ได้เวลาขยี้โกง

"พิชิต" ไปแล้ว "เศรษฐา" ยังอยู่

มีการตั้งคำถามกันเยอะว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ (๒๓ พฤษภาคม) จะรับเรื่องไว้พิจารณา

หรือ จำหน่าย!

หรือศาลอาจจะยังไม่พิจารณา ไปว่ากันอีกทีในการประชุมสัปดาห์ถัดไป

ทั้งหมดนี้อยู่ที่ศาลครับ

แต่หากต้องวิเคราะห์วิจารณ์ ก็มีข้อเท็จจริงให้พูดถึงมากมาย เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาของประเทศไทยที่คาราคาซังมานาน

ไม่มีนักการเมืองหน้าไหนลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง

"ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" ถึงเวลาที่จะต้องสร้างบรรทัดฐานกันหรือยัง

การตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความพยายามอย่างมากมาย จากคนที่อยู่เบื้องหลัง มากกว่า ๑ ครั้ง

และพบว่าเป็นความพยายาม ที่หาความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์มิได้

โดยเฉพาะการถามข้อกฎหมายไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความพยายามที่จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกา การันตีโดยเจตนาที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต

คนที่ตั้งข้อสังเกตนี้ ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "สุพจน์ ไข่มุกด์"

"...คดีนี้เท่าที่ผมติดตาม เรื่องนี้มันซับซ้อนมาก อาจจะต้องมีการไต่สวน ว่าทำไมก็รู้ทั้งรู้ว่า มีเรื่องของจริยธรรม การประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แล้วทำไมยังฝืนตั้งอีก

แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยาก  ซึ่งมันไปได้หมด คือหากเขาไต่สวนแล้วได้ความว่า ตอนที่มีการส่งหนังสือไปถามความเห็นกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ปรากฏว่าประเด็นที่ถามกฤษฎีกากลับมีการเว้นไม่ถามกฤษฎีกาในเรื่องจริยธรรม ไม่ถามเรื่องความประพฤติตามประมวลจริยธรรมหรือไม่

ก็แสดงว่าเขารู้ว่า ถ้าถามไปกรรมการกฤษฎีกาจะตอบอย่างไร จึงไม่ถามกฤษฎีกาแล้วมาบอกว่า ถามกฤษฎีกาไปแล้ว กฤษฎีกาบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นปมที่ต้องสืบพยานให้ชัดเจน ว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาอย่างไร..."

ทำไมถึงไม่ถามประเด็นจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต

อาจเป็นได้ว่าที่ไม่ถาม เพราะรัฐมนตรีในอดีต ไร้ศีลธรรม ฉ้อโกง พัวพันมาเฟีย ยาเสพติด ก็ยังเป็นรัฐมนตรีได้ จนพ้นตำแหน่งโดยไม่มีใครติดใจจะทำอะไร

จึงมองกันว่า "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" และ "ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง" เป็นเรื่องนามธรรม พิสูจน์ไม่ได้

ต่างจากกรณีติดคุกที่มีคำสั่งศาลชัดเจน

แต่การถามคณะกรรมการกฤษฎีกากรณี "พิชิต" เคยติดคุก ก็เป็นการถามแบบศรีธนญชัยเกินไป เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่า "พิชิต" พ้นโทษเกิน ๑๐ ปี ไม่ขัดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๗) ซึ่งบัญญัติว่า "เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง "

ฉะนั้นหากมองเจตนาในการถามคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ "พิชิต" กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่เช่นกัน

ถามในประเด็นที่ไม่ใช่ปัญหา

แต่ที่มีปัญหากลับไม่ถาม

แล้วมาเคลมทีหลังว่า คณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ "พิชิต" นั่นถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แม้ "พิชิต" จะลาออกหวังตัดไฟแต่ต้นลมไปแล้ว แต่ปัญหาพื้นฐานของการตั้งรัฐมนตรียังคงอยู่

ทั้งในแง่กฎหมาย จริยธรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ล้วนไม่เคยมีการสร้างบรรทัดฐานเพื่อประโยชน์ต่อการตั้งรัฐมนตรีครั้งถัดๆ ไป

อย่างที่บอก ศาลรัฐธรรมนูญจะรับ หรือไม่รับ เรื่องนี้ไว้วินิจฉัย เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดบรรทัดฐานการตั้งรัฐมนตรี ที่มี "ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" และ "ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง" ขึ้นมาเพื่อการเมืองที่โปร่งใส

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๕๑ บัญญัติว่า

"...คําร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก่อนศาลจะมีคําวินิจฉัยหรือมีคําสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคําร้อง หรือไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะพิจารณาสั่งจําหน่ายคดีนั้นก็ได้ เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ..."

ความชัดเจนในคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่ผ่านมาแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ชัดเจน แต่เราละเลยจนคณะรัฐมนตรีมีโจรในเครื่องแบบเข้าไปนั่งอยู่บ่อยครั้ง

หากมีการสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา อาจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างที่คาดกันไม่ถึง

เพราะบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี จะถูกจับจ้องว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงใช่หรือเปล่า

การขุดคุ้ยเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องผิดศีลธรรม จริยธรรม จะเกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

มีผลบวกทางการเมือง ที่ขยายไปไกลกว่าที่คิด

คนจัดโผ ครม.ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี จะมีความรับผิดชอบมากขึ้น

พรรคการเมืองจะนำเสนอคนที่มีความโปร่งใสกว่าเดิม

คนที่บงการอยู่เบื้องหลังต้องคิดหนัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกผูกโยง จะกระทบกับการตั้งรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างเช่นกรณี "นักโทษชายทักษิณ" ที่เข้ามาพัวพันการจัดตั้งรัฐบาล

ต่อด้วย พระคติธรรมที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานเนื่องในดิถีวิสาขบูชาปีนี้                

"...จึงควรที่สาธุชนทั้งหลาย จักได้มุ่งมั่นเจริญ ไตรสิกขา ตามรอยพระบาทของพระบรมศาสดา เพื่อความสมบูรณ์พร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา บนวิถีแห่งอริยมรรค

ขอจงอย่าประมาทมัวเมา เผลอปล่อยเวลาในชีวิตให้ล่วงผ่านไปเปล่าดาย โดยปราศจากการอบรมเจริญไตรสิกขา หากแต่ควรตระหนักไว้เสมอว่าชีวิตมนุษย์เป็นของน้อย มรณภัยอาจมาถึงได้ทุกขณะ ไม่จำกัดเฉพาะแต่เมื่อถึงวัยแก่เฒ่าแต่เท่านั้น

ถ้าปล่อยขณะให้ผ่านไปโดยปราศจากศีล สมาธิ และปัญญา ชีวิตนี้ก็นับว่าไร้ค่า น่าเสียดาย เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย หรือการเจริญ มรณัสสติ จึงนับเป็นมงคล เป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญ มิใช่เรื่องน่าหดหู่เศร้าหมอง หากแต่เป็นเครื่องช่วยระงับความโลภ ความโกรธ และความหลงให้สงบลง

ทั้งยังช่วยปลุกเร้าจิตใจให้เบิกบานหาญกล้าที่จะบำเพ็ญคุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อบุคคลรู้จักปล่อยวางจากการยึดถือสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา บุคคลนั้นย่อมประสบสันติในใจตนเอง และย่อมแผ่ขยายอานุภาพ ไปเกื้อกูลสันติภาพในครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้ต่อไป..."

อยากให้เข้าหูรัฐบาลนักโทษที่ไม่เคยประจักษ์ในความซื่อสัตย์สุจริต

ชีวิตมนุษย์มันสั้น กอบโกยไปก็เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สับปลับบุรุษ

จับตาดูดีๆ นะครับ "นักโทษชายทักษิณ" ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นมาแล้วกับการ ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว จากคดีคอร์รัปชัน โกงบ้านกินเมือง

๑๘ มิ.ย. ใครจะอยู่ ใครจะไป

ชาวโซเชียลถึงกับยกให้เป็นวันโลกาวินาศกันเลยทีเดียว อย่างที่ทราบกันครับ ๑๘ มิถุนายน มีหลายคดีสำคัญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในวันเดียวกัน

'แก้ไข-ยกเลิก' ม.๑๑๒ = ล้มล้าง

ยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่? ประเด็นนี้คงจะสิ้นสงสัยกันไปแล้ว เพราะที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้วหลายพรรค ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป

หนักกว่า 'ยุบ-ไม่ยุบ' ก้าวไกล

พรุ่งนี้อาจได้รู้ครับ... ยุบหรือ ไม่ยุบ พรรคก้าวไกล หรือศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยในวันอื่นหลังจากนี้แทน