ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน

ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

วานนี้ (๒๓ เมษายน) นายกฯ เศรษฐา หิ้วแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล มาโชว์ตัวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ครบทุกพรรค

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ 

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

ที่ประชุม ครม.รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน ได้เห็นชอบหลักการกรอบโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า

รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป

แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรครับทราบ และต้องรับผิดชอบร่วมกันตามกฎหมาย หากนโยบายแจกเงินดิจิทัลไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ถือว่าลงเรือลำเดียวกันอย่างเป็นทางการ

ฉะนั้นหลังจากนี้การพูดถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่อยู่ในความรับผิดชอบของพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว

แต่จะอยู่ในความรู้เห็นของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค

ในทางการเมืองนี่ไม่ใช่นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

แต่เป็นนโยบายอภิมหาประชานิยม ใช้เงินกว่า ๕ แสนล้านบาท

ในมุมกฎหมาย วันนี้รัฐบาลตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว  เพราะที่มาของเงินยังเป็นปัญหาทางกฎหมายว่า ทำได้จริงหรือไม่

และเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๖๘ เข้าสู่การพิจารณา จะมีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างหนักหน่วงอีกครั้ง

แต่เบื้องต้นนี้ รัฐบาลอาจทำผิดกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๒ บัญญัติว่า...

"คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ  แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่"

ที่มาของเงินในนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเพิ่งจะชัดเจนเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลแถลงนโยบายไปตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว

ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ๑๖๒ ซึ่งก็คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า ป้องกันความพินาศทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากนโยบายประชานิยม

"...รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติมาตรานี้โดยคงหลักการในการแถลงนโยบายโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจเช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน แต่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าแนวนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย

การกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีจัดทำนโยบายในลักษณะ 'ประชานิยม' โดยไม่คำนึงถึงที่มาแห่งรายได้ของรัฐที่จะนำมาใช้จ่ายหรือกระทบต่อการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งยังเป็นการบ่งชี้ว่าในการหาเสียงของพรรคการเมือง ที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลให้พรรคการเมืองนั้นแม้จะได้รับเสียงข้างมากจนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ก็จะไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้มากำหนดเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้..."

ไม่ได้เขียนขึ้นมาเล่นๆ นะครับ แต่เพราะประเทศไทยเคยมีรัฐบาลที่มุ่งใช้นโยบายประชานิยมจนก่อปัญหาด้านงบประมาณของรัฐ

รวมทั้งยังสร้างความขัดแย้งของประชาชนในวงกว้าง

นโยบายแจกเงินดิจิทัลจึงเป็นการกลับมาของนโยบายประชานิยมล้วนๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแต่อย่างใด

เดิมทีการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย อ้างว่าการแจกเงินดิจิทัลหัวละ ๑ หมื่นบาท เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ  ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ผู้ยากไร้

ก็อย่างที่รู้กันรัฐบาลปั่นกระแสเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤต เพื่อให้เข้าเกณฑ์ออกพระราชบัญญัติกู้เงินได้

เมื่อไปไม่ได้เพราะมีเสียงทักท้วงหนาหู รัฐบาลจึงเปลี่ยนที่มาของเงินด้วยการแถลงเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมา ว่าใช้เงินจากงบประมาณปี ๒๕๖๗ และ ๒๕๖๘  รวมทั้งยืมจาก ธ.ก.ส.

แต่...รัฐบาลก็ทำผิดรัฐธรรมนูญซ้ำซาก

หนำซ้ำ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็ปล่อยผ่านแบบน่ากังขา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ๒๕๖๗ มีบทบัญญัติบังคับพรรคการเมืองไม่ให้ออกแคมเปญหาเสียงแบบไปตายเอาดาบหน้า 

มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า การกําหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คํานึงถึง ความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

 (๑) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ

 (๒) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย

 (๓) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย

ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทํารายการ ให้ กกต. สั่งให้ดําเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กําหนด

และ มาตรา ๑๒๑ บัญญัติว่า พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของ กกต. ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕ แสนบาท และปรับอีกวันละ ๑ หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ถ้าตาไม่บอด กกต.ต้องทักท้วงไปยังพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยเฉพาะใน (๑) มาตรา ๕๗ เพิ่งจะมาบอกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนนี่เอง

การร้องเพื่อให้ยุตินโยบายแจกเงินดิจิทัล คงไม่ร้องเอาเฉพาะกรณีที่รัฐบาลใช้เงิน ธ.ก.ส. แต่จะต้องมีการร้องตั้งแต่การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ว่าไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

ในพรรคร่วมรัฐบาลหลายๆ คนเก่งกฎหมาย โดยเฉพาะ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" น่าจะอ่านบทบัญญัตินี้แตก

แต่เมื่อไปประกาศตัวลงเรือลำเดียวกันแล้ว จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ถ้าตายก็ตายหมู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเอ็นเอ 'คอ นก รีต'

นึกว่ารัฐบาลเพิ่งเข้าทำหน้าที่ วานนี้ (๓ พฤษภาคม) พรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรม "๑๐ เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม ๑๐" เพื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ในนามพรรค

ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์?

เป็นวันสำคัญครับ... วันนี้ (๓ พฤษภาคม) เวลา ๑๕.๔๕ น. นายกฯ เศรษฐานำ รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

เรื่อง 'ถุงขนม ๒ ล้าน'

ว่าไปก็น่าประหลาดใจ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้รับเสียงสรรเสริญว่ามาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มักมีหน้าตาสู้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถูกสาปแช่งว่าเป็นเผด็จการกดหัวประชาชนไม่ได้

ทันเหลี่ยม 'ธนาธร'!

คงจะห้ามไม่อยู่ กกต.เตือนว่าห้าม จัดแคมเปญ จูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม ๒๐ กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ

ยิ่งปรับยิ่งชินวัตร

ยังเป็นที่คาใจกันอยู่ การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า