งหมด ยึดมั่นในคำถวายสัตย์ปฏิญาณเท่าชีวิต เพราะตำแหน่งองคมนตรีถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุด

หากรู้จักที่มาขององคมนตรี ก็จะเข้าใจบทบาทขององคมนตรีมากขึ้น

หนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับองคมนตรี ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๔ บางช่วงบางตอนให้รายละเอียดไว้ชัดเจน

....คำว่า “องคมนตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

 “น. ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์”

องคมนตรีมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะแรกนั้น ยังไม่ได้เรียกว่า  “องคมนตรี”

แต่จะใช้คำว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” “ปรีวีเคาน์ซิลลอร์”  “ปรีวีเคาน์ซิลเลอร์” หรือ “ที่ปฤกษาในพระองค์”

ส่วนคำว่า “องคมนตรี” เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน

ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมเสนาบดีวันที่ ๒๗  สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) และใน  “ประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็กแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลตั้งองคมนตรี” รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ปรากฏว่า มีการใช้คำว่า  “องคมนตรี” แล้ว

ตามหลักฐานที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑ วันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น ๒ ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช  ๑๒๓๖ แผ่นที่ ๑ หน้า ๒-๓ ได้ลงพิมพ์ “ประกาศที่ ๓ ว่าด้วยตั้งเกาน์ซิล แลพระราชบัญญัติ” ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า

 “…ราชการผลประโยชน์บ้านเมืองสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น แลการที่ยังรกร้างมาแต่เดิมมากนั้น ถ้าจะทรงจัดการแต่พระองค์เดียว ก็จะไม่ใคร่สำเรจไปได้ ถ้ามีผู้ที่ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การซึ่งรกร้างมาแต่เดิมก็จะได้ปลดเปลื้องไปได้ทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็คงจะบังเกิดแก่บ้านเมือง จึ่งได้ทรงจัดสันข้าทูลอองธุลีพระบาท ซึ่งมีสติปัญญาโปรดเกล้าฯ ตั้งไว้เปนที่ปฤกษาแห่งสมเดจพระเจ้าอยู่หัว...”

มีข้อที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าคณะองคมนตรีปัจจุบันจะมีรากเหง้ามาจากคณะที่ปรึกษาในพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” (THE PRIVY COUNCIL) ซึ่งทรงรับแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษอีกทอดหนึ่งแต่เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน โครงสร้างและหน้าที่ของคณะองคมนตรีประเทศไทย เปลี่ยนไปจากโครงสร้างและหน้าที่ของคณะองคมนตรีไทยแต่ดั้งเดิมและของประเทศอังกฤษโดยสิ้นเชิง

คณะองคมนตรีของไทยในปัจจุบันนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเลือก และทรงแต่งตั้งด้วยพระองค์เองทุกคน มีหน้าที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเทศอังกฤษ (ENGLAND) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (THE  UNITED KINGDOM หรือ UK) นั้น พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งองคมนตรีโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในวงราชการ วงการศาสนา หรือวงการการเมือง

เช่น ผู้พิพากษาระดับสูงสมเด็จพระสังฆราช รัฐมนตรี  เป็นต้น ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งแล้ว โดยไม่จำกัดจำนวน

ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรมีองคมนตรีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ คน โดยดำรงตำแหน่งชั่วชีวิต และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพิธีการต่างๆ

เช่น ลงนามในประกาศพระบรมราชโองการการขึ้นเสวยราชสมบัติของพระประมุขของประเทศพระองค์ใหม่ การอภิเษกสมรสของพระประมุขของประเทศ การเปิดและปิดสมัยประชุมรัฐสภา การยุบสภา เป็นต้น...

ฉะนั้น องคมนตรี คือส่วนหนึ่งของประเพณีการปกครอง ที่สืบเนื่องกันมายาวนาน ตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะองคมนตรี ในโอกาสที่เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารทำเนียบองคมนตรี ณ พระราชอุทยานสราญรมย์  วันอังคาร ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๗

"...องคมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ จึงมีหน้าที่ที่จะให้คำปรึกษา และก็นี่เป็นสิ่งที่คนเขาสงสัยว่าองคมนตรีมีอำนาจมีหน้าที่อะไร ก็สรุปว่าเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาในทุกด้านทุกอย่าง พระมหากษัตริย์จะรับทราบ จะรับรู้หรือไม่ก็อย่าน้อยใจ เพราะว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินในเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าคำปรึกษาของท่านองคมนตรีก็มีประโยชน์มาก เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากในด้านต่างๆ จึงขอให้ท่านได้คิดดีๆ แล้วก็ช่วยกัน..."

ฉะนั้นองคมนตรีไม่ใช่ตัวละครแห่งอำนาจ ตามที่ปั่นหัวกัน

แต่คือผู้ทำงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล้างแค้น คสช.

เจี๊ยะป้าบ่อสื่อ... ช่างสรรหาเรื่องให้ปวดกบาลได้ตลอดจริงๆ พรรคส้ม เอาอีกแล้ว ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารจำนวน ๓ ฉบับต่อประธานรัฐสภา

พายุหมุนหรือผายลม

พร้อมแล้ว! ก็ไม่รู้สิครับ...วานนี้ (๒๔ กรกฎาคม) "พิชัย ชุณหวชิร" ขุนคลัง นำทีม "ช่วยคลัง" แถลงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่า มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว

ความน่ากลัวกำลังจะเกิด

อันเดียวไม่เคยพอ... เมื่อราวๆ ๓๐ ปีก่อน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเวทีโต้วาที สมัยนั้นที่ดังเป็นพลุแตก ก็มี ฝ่ายชาย "อภิชาติ ดำดี" ถือว่าเด็ด

วุฒิสภาสามก๊ก

เคาะกันแล้วเคาะกันอีก กับเก้าอี้ประธาน และรองประธานวุฒิสภา ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ สว.ชุดใหม่คือความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม พันธุกรรม และระบบนิเวศ