
ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน...
รัฐบาลเพื่อไทย กำลังเดินเข้าสู่เส้นทางที่ตีบตันมากขึ้นทุกที
ไม่ใช่เรื่องความรู้ความสามารถของผู้นำเพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีปัญหาเรื่องความบกพร่องทางสำนึกและจริยธรรมรวมอยู่ด้วย
คงจำกันได้นะครับ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยประเด็น “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
สาเหตุวิจารณ์กันว่า นายเสือกทุกเรื่อง ต้องการปรับคณะรัฐมนตรี จะเอาคนที่ชอบ และคนที่ใช่ เป็นรัฐมนตรี
แต่ติดตรงที่เกรงว่า "แพทองธาร ชินวัตร" จะตกเก้าอี้ซ้ำรอย "เศรษฐา ทวีสิน"
วานนี้ (๑๒ มีนาคม) มีมติศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วครับ
๘ ต่อ ๑ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ไปดูคำวินิจฉัยกันครับ
"...ศาลฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง กำหนดหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของ ประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
และมาตรา ๑๕๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า 'พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน'
โดยรัฐธรรมนูญนี้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง จึงบัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ ที่จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติสูงกว่าบุคคลที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก รัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารและเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานบริหารราชการแผ่นดิน
การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๕) หรือไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๗) การเสนอบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าวและเป็นผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว..."
นั่นคือนายกรัฐมนตรีต้องมีวุฒิภาวะมากพอที่จะสามารถใช้ดุลพินิจว่า คนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีนั้น เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
รวมทั้งเคยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
หมายความว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติขั้นสูง คือมีความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ละเมิดจริยธรรม เสียก่อน ถึงจะมองคนที่มาเป็นรัฐมนตรีออกว่า เป็นคนเช่นไร
ฉะนั้นใครก็ตามที่คิดจะฉีก หรือแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โปรดใช้สามัญสำนึกให้มาก เพราะการปราบคอร์รัปชันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรครับ เพราะนายกรัฐมนตรีแพทองธารยังมีปัญหาอยู่พอควร
ไม่สามารถใช้ดุลพินิจเองได้ว่า คนที่ตัวเองจะตั้งเป็นรัฐมนตรีนั้น สุจริต ไม่ละเมิดจริยธรรม จริงหรือไม่
นี่คือความบกพร่องอย่างร้ายแรง!
จะตั้งคนมาเป็นรัฐมนตรี มันต้องแน่ใจครับว่า ใจซื่อมือสะอาดจริงๆ
ไม่ใช่ตัวเองยังไม่แน่ใจ
แล้วประชาชนจะไปคาดหวังอะไรได้
มาดูคำวินิจฉัยอีกท่อนครับ
"...เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ และอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในทางบริหารและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ
คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงการขอให้อธิบาย หรือแปลความหมายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) (๕) และ (๗) และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๙ (๕) ว่ามีความหมายขอบเขตเพียงใด อันมีลักษณะเป็นการหารือเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว
อีกทั้ง กรณีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นตามคำร้องซึ่งไม่ใช่รัฐมนตรี ก็เป็นอำนาจให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.เฉพาะข้าราชการการเมือง มิใช่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๒) และมาตรา ๔๔..."
ขอทุบโต๊ะดังๆ ครับ
เปลี่ยนมือกฎหมายรัฐบาลเสียเถอะ
"ชูศักดิ์ ศิรินิล" ไม่ควรทำหน้าที่นี้ต่อ เพราะมันจะประจานให้เห็นถึง ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายของรัฐบาล
มีเสียงเตือนล่วงหน้าแล้วว่า ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยแปลความหมายของคำว่า "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” มิได้ ไม่ใช่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมาตีความ
ความซื่อสัตย์สุจริตมันจะเกิดกับนักการเมืองที่เข้ามาทำเพื่อชาติประชาชน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว
กลับกัน นักการเมืองที่เข้ามาเพื่อหวังกอบโกย ต่างต้องการความชัดเจนว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
แค่ต้องการใบรับประกันว่าตัวเองไม่โกงเท่านั้น
แต่พฤติกรรมสวนทางอย่างสิ้นเชิง
คิดว่าคนที่สะกดคำว่า "สุจริต" และ "จริยธรรม" ไม่ออกทำอะไรได้บ้าง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สอยนั่งร้าน 'แพทองธาร'
จับตาอย่ากะพริบ! ซักฟอกครั้งนี้มีตัวละครลับ ไม่ใช่พรรคส้ม
ตายคา 'กาสิโน'
สงสัยต้องถอนคำพูด... ที่บอกว่าฝ่ายค้านอ่อนหัด! วันนี้ต้องยกนิ้วให้ "นิ้วโป้ง" ครับ ต้องยกให้ "ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.พรรคส้ม
'รัฐบาลฝึกงานฝ่ายค้านอ่อนหัด'
โหมโรงซักฟอกนายกฯ.... เลขที่ออก... ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย ๒๘ ชั่วโมง
อิทธิฤทธิ์ 'คนนอก'
อาการแบบนี้สงสัยใกล้จะยุบสภา.... "ทักษิณ" คิด เพื่อไทยทำตามไม่ทันแล้วครับ
ต้องชำแหละ 'ทักษิณ'
เรียบร้อยครับ... ฝ่ายค้านแก้ไขข้อความในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร จาก "ทักษิณ ชินวัตร" และคำว่า "ผู้เป็นบิดา" ออก
ฉีกหน้ากากอเมริกา
ข่าวใหญ่สัปดาห์ก่อน... เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเผยแพร่แถลงการณ์ของ "มาร์โก รูบิโอ" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