เฟกนิวส์บลูไดมอนด์

มีคนดิ้นเหมือนไส้เดือนโดนขี้เถ้า

ประหลาดดี "ลุงตู่" ยกทีมไปสานสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในรอบ ๓๒ ปี แต่กลับมีคนบางกลุ่มไม่พอใจ หัวฟัดหัวเหวี่ยง              

ทำตัวเป็นพวกขี้อิจฉา

จับแพะชนแกะ โยงมั่วไปหมด

โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านรัฐบาล โดยสื่อสำนักโอ๊คลูกทักษิณไปจั่วหัว "ไม่คืนเพชร แต่คืนดี"

ประชาชนรู้ครับว่าพวกคุณมีเจตนาอะไร?

เพราะคนกลุ่มนี้มีชุดข้อมูลเรื่องเพชรซาอุฯ โยงไปถึงสถาบันเบื้องสูง แต่ชุดข้อมูลที่ว่า ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีสถาบันโดยไม่มีข้อเท็จจริงแม้แต่นิดเดียว

และเมื่อไม่นานมานี้ การเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้ว ก็เอาชุดข้อมูลเท็จนี้มาโจมตีสถาบันเช่นกัน

ปูพื้นกันหน่อยนะครับ

กรณีเพชรซาอุฯ เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๓๒  "เกรียงไกร เตชะโม่ง" แรงงานไทย ขโมยเครื่องเพชรจำนวนมากจากวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด

ขโมยสะสมไปเรื่อยวันละนิด ก่อนกลับไทย แล้วนำไปขายให้ร้านทองที่จังหวัดลำปางบ้านเกิด และจังหวัดใกล้เคียง

ผลจากความร่วมมือของตำรวจไทยและทางการซาอุฯ  สามารถจับกุม "เกรียงไกร" และได้เครื่องเพชรบางส่วนส่งกลับคืนเจ้าชายไฟซาล

แต่ก็มีปัญหาเพราะเครื่องเพชรที่หายไปได้คืนไม่ครบ  บางส่วนที่ส่งคืนถูกทำเลียนแบบขึ้นมา

รวมทั้งมีการพูดถึง "เพชรบลูไดมอนด์"

มีการอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของสุภาพสตรีในสังคมชั้นสูงของไทย เดิมทีมีการพูดถึงชื่อภรรยานักการเมืองผู้ล่วงลับคนหนึ่ง

หากติดตามสถานการณ์ระหว่างไทยกับซาอุฯ ตั้งแต่กรณีที่คนไทยเรียกว่า "เพชรซาอุฯ" เป็นต้นมา การตัดความสัมพันธ์ที่แท้จริง กลับไม่ใช่เพราะ "เพชรซาอุฯ" เป็นสาเหตุหลัก

กรณีอุ้มฆ่า "โมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี" นักธุรกิจชาวซาอุฯ  โดยตำรวจไทย ในปี ๒๕๓๓ ทำให้รัฐบาลซาอุฯ โกรธมาก เนื่องจาก "อัลรูไวลี" เป็นสมาชิกในราชวงศ์

เหมือนสุมไฟ นายตำรวจระดับสูงคนดังกล่าว ไม่ถูกจับกุมแต่กลับได้เลื่อนยศ

ก่อนนั้นปี ๒๕๓๒ เกิดเหตุการณ์สังหาร นายซอเลาะห์  เอ.เอ. อัลมะลิกิ เลขานุการโท (Second Secretary) ประจำสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย

แต่ตำรวจไทยปิดคดีไม่ได้

ปี ๒๕๓๓ เกิดเหตุชาวต่างชาติใช้ปืน  ยิงนักการทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยเสียชีวิต ๓ ราย 

เช่นเคยคดีนี้ก็จับคนร้ายไม่ได้

รัฐบาลซาอุฯ ตอบโต้ด้วยการงดออกวีซ่าให้คนไทยเป็นการชั่วคราวทันที ส่วนแรงงานไทยในซาอุฯ หลายคนเดินทางกลับไทย เพราะทนแรงกดดันจากสังคมชาวซาอุฯ ไม่ไหว

คดีเพชรซาอุฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสัมพันธ์ ไม่ใช่สาเหตุหลัก

แต่หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ การต่อสู้ทางการเมืองร้อนแรง มีการโจมตีสถาบันว่าอยู่เบื้องหลัง และช่วงเวลานี้นี่เอง มีการปล่อยข่าวเรื่อง "เพชรบลูไดมอนด์"

การนำประเด็นนี้มาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เจตนาให้มวลชนเกลียดชังสถาบัน

นี่อาจเรียกได้ว่ากำเนิดเสื้อแดงล้มเจ้า 

"เพชรบลูไดมอนด์" ได้รับการพิสูจน์ระดับหนึ่ง

ตำรวจไทยได้ส่งภาพถ่ายดังกล่าวไปให้สถาบันอัญมณีในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตรวจพิสูจน์ ได้ข้อยุติว่า  วัตถุที่ว่าเป็นอัญมณีสีน้ำเงินแล้วอนุมานว่าเป็นเพชรบลูไดมอนด์ ไม่ใช่เพชรหรืออัญมณีแต่อย่างใด

แต่เป็นวัตถุที่ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มที่นำมาประดิษฐ์เข้าคู่กับเพชรและทอง

ผลพิสูจน์นี้อยู่ ในสำนวนการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งมีหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ บุตรชายของสุภาพสตรีที่ถูกระบุถึง ได้นำสร้อยและจี้ที่ปรากฏในภาพถ่ายมาแสดงต่อพนักงานสอบสวน

ปรากฏข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับผลตรวจพิสูจน์ของสถาบันในลอนดอน

ขณะที่ผลการสอบสวน "เกรียงไกร" พบว่าได้แบ่งเครื่องเพชรให้แก่เพื่อนที่มีส่วนรู้เห็น แต่ไม่รู้ว่าแบ่งเครื่องเพชรชนิดและประเภทใดให้เพื่อนไปบ้าง เพราะดูไม่เป็น

ผลการสอบเจ้าของร้านทองก็ไม่ปรากฏว่าพบเห็นหรือรู้เรื่องเพชรบลูไดมอนด์

คำสารภาพของ "เกรียงไกร" ระบุว่า ไม่รู้จักเพชร รู้แต่ว่าเพชรมีความแข็งมากจึงลองทุบบางส่วนดู เม็ดไหนแตกก็ทิ้งไป เม็ดไหนไม่บุบสลายก็แยกไว้ แต่ไม่ได้ทุบไปเสียทั้งหมด

จากนั้นได้นำเพชร พลอย อัญมณีอื่นๆ ที่แยกออกจากทองแล้วไปฝังดินไว้บางส่วน บางส่วนทยอยขายให้นายสันติ  ศรีธนะขัณฑ์ เจ้าของร้านเพชรชื่อดัง

บางส่วนถูกนำไปขายต่ออีกทอดโดยมี นายตำรวจระดับสูง ที่ชอบค้าของเก่า แต่หลักฐานสาวไม่ถึง

ผลสรุปของการสอบสวนคดีเพชรซาอุฯ มีข้อยุติว่า ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเคยเห็นเพชรบลูไดมอนด์อยู่ในเครื่องเพชรที่นายเกรียงไกรขโมยมา

หมายความว่า เพชรบลูไดมอนด์ไม่เคยมีอยู่ในประเทศไทย

แต่ประเด็นที่กำลังนำไปโจมตีขณะนี้ยังคงพยายามโยงไปถึงสถาบันเบื้องสูง

 ย้อนกลับไปอ่านโพสต์ของ "อัษฎางค์ ยมนาค" เมื่อปี  ๒๕๖๓ เรื่อง “สมเด็จพระพันปีหลวงกับอัญมณีสีน้ำเงินที่ถูกใส่ความ” 

พร้อมแนบพระบรมฉายาลักษณ์ ระบุว่า ที่สมเด็จฯ ทรงสวมใส่คือพลอยไพลิน เป็นภาพเมื่อ ๒๕๑๐ แต่ที่ถูกขโมยจากซาอุฯ คือเพชร เมื่อ ๒๕๓๒

......."เพชร” ถูกขโมยในปี ๓๒ แต่เอาภาพ "พลอยไพลิน" เมื่อปี ๑๐ มาใส่ความได้ด้วยหรือ?

มันเป็นไปได้หรือ ที่คดีเพชรบลูไดมอนด์ในปี ๒๕๓๒ จะย้อนเวลากลับไปปรากฏในปี ๒๕๑๐.......

.......สร้อยพระศอไพลินสีน้ำเงินที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระยศในขณะนั้น) ทรงสวมไปในคราวเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๑๐ เป็นมรดกตกทอด ที่เป็นเครื่องเพชรประจำพระราชวงศ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชินีในรัชกาลที่ ๕ ผู้ที่เป็นสมเด็จย่าของในหลวงรัชกาลที่ ๙  ไม่ใช่สมเด็จแม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แต่อย่างใด

สมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยรุ่งเรืองมาก ทำไมถึงจะไม่มีเครื่องประดับระดับนี้

ซึ่งพูดด้วยภาษาชาวบ้านได้ว่า “สร้อยพระศอไพลินสีน้ำเงิน” เป็นสร้อยคอประจำตระกูล ที่ตกทอดมาถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง......

.....ในช่วงที่เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถจะทรงเครื่องเพชรชิ้นใหญ่ๆ ออกงานมหาสมาคม

แต่มีชาวอเมริกันที่มีนิสัยชอบดูถูกประเทศเล็กๆ ที่ด้อยพัฒนากว่า จึงกังขาว่าพระราชินีประเทศเล็กๆ ในเอเชีย จะทรงมีเครื่องเพชรแบบนั้นได้ด้วยหรือ

แล้วในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง (ลองนึกภาพละครย้อนยุคประกอบไปด้วยจะได้อรรถรสเพิ่มขึ้นนะ) ก็มีแขกคนสำคัญคนหนึ่งในงานกล่าวถาม ม.จ.วิภาวดี รังสิต นางสนองพระโอษฐ์  (ยศในขณะนั้น-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต)  ด้วยจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์และความสอดรู้สอดเห็นว่า

 “เอ้อ…สร้อยพระศอที่พระราชินีของท่านทรงอยู่นั้น คงเพิ่งซื้อใหม่จากปารีสละมัง”

หม่อมเจ้าวิภาวดี ทรงตอบว่า

 “เอ๊ะ! นี่ท่านไม่รู้หรอกหรือว่า เมืองไทยของฉันมีอายุกว่า  ๗๐๐-๘๐๐ ปีแล้ว พระราชวงศ์จักรีก็มีมาตั้งเกือบสองศตวรรษ  เราจึงมีเครื่องเพชรประจำพระราชวงศ์บ้าง ไม่เห็นจะต้องซื้อของใหม่ราคาแพงมาใช้เลย”.........

ครับ...การกล่าวหาแบบคลุมเครือ "ไม่คืนเพชร แต่คืนดี"  ให้มวลชนไปตีความให้ร้ายสถาบันกันต่อ มีจุดประสงค์ทางการเมืองแบบนี้...

ไม่สวย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ

รัฐบาลลิงแก้แห

ชี้แจงก็เหมือนไม่ชี้แจง ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คงจะหน้าเขียวไปตามๆ กัน เพราะถูกรัฐบาลบีบให้ร่วมโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินที่รัฐบาลล้วงมาคือ ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท