เรียบร้อยครับ....
วานนี้ (๑๑ พฤศจิกายน) คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) เคาะชื่อ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่แล้ว
แต่ไม่บอกว่าเป็นใครใน ๓ คน คือ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ที่ฝั่งรัฐบาลเป็นผู้เสนอ
หรืออีก ๒ ชื่อคือ "กุลิศ สมบัติศิริ" และ "สุรพล นิติไกรพจน์" ที่เสนอโดยแบงก์ชาติ
รอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
จากนั้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงแต่งตั้งก่อน แล้วจะรู้ว่าเป็นใคร
นี่คือขั้นตอนตามที่ กรรมการคัดเลือกฯ ว่าไว้
แต่...ไม่ต้องรอถึงขั้นนั้นครับ เพราะข่าวแบบนี้ไม่มีทางปิดอยู่
สรุปคือ กรรมการคัดเลือกฯ ลงมติเลือก "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
แสดงว่าไม่ฟังอะไรกันเลย
เสียงคัดค้านฝ่ายการเมืองส่งคนไปครอบงำแบงก์ชาติ ไร้ความหมาย
ก่อนกรรมการคัดเลือกฯ ประชุม ๑ วัน ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ โพสต์ข้อความเตือนความจำ ให้ระวังหายนะ
"...ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ candidate ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง
ก็ไม่สมควรครับ
ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง
และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด
ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง
มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก
ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ..."
จริงครับ!
ขนาดแบงก์ชาติแข็งแรง การเมืองล้วงลูกยาก ยังเห็นภาพนโยบายประชานิยมที่ไม่สนใจวินัยการเงินการคลัง เกลื่อน
แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี่ตัวดีเลย
การเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ในแบงก์ชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่ๆ หลังกันยายนปีหน้า นับถอยหลังสู่หายนะได้เลย
อ่านความคิดของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว คงต้องปลง เพราะการให้เหตุผลว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่มีอำนาจเอาการเมืองไปแทรกแซงแบงก์ชาตินั้น ดูจะเป็นนิยายหลอกเด็กไปหน่อย
การบอกว่า ประธานบอร์ด ไม่สามารถกำหนดนโยบาย หรือแทรกแซงกลไกการทำงานของแบงก์ชาติ หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ย หรือ ปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ได้
ไม่มีอำนาจในการปลด หรือ แต่งตั้งใครมาทำหน้าที่แทนผู้ว่าการแบงก์ชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ปัจจุบันได้
ใช่ครับการกระทำโดยตรงทำไม่ได้ แต่โดยอ้อมสามารถทำอะไรได้เยอะพอควร
มาตรา ๒๕ พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ให้อำนาจคณะกรรมการแบงก์ชาติไว้ ๑๒ ประการ
๑.พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดําเนินกิจการและการดําเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ
๒.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล
๓.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน
๔.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ผู้ว่าการพนักงานและ ลูกจ้าง
๕.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอํานาจ การรักษาการแทน การบริหารงานหรือดําเนินกิจการอื่นใด
๖.กําหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง
๗.กําหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกําหนดเงินเดือนและเงินอื่นๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงินการสงเคราะห์และให้สวัสดิการต่างๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตําแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
๘.กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสํารองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ ๓ ของหมวด ๖
๙.พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิก สาขาหรือสํานักงานตัวแทน
๑๐.กําหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา ๕๕
๑๑.กํากับดูแลการจัดทํางบการเงิน รายงานประจําปี และรายงานอื่นๆ ของ ธปท.ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
๑๒.ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
จะเห็นว่าบทบาทของบอร์ดแบงก์ชาติ ครอบคลุมภารกิจสำคัญหลายด้าน
การกำกับดูแลการบริหารงานภายในองค์กร
การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ
การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
กนง.นี่มีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ประเด็นที่รัฐบาลจ้องจะแทรกแซงมานาน
หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ
สำคัญทั้งนั้นครับ
กรณีผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้น บอร์ดแบงก์ชาติไม่มีหน้าที่ไปแต่งตั้งก็จริง แต่เมื่อบอร์ดแบงก์ชาติมาตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองเสียแล้ว
ฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้หยุดที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
คิวต่อไปคือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ
อย่างที่บอกว่า หากโครงสร้างแบงก์เปลี่ยนหลังเดือนกันยายนปีหน้า ฝ่ายการเมืองคุมทั้ง บอร์ดแบงก์ชาติ และผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ไม่ต้องถามหาการทำงานที่เป็นอิสระกันอีก
เว้นแต่ว่ารัฐบาลระบอบทักษิณมีอันเป็นไปเสียก่อน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ช่วยนักโทษหนีคุก
"เฒ่าโจ" ช่างร้ายกาจมาก... ข่าวต่างประเทศที่อื้อฉาวที่สุด ณ วินาทีนี้ คงหนีไม่พ้น "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามอภัยโทษให้ "ฮันเตอร์ ไบเดน" ก่อนการฟังคำพิพากษา คดีซื้อปืนผิดกฎหมาย และเลี่ยงภาษี ช่วงกลางเดือนนี้
ถึงเวลาของ 'บุญทรง'
"กูพูดไม่ได้" คนที่พูดประโยคนี้ออกจากคุกแล้วครับ และจะพ้นโทษ ๒๑ เมษายน ๒๕๗๑
เสียค่าโง่ให้กัมพูชา
ดีครับ... เอา MOU 44 เข้าไปถกในสภาฯ
ก็เลี้ยงหลานไง!
อย่าเพิ่งเบื่อ กับการเขียนถึง MOU 44 ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะครับ เพราะผลกระทบจะมากกว่าการเสียเขาพระวิหาร
'เพ็ญแข'อธิบาย'ส้ม'
ถึงกับ...ลิ้นพัน! "คุณเพ็ญแข" หาลงทาง กลายเป็นทัวร์ลงซะงั้น
ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่
ลุกเป็นไฟในโซเชียลครับ... กับคำพูดของ "จักรภพ เพ็ญแข"