คดีปราบฉ้อฉลเอกชนระดับชาติ ที่เวียดนามดังเปรี้ยงปร้าง!

จีนกับเวียดนามมีแนวทางตรงกันอย่างหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นั่นคือการปราบคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง, ราชการและแม้ในภาคเอกชน

ผู้นำของทั้งสองประเทศตระหนักว่าหากมีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบบริหาร ประชาชนจะเสื่อมศรัทธา และต่างชาติก็ไม่มีใครอยากมาลงทุน

อีกทั้ง “วิกฤตศรัทธา” จะทำให้ผู้มีอำนาจต้องพังครืนลงมาได้

เราจึงเห็นรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามเอาจริงเอาจังกับการจับกุม, ฟ้องร้องและลงโทษระดับรัฐมนตรีไปถึงเหล่าบรรดานักธุรกิจที่ร่ำรวยจากกิจกรรมที่น่าสงสัยอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเรื่องเกรียวกราวที่เวียดนามคือกรณีนักธุรกิจหญิงโด่งดังถูกจับขึ้นศาลด้วยข้อหาฉ้อฉลที่ดังไปทั่วประเทศ

ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 4 แสนล้านบาท) ถูกนำตัวขึ้นศาลในนครโฮจิมินห์เมื่อเร็ว ๆ นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลที่ขยายวงกว้างและขยายไปถึงภาคเอกชนอย่างชัดเจน

เธอชื่อเจื่อง มี ลัน กำลังถูกข้อหาหนัก หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฉ้อโกงตามฟ้องต้องเผชิญกับโทษประหารชีวิตหรือจำคุก

ข้อหาหนักโยงกับการถูกชี้ว่าเธอได้สร้างความเสียหายให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์และตราสารหนี้ของเวียดนาม

ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก

ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐนั้นส่วนใหญ่เป็นคดีรับสิน

เพราะรัฐบาลและพรรคต้องการจะแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการปราบปรามการทุจริต

ส่งผลให้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐหลายร้อยคน

รวมถึงระดับรัฐมนตรีด้วย

 นักธุรกิจหญิงคนนี้เป็นคนดังระดับชาติ เป็นประธานกลุ่มผู้พัฒนา Van Thinh Phat ถือว่าเป็นนักธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดที่เผชิญข้อกล่าวหาการรับสินบน

เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากผู้ผลิตที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานของตนนอกเหนือจากจีน

เหตุเพราะความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตร้อยละ 5.05 พลาดเป้าหมายทางการของรัฐบาล

เหตุเพราะความต้องการในต่างประเทศชะลอตัว

การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตมีผลชะลอการอนุมัติโครงการจากรัฐบาล

และการตรวจสอบธุรกิจเอกชนของรัฐมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

เจื่อง มี ลัน วัย 67 ปี มาจากตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่งของเวียดนาม

ตามรายงานของสื่อทางการ เธอถูกตั้งข้อหาติดสินบน ยักยอก ใช้อำนาจโดยมิชอบ และ “ขาดความรับผิดชอบซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายแรง”

เธอปฏิเสธข้อหาทั้งหมด 

สื่อของรัฐรายงานว่าทนายความของเธอซึ่งถูกจับกุมในปี 2565 ไม่ยอมให้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างไร

เธอถูกทางการเวียดนามกล่าวหาว่าใช้ธนาคารพาณิชย์ไซง่อน (SCB) ซึ่งเธอถือหุ้นร้อยละ 90 เพื่อส่งเงิน 3.04 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของเธอ

เงินก้อนมหาศาลนี้เทียบเท่ากับประมาณร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำปีของเวียดนามเลยทีเดียว

จะไม่ให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาจัดการได้อย่างไรในเมื่อคดีอย่างนี้ทำให้ความน่าลงทุนของประเทศหดหายไปทันที

ธนาคารพาณิชย์ที่ว่านี้ออกสินเชื่อมูลค่ากว่า 44,000 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) ให้บริษัทของเธอและบริษัทที่เกี่ยวข้องระหว่างปี 2555 ถึง 2565

ก้อนนี้ใหญ่เท่ากับร้อยละ 93 ของสินเชื่อทั้งหมดที่ธนาคารปล่อยออกเลยทีเดียว

เจ้าหน้าที่ยังกล่าวอีกว่าบริษัทของเธอแห่งนี้ใช้บริษัทปลอมเพื่อขายพันธบัตรบริษัทผ่านธนาคารแห่งนี้ให้กับผู้ฝากเงินของธนาคารด้วย

เรียกว่าต้มกันหน้าด้าน ๆ กันเลยทีเดียว

นอกจากเธอแล้ว ยังมีผู้ถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อีก 85 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ 15 คนจากธนาคารกลางเวียดนาม

 เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากลานเพื่อปกปิดการฉ้อโกงที่ถูกกล่าวหา

นั่นแปลว่าธนาคารแห่งประเทศเวียดนามยังมีส่วนร่วมในการกระทำผิดที่โจ๋งครึ่มขนาดนี้ได้

เน่าทั้งระบบ

การพิจารณาคดีมีความสำคัญในแง่ของขนาดของการฉ้อฉลต่อสาธารณชนขนาดใหญ่

มันเป็นการส่งสัญญาณว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจขยายการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตไปยังภาคเอกชนแล้ว

แม้จะตระหนักว่าหากข่าวอย่างนี้ออกมาในที่สาธารณะจะมีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจก็ตาม

แต่มองในแง่ของผู้นำประเทศและพรรค ยิ่งหากพยายามปิดบังซ่อนเร้นก็ยิ่งจะเสียหายในวันข้างหน้า

ยอมตัดนิ้วร้ายออกไปตอนนี้เพื่อรักษาหัวใจน่าจะเป็นนโยบายที่ชาญฉลาดกว่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีทุจริตเรื่องนี้ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของธุรกิจเอกชนบางแห่งในเวียดนามที่กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินงานในประเทศและบริษัทของรัฐที่พวกเขาร่วมงานด้วย

อีกด้านหนึ่ง พอมีการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างหนักก็ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐลังเลที่จะอนุมัติโครงการต่าง

ด้วยเกรงว่าโครงการเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับการรับสินบน

แต่สำหรับระดับนำของเวียดนามแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับเรื่องเสียหายร้ายแรงขนาดนี้ หากยังลังเลและปิดบังอำพราง ก็อาจจะยิ่งมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าด้วยซ้ำไป!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนกังวลโครงการท่าเรือในพม่า ขณะที่การสู้รบในยะไข่ยังเดือด

สมรภูมิที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพม่าวันนี้คือรัฐยะไข่ที่กองทัพอาระกันสามารถเอาชนะทหารรัฐบาลพม่าในหลายแนวรบ ขณะที่ยังมีความซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่นและโยงไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของจีนด้วย

ปูตินปลดรัฐมนตรีกลาโหม: ปรับยุทธศาสตร์สงครามใหม่?

ข่าวที่สร้างความแปลกใจไม่น้อยสำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของรัสเซียกับสงครามยูเครนมากว่า 2 ปี คือการที่ปูตินเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

เมื่อกัมพูชากับเวียดนามขัดแย้งเรื่อง ‘คลองฟูนันเตโช’ ไทยยืนตรงไหน?

ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชากับเวียดนามว่าด้วยโครงการสร้างคลอง “ฟูนันเตโช” ในกัมพูชาที่สนับสนุนโดยทุนจีนกำลังทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงไทยต้องจับตาดูเพื่อไม่ให้ลามเป็นความขัดแย้งของภูมิภาค

บทพิสูจน์นายกฯคนใหม่ สิงคโปร์: ฝีมือสำคัญกว่าบารมี

การผลัดใบของผู้นำสิงคโปร์เริ่มแล้วสัปดาห์นี้...เป็นที่จับตาของคนทั้งโลกว่าเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ที่สร้างเศรษฐกิจจาก “โลกที่ 3 สู่โลกที่ 1” นี้จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้อย่างไร