กระเช้าภูกระดึง

มาแรงครับ....

กระเช้าภูกระดึง เสนอขึ้นมาทีไร ได้คอแห้งกันทุกที

เพราะเสียงค้านมีเยอะ เสียงสนับสนุนก็มีไม่น้อย

จนไม่อาจสรุปได้ว่าสร้างหรือไม่สร้างดี

ว่าไปแล้วก็มีเหตุผลทั้ง ๒ ฝ่าย

แต่มันก็ไม่ลงตัวที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในเหตุผลตัวเองมากเกินไป จนละเลยเหตุผลของอีกฝ่าย

ความเห็นต่างทางการเมือง ยังพอมีที่จบ นั่นคือการเลือกตั้ง แต่การสร้างหรือไม่สร้างกระเช้าภูกระดึง หาที่จบยากจริงๆ

หรือต้องทำประชามติ!

ฟังเหตุผลของรัฐบาลแล้วก็น่าตกใจ เพราะมาในแนวให้เสียงส่วนใหญ่ข่มไว้ก่อน โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของ "พวงเพ็ชร ชุนละเอียด" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

"...ขณะนี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาคการท่องเที่ยว อำเภอ จังหวัด และสมาคมพ่อค้าแม่ค้าออกมาสนับสนุน อยากให้มีกระเช้าขึ้นภูกระดึงโดยเรามีแนวทางต้องส่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงต้องออกแบบก่อน แม้จะมีหลายหน่วยงานสอบถามมา แต่ดิฉันอยากให้ทางจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดไปติดตามเรื่องงบประมาณเพื่อส่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อไป

เรื่องนี้ดิฉันเคยผลักดันให้มีกระเช้าขึ้นภูกระดึงตั้งแต่เป็น สส.สมัยแรก เมื่อปี ๒๕๓๙ แต่มีผู้ต่อต้านมาเรื่อยๆ แต่ยุคนี้เศรษฐกิจตกต่ำ ยอดคนขึ้นภูกระดึงน้อยลง จึงอยากให้มีกระเช้าเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งจะมีทั้ง ๒ แนวทาง คือ กระเช้ากับการเดินขึ้น ทำให้ลูกหาบมีรายได้ต่อไป สิ่งสำคัญที่สุด เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เลย ภูกระดึง น่าจะเป็นจุดดึงดูดได้มาก..."

หากจะเอาเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ก็ระวังความฉิบหายจะบังเกิด

รัฐมนตรีไม่ควรด่วนสรุปว่าต้องสร้างแน่ๆ อ้างว่าประชาชนในพื้นที่สนับสนุน ในขณะที่ยังไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

การพูดแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความสำคัญกับการทำอีไอเอ ทั้งที่เป็นหัวใจหลักที่จะป้องกันผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้นจากการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

เพราะหาก อีไอเอ ไม่ผ่านขึ้นมา "พวงเพ็ชร ชุนละเอียด" จะไปบอกกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกกระตุ้นด้วยตัวเลขเรื่องเงินทองอย่างไร

ฉะนั้นต้องทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ครับ มันจะคลายข้อกังวลให้กับทุกฝ่ายได้

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน ต้องสนับสนุนให้ทำ ซึ่้งมีกฎหมายบังคับใช้ชัดเจนอยู่แล้ว

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๑

มาตรา ๓ ให้แก้ไขคําว่า “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็น “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ทุกแห่ง ดังนั้น ต่อไปนี้ “ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” จะเป็น “ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

มาตรา ๔๖ “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการหรือกิจการ หรือการดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดําเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกําหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษา เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 “อนุญาต” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐยินยอมให้บุคคลใดกระทําการใด ที่มีกฎหมายกําหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทําการนั้น และให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตรด้วย

จะเห็นว่ามีข้อต้องปฏิบัติตามกฎหมายมากพอสมควร              

การตัดผ่านเขตลุ่มน้ำชั้น 1 A และ 1 B ก่อนใช้ประโยชน์ต้องทำเรื่องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี และจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จะได้รู้ว่าต้องตัดต้นไม้กี่ต้น

จุดขึ้นลงอยู่ตรงไหน

ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหรือเปล่า                             

ที่ผ่านมาแม้จะมีผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ มาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

การพัฒนากับการอนุรักษ์ ดูเหมือนเส้นขนาน แต่หากพัฒนาอย่างเข้าใจก็เท่ากับอนุรักษ์ไปในตัว

ต้องยอมรับครับว่าปัจจุบันหลายประเทศต่างก็สร้างกระเช้าขึ้นไปยังสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก หลายที่ประสบความสำเร็จ ได้ทั้งพัฒนาและอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน 

แต่หลายๆ แห่งก็ล้มเหลว เพราะระบบการบริหารจัดการที่ไม่ดี

กลายเป็นการทำลายธรรมชาติ

ฉะนั้นสุดท้ายแล้วก็คนนี่แหละครับที่จะเป็นตัวกำหนดว่า การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะพังธรรมชาติ หรือจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ในโลกยุคคนเท่ากัน ก็เป็นอีกข้อถกเถียงว่า สมควรสร้างหรือไม่สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

อย่างความเห็นของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ก็ต้องฟังเหมือนกัน

"...นอกจากหนุ่มสาว คนร่างกายแข็งแรงแล้ว คนแก่ คนพิการก็มีโอกาสได้ชื่นชมความน่าอภิรมย์ของภูกระดึง การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึง เป็นการให้ทางเลือกแก่นักท่องเที่ยว ใครใคร่เดินเพื่อการผจญภัยและความตื่นเต้นก็เดินขึ้น ไม่ผิดกติกา ใครที่ต้องการความสะดวก (แม้จะเดินไหว) และคนเดินไม่ไหว ก็ขึ้นกระเช้าไป สถานที่ท่องเที่ยวสูงๆ ในหลายประเทศ ก็มีทางเลือกให้นักท่องเที่ยวเช่นนี้..."

ในมุมนี้น่าสนใจมากทีเดียว การเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวต้องเท่าเทียมกันสำหรับคนทุกเพศทุกวัยหรือไม่

หรือมีไว้เฉพาะคนที่ปีนไหวเท่านั้น

เสียดายครับ เจ้าของวาทกรรม "คนเท่ากัน" อย่างพรรคก้าวไกล ยังไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นเรื่องกระเช้าภูกระดึง ในฐานะฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเลย

ในมุม "ศศิน เฉลิมลาภ" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ในฐานะนักอนุรักษ์ต่างก็ห่วงเรื่องมีคนเข้าใช้พื้นที่มากเกินไป สุดท้ายคือพัง ดูภูทับเบิกเป็นตัวอย่าง เละตุ้มเป๊ะ สิ่งปลูกสร้างเต็มไปหมด กลายเป็นภาพอุจาดตา

แต่อย่างที่บอก เรื่องนี้แก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการ

เพียงแต่ลักษณะนิสัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเรื่องผลประโยชน์ หรือเช้าชามเย็นสามชาม มันสร้างปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้เสมอ

เมื่อละเลยที่จะแก้ปัญหาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงก็เละแบบภูทับเบิกได้เช่นกัน

พูดไปมันก็เหมือนกรณีมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่มี อะไรดีกว่ากัน 

ก็พบว่าสิ่งที่กลัวกันคือ คุณภาพของคน

กลัวว่าโดยนิสัยคนไทย แทนที่จะได้ประโยชน์กลับเป็นโทษมากกว่า

สรุปแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่กระเช้า

แต่คนนี่แหละครับคือปัญหาใหญ่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล้างแค้น คสช.

เจี๊ยะป้าบ่อสื่อ... ช่างสรรหาเรื่องให้ปวดกบาลได้ตลอดจริงๆ พรรคส้ม เอาอีกแล้ว ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารจำนวน ๓ ฉบับต่อประธานรัฐสภา

พายุหมุนหรือผายลม

พร้อมแล้ว! ก็ไม่รู้สิครับ...วานนี้ (๒๔ กรกฎาคม) "พิชัย ชุณหวชิร" ขุนคลัง นำทีม "ช่วยคลัง" แถลงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่า มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว

ความน่ากลัวกำลังจะเกิด

อันเดียวไม่เคยพอ... เมื่อราวๆ ๓๐ ปีก่อน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเวทีโต้วาที สมัยนั้นที่ดังเป็นพลุแตก ก็มี ฝ่ายชาย "อภิชาติ ดำดี" ถือว่าเด็ด

วุฒิสภาสามก๊ก

เคาะกันแล้วเคาะกันอีก กับเก้าอี้ประธาน และรองประธานวุฒิสภา ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ สว.ชุดใหม่คือความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม พันธุกรรม และระบบนิเวศ