เรียบร้อยนักโทษชายครับ
สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเลือก "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยคะแนนเห็นชอบ ๓๑๙ เสียง
ไม่เห็นชอบ ๑๔๕ เสียง
งดออกเสียง ๒๗ เสียง
ใจบันดาลแรงไม่ไหวขอลาไป ๒ คนคือ "ลุงป้อม" กับ "น้าเหลิม"
เดิมทีรัฐบาลมี ๓๑๔ เสียง หักประธานรัฐสภา "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" จะเหลือ ๓๑๓ เสียง
แสดงว่ารัฐบาลได้กำไรมา ๖ เสียง
ทั้ง ๖ เสียงมาจากพรรคไทยสร้างไทย ก็เป็นอันว่า "เจ๊หน่อย" ถูกลอยแพอย่างเป็นทางการ
รัฐบาลใหม่อาจมีพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มมาอีก ๑ พรรค
จากนี้ไปรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้วก็ตั้งคณะรัฐมนตรี
หลังถวายสัตย์ปฏิญาณตน รัฐบาลต้องแถลงนโยบาย ก่อนบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ
ก็ชัดเจนครับ รัฐบาลนี้คือรัฐบาลจันทร์ส่องหล้า
ไปตั้งกันในบ้านนักโทษคดีคอร์รัปชันที่อยู่ระหว่างการพักโทษ
ก็ระวังกันหน่อยนะครับ ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะสร้างบรรทัดฐานคุณสมบัติของรัฐมนตรีไปหยกๆ ตีความตรงตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) (๕)
ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่าตั้งรัฐบาลในบ้านนักโทษคดีโกง สิ่งที่ประจักษ์หลังจากนี้คือ นักโทษคุมรัฐบาล
ครับ...เขาเรียกตัวเองว่ารัฐบาลประชาธิปไตย แต่เพ่งมองลงไป ทำไมคล้ายเกาหลีเหนือ บวก กัมพูชา ยังไงก็ไม่รู้
แม้จะเป็นการเลือกนายกฯ โดยที่ประชุมสภาผู้แทนฯ แต่ภาพที่ซ้อนอยู่ข้างหลังคือการสืบทอดอำนาจโดยสายเลือด
ภาษากฎหมายเขาเรียกว่าผู้สืบสันดาน
สถานะทางการเมืองที่แท้จริงของ "อุ๊งอิ๊ง" อยู่ระนาบเดียวกับ "ฮุน มาเนต" ส่วน "คิม จองอึน" อยู่สูงขึ้นไปนิดนึง
"คิม จองอึน" ต้องสร้างบารมีด้วยตัวเอง เพราะขึ้นมาเป็นผู้นำตอน "คิม จองอิล" ผู้เป็นพ่อเสียชีวิตไปแล้ว
ต่างจาก "อุ๊งอิ๊ง" กับ "ฮุน มาเนต" ที่มีพ่ออยู่เบื้องหลัง
วันนี้ชอบใจข้อเขียนของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ครับ เรื่อง "รัฐสมบัติ"
"...รัฐสมบัติ หรือ Patrimonial State คือ รัฐที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ปกครองคนหนึ่งพ้นไป ก็ส่งมอบตำแหน่งให้สมาชิกในตระกูลขึ้นดำรงตำแหน่งต่อไป ตำแหน่งผู้ปกครองรัฐ และรัฐนั้น จึงเสมือนเป็น 'ทรัพย์สมบัติ' ของตระกูล ที่สามารถเป็น 'มรดก' ยกต่อให้ทายาทในตระกูลได้
รัฐสมบัติ ไม่แยกแยะเรื่อง 'ส่วนตัว' กับ 'ส่วนรวม' ออกจากกัน นำเรื่องของครอบครัว เรื่องของตนเอง ให้กลายเป็นเรื่องของรัฐ ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐถูกนำไปปะปนกับการใช้จ่ายส่วนตน นโยบายของรัฐถูกนำไปปะปนกับความต้องการส่วนตน ส่วนครอบครัว
รัฐสมบัติจึงแตกต่างจากรัฐแบบสมัยใหม่ ที่พยายามแยกแดนส่วนตัวออกจากแดนสาธารณะ
รัฐแบบสมัยใหม่ สร้าง 'รัฐ' ให้เป็นนิติบุคคล แยกออกจาก 'คน' และกำหนดให้มี 'ตำแหน่ง' เข้าใช้อำนาจรัฐ โดยมีกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งนั้นไว้ มิให้ยกสืบทอดกันเป็นมรดกในตระกูล
ในโลกปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่ง ทำธุรกิจร่ำรวย เมื่อพ่อแม่ตายไป ก็ยกมรดกให้ลูก เช่นนี้ คงไม่มีใครว่า เพราะ เป็นเรื่องส่วนตัว เอกชน ครอบครัวตนเอง
ถึงกระนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ยังมองว่าไม่เป็นธรรม ทำให้คนที่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองเสียเปรียบ จึงได้คิดมาตรการสร้างความเสมอภาค เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นต้น
ในขณะที่ครอบครัวเศรษฐีเอง ก็ตระหนักดีถึง 'กฎธรรมชาติ' ที่ว่า ความสามารถ อำนาจ บารมี ไม่อาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม พวกเขาจึงจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา
แล้วถ้าเป็นรัฐ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องมหาชน เรื่องแดน Public มิใช่แดน Private ล่ะ?
เราสามารถยอมให้การบริหารรัฐ กลายเป็นเรื่องของครอบครัว ตระกูล ได้หรือ?
จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกรัฐ เป็นเจ้าของรัฐร่วมกัน ต้องยินยอมครอบครัวหนึ่ง ตระกูลหนึ่ง ยก 'อำนาจรัฐ' ให้กันเองภายในตระกูล ราวกับเป็น 'สมบัติ' เป็น 'มรดก' ได้
สภาวการณ์ 'ประชาธิปไตย ๒ ใบอนุญาต' วันนี้ นำมาซึ่ง 'ประชาธิปไตย ๒ ตระกูล'..."
ลบความอคติกับสถาบันฯ ออกไป "ปิยบุตร" ก็มีแนวคิดดีๆ อยู่เหมือนกัน
ครับ...พรรคการเมืองไทยแทบทุกพรรคมีความเสี่ยงที่อำนาจถูกรวบไว้ที่กลุ่มการเมืองกลุ่มเดียว อาจจะเป็นตระกูล หรือกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกัน
ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคประชาชน ที่บริหารและชี้นำโดยกลุ่มชนชั้นนำในพรรค ไม่ต่างจากตระกูลการเมืองสักเท่าไหร่
มีคนบอกว่าครั้งนี้คือเดิมพันครั้งสุดท้ายของ ตระกูลชินวัตร
ก็ไม่แน่ครับ ยังเหลือ พจมาน, พานทองแท้, พินทองทา, เจ๊แดง เยาวภา ก็ยังอยู่
แต่ก่อนจะไปวางเดิมพัน ย้อนกลับไปวันที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถูกเรียกเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้ากันก่อนครับ
ที่ใช้คำว่าถูกเรียก ก็เพราะจู่ๆ ใครจะเข้าไป ถ้าเจ้าของบ้านไม่บอกให้เข้าไป
มันประเจิดประเจ้อท้าทายกฎหมาย สุ่มเสี่ยงจะถูกยุบพรรค แถมมีคนต้องติดคุก
ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทยนะครับ แต่ทุกพรรคที่เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่นายกฯ เศรษฐาพ้นตำแหน่ง
จะบอกว่าเข้าไปกินข้าวเฉยๆ ไม่คุยการเมืองก็ได้
แต่ใครจะเชื่อ
เพราะเห็นมีชื่อของ "ชัยเกษม นิติสิริ" โผล่มา
ก่อนเปลี่ยนเป็น "อุ๊งอิ๊ง" ในเวลาไม่นาน
ไปต่อรอง ชี้นำ ครอบงำอะไรกัน
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เขาเขียนเอาไว้ชัดเจน
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง
หรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
มาตรา ๑๐๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
เจ้าของบ้านจันทร์ส่องหล้าระวังคุก ๑๐ ปีนะครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่
หรืออยากฟังเพลงมาร์ช
เขาว่าเป็นร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ข่าววานนี้ (๖ ธันวาคม) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...)
รัฐบาลถังแตก?
ตกใจกันทั้งประเทศ...! วันอังคาร (๓ ธันวาคม) ที่ผ่านมา "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปพูดในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business กล่าวในหัวข้อ "Financial Policies for Sustainable Economy" แนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ๓ ข้อ