แลนด์บริดจ์ไทยในความมั่นคงระหว่างประเทศ

ต้องมุ่งสร้างคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมแก่ประชาคมโลก ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สอดคล้องกับหลักนโยบายต่างประเทศไทย

หลายศตวรรษแล้วนับจากมนุษย์ใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางเรือในทะเลหลวง สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองแก่ประเทศผู้สามารถใช้ประโยชน์ดังกล่าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้าทางทะเลสัมพันธ์กับเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แม้กระทั่งสงคราม การก้าวขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่

ในกรอบที่ใกล้ตัว ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลที่สำคัญของโลก เชื่อมระหว่างแปซิฟิกกับอินเดียไปไกลถึงแอฟริกา ยุโรป เป็นอีกปัจจัยช่วยให้สิงคโปร์เจริญรุ่งเรือง หลายประเทศได้ประโยชน์รวมทั้งไทย

ภาพ: ผังนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทย พ.ศ.2600 (ตัดภาพภาคใต้)

เครดิตภาพ: https://www.landbridgethai.com/

ในแง่ความมั่นคงระหว่างประเทศ ช่องแคบมะละกาเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ มหาอำนาจต่างหวังกำกับควบคุม สหรัฐมีสัญญากับสิงคโปร์เรื่องเติมเสบียงซ่อมบำรุงแก่เรือรบสหรัฐที่ผ่านไปมา ในอนาคตกองเรือบรรทุกเครื่องบินจีนคงจะมาย่านนี้บ้าง

ไม่ว่าชอบหรือไม่ มหาอำนาจทั้งหลายจะส่งกองทัพมาป้วนเปี้ยนแถวนี้

เพราะความมั่นคงปลอดภัยของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาสำคัญยิ่ง บางคนพูดถึงสงครามที่เครื่องบินเรือรบปะทะกัน ความจริงแล้วแค่ปิดหรือขัดขวางการขนส่งทางทะเลก็สร้างความปั่นป่วนแก่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ตลาดเงินตลาดทุนจะรับผลกระทบก่อน จินตนาการว่าภายในสัปดาห์ดัชนีตลาดหุ้นลดฮวบ 30-40% เพราะประเทศประสบปัญหานำเข้าเชื้อเพลิง บริษัทเอกชนจำนวนมากไม่สามารถส่งสินค้าตามปกติ ฯลฯ เครื่องบินเรือรบยังไม่ปะทะกันแต่เศรษฐกิจเสียหายแล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้มีผลต่อความมั่นคงทางสังคม ลามไปถึงรัฐบาล

“โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โครงการแลนด์บริดจ์” ของไทยไม่พ้นจากแนวทางนี้

ความสามารถในการแข่งขัน:

การเพิ่มเส้นทางขนส่งช่วยลดความแออัดของช่องแคบมะละกาที่เป็นปัญหามานานแล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอธิบายเรื่องนี้ว่า ความแออัดทำให้การเข้าคิวผ่านช่องแคบกินเวลานาน ปริมาณสินค้าที่ใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้น ช่องแคบมะละกาไม่สามารถบริหารได้ เส้นทางนี้ใช้ขนส่งน้ำมัน 60 เปอร์เซ็นต์จากทั่วโลก

ความแออัดเป็นปัญหาเก่าที่พยายามบริหารจัดการอย่างดีที่สุดแล้ว คาดว่าน่าจะแออัดมากขึ้นในอนาคตเมื่อการค้าระหว่างประเทศขยายตัว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จะโตมากในศตวรรษนี้

ทั้งนี้ การเพิ่มเส้นทางต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะประโยชน์จากต้นทุนการขนส่ง ความเร็วในการขนส่ง เป็นคำถามสำคัญที่หลายฝ่ายยังสงสัย แลนด์บริดจ์ไทยสามารถแข่งกับเส้นทางอื่นได้ดีเพียงไร

นอกจากท่าเรือสิงคโปร์ โครงการท่าเรือน้ำลึก Melaka Gateway ของมาเลเซียที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่ต้องพิจารณาใกล้ชิด

นายชี ฮง ทัต รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ชี้ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทยอาจสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางสำหรับเรือขนส่งสินค้าบางประเภทลงได้เพียงไม่กี่วัน เมื่อเปรียบเทียบกับการล่องเรือผ่านช่องแคบมะละกาและช่องแคบสิงคโปร์ แต่จะประหยัดเวลามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการถ่ายตู้คอนเทนเนอร์จากเรือบรรทุกสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งผ่านเส้นทางเชื่อมระหว่างท่าเรือทั้งสอง ไปจนถึงระยะเวลาในการยกตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือบรรทุกสินค้าอีกลำ

เรื่องประโยชน์ที่ได้จากโครงการจึงสำคัญมาก ต้องตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนเป็นที่ยอมรับก่อน เพราะโครงการก่อสร้างมูลค่ามหาศาล ผู้ลงทุนย่อมต้องมั่นใจก่อนว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ไทยในท่ามกลางมหาอำนาจ:

ทุกวันนี้การขนส่งทางเรือเชื่อมเอเชียแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านทางช่องแคบมะละกาเป็นหลัก หากโครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จจะเป็นเส้นทางใหม่ คู่ขนานกับเส้นทางช่องแคบมะละกา กองเรือบรรทุกสินค้านานาชาติจำนวนมากจะแล่นเข้ามาในอ่าวไทย ผ่านแผ่นดินไทย ข้าราชการกรมกองต่างๆ ตำรวจทหารจำนวนไม่น้อยจะมีส่วนกำกับดูแลการขนส่งโดยใช้แลนด์บริดจ์นี้

