ศูนย์บัญชาการจันทร์ส่องหล้า

ใช่อื่นไกล

"ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" คู่หูดูโอในตำนาน

ฉะนั้นไม่แปลกอะไร ที่ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาลกัมพูชา จะเดินทางมาเยือนเพื่อนเก่าถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า

ประเดิมก่อนลูกหาบในพรรคเพื่้อไทยได้เข้าพบด้วยซ้ำ

แล้วมีนัยสำคัญอะไรหรือไม่?                          

หากพิจารณาตามเนื้อผ้า มีเรื่องไทยต้องคุยกับกัมพูชา เพราะยังคุยกันไม่จบ คือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas - OCA)

๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "ฮุน มาเนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลูกชาย ฮุน เซน เดินทางมาคุยเรื่องนี้กับนายกฯ เศรษฐา

สรุปคร่าวๆ ในวันนั้นจากโฆษกรัฐบาล ชัย วัชรงค์

 “.....ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน มีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่เรียกร้องที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ....”

ก็ยังต้องคุยกันต่อ...

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ผูกโยงไว้ด้วย บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่เรียกกันว่า  MOU 2544 ถือเป็นข้อตกลงชั่วคราว ที่รัฐบาลทั้ง ๒  ประเทศจะต้องมาเจรจากันเพื่อหาข้อยุติในเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเลที่มีปัญหาทับซ้อนกัน

จนเวลาผ่านมาถึง ๒๓ ปี ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้

เมื่อมอง "ฮุน เซน" กับ "ทักษิณ" ย้อนกลับไปปี ๒๕๔๔ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น

MOU นี้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๔  ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา หลัง "ทักษิณ" ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นานนัก

เมื่อเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง มีความพยายามผลักดันการเจรจาตาม MOU ๒๕๔๔

แต่ก็มีความแคลงใจจากวุฒิสภา เพราะนอกจากเรื่องผลประโยชน์แล้ว ยังมีเรื่องอธิปไตยอีกด้วย  

 "คำนูณ สิทธิสมาน" ยอมรับห่วงรัฐหารือพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา เพราะปัญหา ๓ ล็อก จาก MOU  ๒๕๔๔ อาจเจอทางตันและไปต่อไม่ได้

พร้อมย้ำโจทย์ต้องหารือพื้นที่แบ่งประโยชน์-ทับซ้อน ให้ได้ข้อสรุปพร้อมกัน โดยไทยต้องไม่เสียอธิปไตย

"....มีหลักประกันอะไร ที่การหารือยึดโยงกับ MOU  ๒๕๔๔ แล้วไทยจะไม่เสียผลประโยชน์ หรือ สิทธิอธิปไตย  จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน

การหารือร่วมกันของรัฐบาลไทย-กัมพูชา อาจไม่สามารถตกลงกันเองได้ หากแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย..."

ก่อนนี้ "คำนูณ สิทธิสมาน" ได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากเจรจาไม่รอบคอบไทยอาจเสียเปรียบ

------------------------------

เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามอย่างเป็นทางการ “รับรู้” และ “ยอมรับ (การมีอยู่)” ของเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม  ๒๕๑๕ โดยไม่มีหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงใดๆ รองรับ ทั้งยังอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทยเสียด้วยซ้ำ

เส้นที่เห็นกันชินตาในรอบ ๒๐ ปีมานี้ว่าลากผ่าน “เกาะกูด” นั่นแหละ

ทั้งนี้ โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ ๗๓ บริเวณบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก  อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกประชิดและอ้อมเกาะกูดเป็นครึ่งวงกลมตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา

เป็นเส้นเขตไหล่ทวีปที่นักกฎหมายระหว่างประเทศ  อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ บางคน และอดีตนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่หลายคน เคยขนานนามไว้ต่างๆ นานาในรอบ ๒๐ ปีมานี้

 “เส้นนอกกฎหมาย” บ้าง “เส้นตามอำเภอใจ” บ้าง "เส้นยโสโอหัง” บ้าง ไปจนถึง "เส้นอันธพาล” แม้แต่ผมเองยังเคยเขียนบทความเรียกว่า…

 “เส้น (ไหล่ทวีป) วิปลาส ๒๕๑๕”

แต่วันนี้ หลังจากทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ในรอบ ๑๒-๑๕ ปีมานี้ถึงเบื้องหลังที่มาของเส้นเขตไหล่ทวีป ๒๕๑๕ ของกัมพูชา ผมอยากจะขนานนามตรงไปตรงมาว่า…

 “เส้นฮุบปิโตรเลียม“

----------------------

กระทรวงการต่างประเทศเองก็เคยให้มูลว่าการประชุมระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖  ท่าทีของกัมพูชา คือ ต้องการพูดคุยในประเด็นเรื่องการพัฒนาร่วมเท่านั้น

ไม่ต้องการพูดคุยในเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

โดยที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้เคยแจ้งกับทางกัมพูชาไปแล้วหลายครั้งว่า ไม่สามารถยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ลากผ่านกลางเกาะกูด ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของไทยได้

อีกทั้งการลากเส้นผ่านกลางเกาะกูดดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

ครับ...นั่นคือเรื่องผลประโยชน์ ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

และอาจส่งผลไปถึงอธิปไตยของชาติ

แม้หน้าฉาก "ฮุน เซน" จะโพสต์ความรู้สึกผ่านโซเชียลว่า...

"...เดินทางมาเยี่ยมนายทักษิณที่บ้านในกรุงเทพมหานคร แม้จะยังป่วย แต่นายทักษิณได้ให้การต้อนรับอย่างดีแบบพี่น้อง โดยมี 'อุ๊งอิ๊ง' ลูกสาวคนเล็ก หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมให้การต้อนรับด้วย

ทั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้เชิญ 'อุ๊งอิ๊ง' ไปเยือนกัมพูชา ในวันที่ ๑๔-๑๕ มีนาคมนี้

ทั้งสองอดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกัน โดยไม่มีเรื่องการเมือง มีแต่การรำลึกความทรงจำในมิตรภาพระหว่างกันตลอด ๓๒ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ ขอบคุณน้องชายและหลานที่ให้การต้อนรับอย่างดี..."

แต่หลังฉาก ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการพบกันของทั้งคู่ มีอิทธิพลกับรัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศ

เหมือนผู้นำตัวจริงกรุยทางให้!

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล มันหอมหวานล่อให้นักการเมืองตาลุกวาว

ฉะนั้นอย่าให้คลาดสายตา

๖ เดือนนับจากนี้บ้านจันทร์ส่องหล้า จะกลายเป็นศูนย์บัญชาการในเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาล

ที่ระบุมานี้ไม่เกินจริงเลยครับ

พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีก๊กเดียว

เพราะเมื่อครั้ง "นักโทษชายทักษิณ" ยังเร่ร่อนเป็น สัมภเวสี ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา หรือแม้กระทั่งดูไบ เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใจบรรดาสมุนแต่ละก๊ก จะยกพลไปขอให้เคาะหัวถึงที่

คราวนี้ง่ายแล้วครับ ไม่ต้องไปต่างประเทศ

บ้านจันทร์ส่องหล้าอยู่แค่เอื้อม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่อง 'ถุงขนม ๒ ล้าน'

ว่าไปก็น่าประหลาดใจ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้รับเสียงสรรเสริญว่ามาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มักมีหน้าตาสู้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถูกสาปแช่งว่าเป็นเผด็จการกดหัวประชาชนไม่ได้

ทันเหลี่ยม 'ธนาธร'!

คงจะห้ามไม่อยู่ กกต.เตือนว่าห้าม จัดแคมเปญ จูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม ๒๐ กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ

ยิ่งปรับยิ่งชินวัตร

ยังเป็นที่คาใจกันอยู่ การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้