มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา...

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แต่มีข่าวไม่เป็นมงคลทิ้งทวน คือกรรมาธิการวุฒิสภาหลายคณะจะเดินทางไปดูงานต่างประเทศ

ใช้งบประมาณรวม ๘๑ ล้านบาท

เพื่อ...

คิดแบบวิญญูชน การกระทำลักษณะนี้ ถือเป็นกาลีเมือง

จะพ้นวาระอยู่แล้ว จะดูงานอะไร วัตถุประสงค์อะไร ไม่อาจหาเหตุผลอะไรมาอธิบายให้ดูน่าเชื่อถือได้เลย

นอกจากไปเที่ยว!

สมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนไม่ใช่กระจอกงอกง่อย หากอยากไปเที่ยวต่างประเทศ ควักเงินตัวเองมีศักดิ์ศรีมากกว่าการใช้เงินภาษีจากประชาชน

การทำงานเพื่อบ้านเมือง อย่าคิดเรื่องบุญคุณ ต่างตอบแทน เพราะถ้าคิดแบบนี้มันไม่ต่างสารตั้งต้นนำไปสู่การคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ

ฉะนั้นหยุดเถอะครับ งบประมาณ ๘๑ ล้านบาท นำไปใช้อย่างอื่นที่เกิดผลยั่งยืน จะดีกว่าเผาไปกับการเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

มีการอธิบายจากฟากฝั่ง สว. เรื่องประโยชน์จากการไปดูงานต่างประเทศ แต่ขอโทษเถอะครับ ที่ผ่านมาหลายสิบปีทั้ง สส. และ สว. เดินทางไปดูงานต่างประเทศ ใช้งบประมาณรวมกันแล้วไม่รู้กี่พันล้านบาท

แล้วไหนงานที่ไปดู?

อยากเห็นการอธิบายที่เป็นรูปธรรมจากรัฐสภาถึงมรรคผลของการเดินทางไปดูงานต่างประเทศว่ามีอะไรบ้าง 

ที่จับต้องได้มีบ้างหรือเปล่า?

การไปดูงานทั้งปีทั้งชาติถือเป็นความล้มเหลวในการพัฒนาประเทศ เป็นการประจานตัวเองถึงการด้อยประสิทธิภาพในการพัฒนา

ก็ไม่แปลกหรอกครับ ๔๐ ปีที่แล้วเกาหลีใต้มาดูงานที่ไทย แต่วันนี้นักการเมืองไทยทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเข้าแถวไปดูงานเกาหลีใต้

ฉะนั้น ควรจากไปโดยให้ผู้อื่นระลึกถึง ไม่ใช่ด่าไล่หลัง

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๙ (๖) กำหนดว่า  เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงให้ดําเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๐๗ และให้นําความในมาตรา ๑๐๙  วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๐๙ วรรคสาม บัญญัติว่า เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่

วุฒิสภาชุดปัจจุบันจึงต้องรักษาการไปอีกระยะ ภายใต้อำนาจที่จำกัดจำเขี่ย ไม่อาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป

ครับ...การเลือก สว.ชุดใหม่ มีความซับซ้อนพอประมาณ แต่พออธิบายได้ง่ายๆ จะมี ๒๐๐ คน

มีที่มาจาก ๒๐ กลุ่มอาชีพ

วิธีการคือให้ผู้สมัครนั้นเลือกกันเองและเลือกข้ามกลุ่มได้

กระบวนการเลือก มีตั้งแต่ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือระดับประเทศ

แต่ประเด็นที่จะพูดคุยกันวันนี้ ไม่ใช่กระบวนการเลือกสว. หากเป็นประเด็นฝ่ายการเมืองเริ่มเข้าไปสร้างอิทธิพลในการเลือก สว.

เข้าไปแบบเนียนทีเดียว

วานนี้ (๒๒ เมษายน) ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า แถลงเปิดตัวแคมเปญ "สว.ประชาชน"

เชิญชวนประชาชนร่วมกันลงสมัคร สว.

"...วันนี้เป็นการแถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งเริ่มทำงาน เพราะเราได้รณรงค์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนมาลงสมัคร สว.ไปในหลายจังหวัดแล้วก่อนหน้านี้

ส่วนตัวผมก็มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปรณรงค์เรื่องนี้ รวมถึงคณะก้าวหน้าคนอื่นๆ ด้วย และในสัปดาห์หน้า เราจะทำงานกันอย่างต่อเนื่อง

โดยผมจะลงพื้นที่อีสานเหนือ ในจังหวัดหนองบัวลำภู  จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดมุกดาหาร ส่วนคุณช่อ จะเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก..."

ก่อนอื่นต้องถาม "ธนาธร" รณรงค์ในฐานะอะไร

แต่หากดูจากสถานที่แถลงข่าว อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รณรงค์ในฐานะนักการเมือง

"ธนาธร" กำลังล้ำเส้น!

มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นความปรารถนาดี ช่วยรณรงค์ให้ประชาชนไปสมัครเป็น สว.

แต่อีกมุมนี่คือการครอบงำ สว.ชุดใหม่อย่างเงียบๆ

รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๘ ระบุข้อห้ามของผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาไว้ดังนี้ครับ

๑.เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๕) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.

๒.เป็นข้าราชการ

๓.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)  เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น สส.มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

๔.เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

๕.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

๖.เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

๗.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก

๘.เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือในองค์กรอิสระ

และ ๙.เคยดำรงตำแหน่ง สว. ตามรัฐธรรมนูญนี้

จะเห็นว่าทั้ง ๙ ข้อ ไม่ต้องการให้ สว.อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เช่นในอดีตที่กลายเป็นสภาผัวเมีย

แต่ "ธนาธร" กำลังหาพวกในวุฒิสภา

ต้องการให้วุฒิสภาชุดใหม่เป็นพวกของตัวเอง

"...การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น เราต้องการ ๑ ใน ๓  จากเสียงของ สว.ทั้งหมด ๒๐๐ คน คือเราต้องการ สว.ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างน้อย  ๗๐ คน จึงจะแก้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ได้ จึงจะนำพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้..."

นั่นคือความปรารถนาของ "ธนาธร"

บรรจุ สว.ในสังกัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์?

เป็นวันสำคัญครับ... วันนี้ (๓ พฤษภาคม) เวลา ๑๕.๔๕ น. นายกฯ เศรษฐานำ รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

เรื่อง 'ถุงขนม ๒ ล้าน'

ว่าไปก็น่าประหลาดใจ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้รับเสียงสรรเสริญว่ามาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มักมีหน้าตาสู้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถูกสาปแช่งว่าเป็นเผด็จการกดหัวประชาชนไม่ได้

ทันเหลี่ยม 'ธนาธร'!

คงจะห้ามไม่อยู่ กกต.เตือนว่าห้าม จัดแคมเปญ จูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม ๒๐ กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ

ยิ่งปรับยิ่งชินวัตร

ยังเป็นที่คาใจกันอยู่ การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า