บางคนตั้งคำถามว่าโครงการนี้จะดึงประเทศไทยเข้าสู่การช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจหรือไม่ หลายคนเอ่ยถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจจะร้อนแรง

มหาอำนาจย่อมต้องเข้ามาสัมพันธ์กับแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 มหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเป็นไปในช่องแคบมะละกาเป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว แต่ข้อนี้ไม่เป็นเหตุให้ไทยเลือกที่จะไม่สร้าง เลือกที่จะไม่พัฒนา การด้อยพัฒนาเสี่ยงถูกคุกคามและมักสูญเสียมากกว่า

ไม่ว่าไทยจะสร้างแลนด์บริดจ์หรือไม่ การพัฒนาใดๆ สามารถถูกตีความเข้ากับการเมืองระหว่างประเทศได้ทั้งสิ้น ขึ้นกับว่ามหาอำนาจต้องการอะไรจากไทย

นอกจากนี้ ต้องตระหนักว่าแต่ไหนแต่ไรไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอยู่เสมอ ในยุคล่าอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสหารือกันว่าจะจัดการสุวรรณภูมิอย่างไร ในสมัยสงครามเย็น (Cold War) ไทยเจอทั้งศึกนอกศึกใน ปัจจุบันโลกพ้นจากสงครามเย็นแบบเดิมแต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนตีความว่าโลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นใหม่ (new Cold War) ขึ้นชื่อว่าสงครามเย็นน่าจะขัดแย้งยาวนานหลายทศวรรษ จีนกับสหรัฐจะเป็นคู่แข่งสำคัญในย่านนี้ ประเทศไทยต้องอยู่ในวังวนการช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจอีกนาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สมาชิกอาเซียนอื่นๆ ล้วนอยู่ในวังวนนี้

โจทย์สำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยคือ การวางตำแหน่งของประเทศเพื่อรับมือสถานการณ์และทิศทางของโลก ขับเคลื่อนนโยบายในทุกมิติเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติและสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชน

พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยไม่เลือกข้าง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งหรือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใดๆ ประเทศไทยดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างมีดุลยภาพ ท่ามกลางโลกหลายขั้วอำนาจ แข่งขันทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจและเทคโนโลยี การวางจุดยืนของประเทศไทยสำคัญที่สุด

และในอีกวาระกล่าวว่า ไทยจะรักษาสมดุลในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐ รวมทั้งมีจุดยืนของตนเองบนพื้นฐานของหลักการที่ชัดเจนและผลประโยชน์ของประเทศ และมองไปยังประเทศที่มีอำนาจในตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศอำนาจอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์กับไทย

แนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ด้วยแนวทางนี้ไทยน่าจะอยู่รอด ไม่พาตัวเองเข้าสู่ความขัดแย้งที่มหาอำนาจบางประเทศพยายามให้ไทยเลือกข้าง

ดึงนานาชาติมาร่วมทุนไม่ผูกขาด:

โครงการแลนด์บริดจ์จำต้องใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างจากบริษัทต่างชาติ เช่นเดียวกับทุนก่อสร้าง การเปิดกว้างเอื้อให้ได้ใช้เทคโนโลยีเหมาะสมที่สุด เปิดให้นานาชาติเข้ามาลงทุน ไม่เอื้อกลุ่มทุนประเทศใดประเทศหนึ่งคือแนวทางที่โครงการตั้งไว้

การเปิดให้นานาชาติเข้าศึกษาร่วมทุนอย่างเปิดเผยโปร่งใสแม้จะยุ่งยาก เสียเวลา แต่ช่วยลดข้อกล่าวหารัฐบาลไทยเอนเอียงในการเมืองระหว่างประเทศ ไม่น่าจะเกินฝีมือรัฐบาลที่จะดำเนินการอย่างโปร่งใสที่สุด

การบริหารจัดการเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง มุ่งสร้างประโยชน์แก่นานาชาติ ไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอโครงการนี้ต่อสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั้งภาครัฐกับเอกชน

แผนและการดำเนินการตั้งแต่ต้นจึงสำคัญ ต้องเป็นแลนด์บริดจ์ที่สามารถแข่งขันได้ตลอดไป ยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมแก่ประชาคมโลก ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สอดคล้องกับหลักนโยบายต่างประเทศของไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระสุนนัดเดียวเปลี่ยนโลก

บรรยากาศหาเสียงตอนนี้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่นใดอีก ทรัมป์ควรชนะเลือกตั้ง กระสุนนัดเดียวชี้ขาดผลเลือกตั้ง ชี้นำโลกอนาคตควรทำตามนโยบายทรัมป์

ทำไมสมาชิกอาเซียนสนใจเข้าBRICS

ประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนามพยายามสัมพันธ์ดีกับมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่อิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินตัว มอง BRICS เป็นโอกาสใหม่

ระบบโลกที่บิดเบี้ยว (2) สงครามยูเครน

เงื่อนไขสงบศึกของปูติน การใช้ทรัพย์รัสเซียที่ยึดได้เป็นหลักฐานชี้ว่าต่างฝ่ายต่างยืนยันรบต่อ บ่งชี้ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว ต้องสู้กันต่อไป

ปูตินยกระดับสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-รัสเซีย

บัดนี้เกาหลีเหนือสามารถส่งกระสุนอาวุธต่างๆ ช่วยรัสเซียทำศึกยูเครน แม้กระทั่งส่งกองทัพเกาหลีเข้ารบโดยตรง ดังที่ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า ปูตินคือเพื่อนแท้ที่ดีที่สุด

ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว (1)

สัจนิยมมีข้อดีหลายอย่างแต่เปิดช่องให้รัฐบาลบางประเทศตีความว่าสามารถรุกรานประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติของโลก บางประเทศพยายามทำให้ดูดีอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเอง