บัดนี้เกาหลีเหนือสามารถส่งกระสุนอาวุธต่างๆ ช่วยรัสเซียทำศึกยูเครน แม้กระทั่งส่งกองทัพเกาหลีเข้ารบโดยตรง ดังที่ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า ปูตินคือเพื่อนแท้ที่ดีที่สุด
19 มิถุนายน 2024 วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย เยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ จากข้อมูลที่ปรากฏเห็นชัดว่าสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-รัสเซียสูงขึ้นอีกระดับแล้ว สอดคล้องบริบทล่าสุด บทความนี้นำเสนอบางประเด็นพร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้
ภาพ: ประธานาธิบดีรัสเซียเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ
เครดิตภาพ: http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?MTVAMjAyNC0wNi0xOS1IMDExQA==
เพื่อนแท้กับเพื่อนเก่า:
คิม จองอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินคือเพื่อนแท้ที่ดีที่สุด (The most honest friends) สัมพันธ์ทวิภาคีเข้าสู่ระดับเป็นพันธมิตรแล้ว (alliance)
ประธานาธิบดีปูตินเคยเยือนเกาหลีเหนือหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อกรกฎาคม 2000 ตอนนั้น คิม จองอิล (Kim Jong-il) เป็นผู้นำประเทศ สองประเทศฟื้นฟูความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ ในปีนั้นได้ลงนามข้อตกลง Good-Neighborly Friendship and Cooperation Treaty ปีถัดมา (2001) ลงนามข้อตกลงทางการทหาร ช่วยเกาหลีเหนือพัฒนากองทัพให้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง
ปูตินจึงมีความสัมพันธ์กับผู้นำฝ่ายเหนือตั้งแต่รุ่นพ่อมาถึงรุ่นลูก
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับเพื่อนเก่า (สมัยรัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต) และเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง สหภาพโซเวียตช่วยปลดปล่อยเกาหลีจากอาณานิคมญี่ปุ่น ปีนี้ (2024) เกาหลีเหนือฉลองเอกราช 75 ปี หลายทศวรรษที่ผ่านมาทั้งสองร่วมมือด้านต่างๆ มากมาย ล่าสุดเราได้ทบทวนความร่วมมือทั้งหมดและลงนามสนธิสัญญาฉบับใหม่ (ยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน) ร่วมมือมากขึ้น ลึกซึ้งขึ้นอีก มองอนาคตร่วมกัน ยอมรับว่าการค้าทวิภาคียังน้อยแต่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2023 โตขึ้น 9 เท่าและยังโตต่อเนื่อง พัฒนาเส้นทางรถไฟ Khasan-Rajin railway ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด (เส้นทางนี้ยาว 240 กิโลเมตร จากเกาหลีเหนือเข้าจีนสู่รัสเซียแล้วเชื่อมกับ Trans-Siberian Railway เส้นทางนี้ผูกพันกับรัฐบาลปูตินย้อนหลังถึงสมัยคิม จองอิล เป็นเส้นทางที่ผู้นำฝ่ายเหนือใช้เดินทางสู่รัสเซียมาแล้วหลายครั้ง) เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 3 ประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุน การไปมาหาสู่
ทั้งคู่เห็นพ้องสร้างระเบียบโลกพหุภาคีที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมมากขึ้น ตั้งบนกฎหมายระหว่างประเทศ ยอมรับวัฒนธรรมกับอารยธรรมอันหลากหลาย
รัสเซียกับเกาหลีเหนือต่างมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครมาข่มขู่ชี้นำ ต่อต้านการคว่ำบาตรด้วยเหตุผลทางการเมือง (ไม่สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ) พฤติกรรมไร้ความชอบธรรมเหล่านั้นบั่นทอนระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก
แม้เผชิญแรงกดดันจากต่างชาติ เราทั้งสองประเทศสามารถรักษาอธิปไตยกับเอกราช เราต่อต้านการคว่ำบาตรจากพวกตะวันตกที่หวังรักษาความเป็นเจ้า รัสเซียเห็นสมควรทบทวนข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของคณะมนตรีความมั่นคง
พวกตะวันตกที่หวังรักษาความเป็นเจ้าเป็นต้นเหตุความตึงเครียด การเผชิญหน้าทางทหารกับการเมืองระหว่างประเทศในที่ต่างๆ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ บ่อนทำลายความมั่นคงกับเสถียรภาพภูมิภาค รัฐบาลเกาหลีเหนือมีความชอบธรรมที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ เพื่อรักษาอธิปไตยกับความมั่นคงแห่งชาติ
รัสเซียแน่วแน่ในการใช้การทูตการเมืองระหว่างประเทศขจัดความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี วางระเบียบโครงสร้างเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพของภูมิภาค
Hyun Seung-soo จาก Korea Institute for National Unification ชี้ว่าปูตินต้องการแสดงให้โลกรู้ว่าสัมพันธ์รัสเซีย-เกาหลีเหนือเข้มข้นเหมือนสมัยสงครามเย็น ร่วมต้านสหรัฐกับพวก ร่วมมือด้านต่างๆ ที่ไม่ขัดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง
ยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน:
การเยือนครั้งนี้ได้ลงนามสนธิสัญญายุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Treaty on Comprehensive Strategic Partnership) เพิ่มขยายความร่วมมือทุกมิติ นำความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ พิทักษ์สันติภาพ ความมั่นคงภูมิภาคและของโลก บนประโยชน์ร่วมของเกาหลีเหนือกับรัสเซีย สอดคล้องกับบริบทของทั้งสอง มองอนาคตร่วมกัน สร้างโลกพหุภาคี ปราศจากการครอบงำทำให้ตกเป็นทาส ต่อต้านมหาอำนาจผู้เป็นเจ้า (hegemony)
แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลรัสเซียช่วยเหลือทางทหารแก่เกาหลีเหนือเป็นระยะ มากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์ อาวุธหลักหลายชิ้นของฝ่ายเหนือมาจากรัสเซีย นับจากนี้เป็นต้นไป 2 ประเทศประกาศความร่วมมือทางทหารเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญายุทธศาสตร์แบบรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือทางทหารจะเป็นเช่นไรต้องติดตามต่อไป Doo Jin-ho จาก Korea Institute for Defense Analyses คิดว่ารัสเซียอาจช่วยเกาหลีเหนือด้านเทคโนโลยีอวกาศ เช่น ดาวเทียมจารกรรม แต่ไม่น่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สุ่มเสี่ยงอ่อนไหว
ช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายถูกรุกราน:
สนธิสัญญายุทธศาสตร์แบบรอบด้าน 2024 ด้านระบุชัดว่าความร่วมมือทางทหารรวมถึงการช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายถูกรุกราน
การช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายถูกรุกรานเป็นคำที่ชัดเจน แต่ข้อมูลที่ปรากฏเป็นเพียงกรอบแนวทางกว้างๆ ไม่ได้ระบุรายละเอียดความช่วยเหลือ เช่น จะส่งทหารเข้าช่วยรบหรือไม่ เป็นไปได้ว่าขึ้นกับสถานการณ์ขณะนั้นด้วย ภัยคุกคามที่ว่าเป็นอย่างไร ส่วนที่ให้ได้ทันทีคือข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนไหวของกองทัพสหรัฐกับพวกในย่านนั้น
สนธิสัญญายุทธศาสตร์แบบรอบด้าน 2024 ที่ทำกับเกาหลีเหนือเห็นชัดว่าปูตินเปิดหน้าสู้ฝ่ายสหรัฐ ยึดหลักสร้างสันติภาพด้วยกำลัง ไม่คิดทำสงครามแต่เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว
ในยามที่สงครามยังไม่เกิด ช่วยให้รัฐบาลเกาหลีเหนืออุ่นใจและฮึกเหิมขึ้นมาก
ที่ผ่านมาทางการสหรัฐมักกล่าวหาเกาหลีเหนือส่งขีปนาวุธ กระสุนปืนใหญ่มากมายช่วยรัสเซียรบยูเครน บัดนี้เกาหลีเหนือสามารถส่งกระสุนอาวุธต่างๆ ช่วยรัสเซียทำศึกยูเครน แม้กระทั่งส่งกองทัพของตนเข้ารบโดยตรง อันที่จริงเรื่องนี้ไม่มีอะไรแปลก ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐกับพวกส่งอาวุธช่วยยูเครนครั้งแล้วครั้งเล่า รัสเซียก็มีมิตรประเทศที่ช่วยเหลือตนเช่นกัน
ในมุมกองทัพ เป็นโอกาสที่เกาหลีเหนือได้ระบายกระสุน ขีปนาวุธที่เก็บสะสมมานานหลายปี โดยรัสเซียซื้อไม่อั้น ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ในภาพกว้าง:
ถ้ามองในภาพกว้าง สนธิสัญญายุทธศาสตร์แบบรอบด้าน 2024 ที่ทำกับเกาหลีเหนือบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีปูตินกำลังกระชับความร่วมมือกับมิตรประเทศของตน ปูตินพูดพาดพิงถึงสงครามยูเครน ถึงพวกตะวันตกที่ต้องการรักษาความเป็นเจ้า
เมื่อนาโตที่มีรัฐบาลสหรัฐเป็นแกนนำ กำลังสู้กับรัสเซียในยูเครน ปูตินจึงยกระดับความร่วมมือกับเกาหลีเหนือคุกคามสหรัฐกับพวกในย่านนี้
เมื่อรัฐบาลสหรัฐกับพวกเพิ่มขีดความสามารถทางทหารตามยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก การช่วยพัฒนากองทัพเกาหลีเหนือช่วยรัสเซียกับจีนก็เช่นกัน แม้รัสเซีย-จีน-เกาหลีเหนือไม่เอ่ยถึงความร่วมมือในทางสามเส้าแบบสหรัฐ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ แน่ล่ะรัสเซียแสดงบทบาทด้านการทหาร ส่วนจีนแสดงบทบาทด้านเศรษฐกิจ
งานนี้เกาหลีเหนือได้ประโยชน์เต็มๆ อุ่นใจมากขึ้นเพราะรัสเซียจะช่วยเมื่อถูกรุกราน แต่จะผลักดันให้เผชิญหน้ามากขึ้น คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขึ้น อีกไม่นานเกาหลีเหนือคงอวดโฉมอาวุธรุ่นใหม่ให้สื่อตะวันตกได้ตีข่าวภัยคุกคามที่รุนแรงขึ้น นโยบายให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์นับวันจะยิ่งเลือนราง ในทางตรงข้ามต่างใช้หลักป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เข้มข้นยิ่งขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก