เพื่อไทยตัดสีน้ำเงิน

ช่วงนี้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษ
วานนี้ (๒๑ ตุลาคม) เห็นประชาธิปัตย์เปิดฟลอร์โดย "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" นายหัวเมืองลุง บ่นน้อยใจใครในพรรคมิทราบได้
-------
...ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มา ๒๗ ปี เป็น ส.ส. ๘ สมัย เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ๓ สมัย ยาวนานที่สุดในประวัติของพรรค เป็นรัฐมนตรี ๑ ครั้ง ถูกฟ้องเพราะออกมาปกป้องพรรค ๑๒ คดี
ผมไม่อาจพูดได้ว่ารักพรรคมากกว่าใคร แต่พูดได้ว่าผมรักพรรคไม่น้อยกว่าใคร จะทำอะไรก็ให้เกียรติกันหน่อย หรือวันนี้ไม่รู้จักคำว่า "ให้เกียรติ" กันแล้ว ถ้าอย่างนั้น อยากจะทำอะไรก็ทำไปเถอะครับ....

"เราเสีย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ.. เสียกรณ์ จาติกวณิช ไปแล้ว.. มันคุ้มหรือครับกับการที่จะเสียต่อไปอีก..ถ้าคุ้มก็ทำไป"....
-------
ฟังดูก็หนักหนาอยู่ เพราะประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เลือกตั้งเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ สูญเสียกำลังพลสำคัญไปมากพอควร
ประชาธิปัตย์ผ่านการแตกแล้วหลอมรวมใหม่หลายครั้ง เช่นกรณี กลุ่ม ๑๐ มกรา ที่ "เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์" อดีตเลขาธิการพรรคช่วงปี ๒๕๓๐ และ วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น แตกพ่ายออกมาจากการเลือกหัวหน้าพรรค
กลุ่ม ๑๐ มกรา เสนอชื่อ "เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์"
ส่วนกลุ่มนายหัวชวน หลีกภัย เสนอชื่อ "พิชัย รัตตกุล"
๑๐ มกรา พ่ายแพ้ ยกพวกลาออก กลุ่มวาดะห์ กระทั่งปี ๒๕๓๑ ตั้งพรรคใหม่ชื่อ "พรรคประชาชน" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ระหกระเหินไปอยู่กับ "พ่อใหญ่จิ๋ว" ใต้ชายคา พรรคความหวังใหม่
แต่ประชาธิปัตย์ก็เหมือนแมวเก้าชีวิต ล้มแล้วลุกได้มาตลอด แม้ช่วงหลังลุกขึ้นมาแบบไม่เต็ม ๑๐๐ ก็ตาม เพราะกว่ายี่สิบปีมาแล้วที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งในฐานะ พรรคอันดับหนึ่งเลย
ครั้งสุดท้ายที่ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคอันดับ ๑ คือ การเลือกตั้ง ๑๓ กันยายน ๒๕๓๕
เลือกตั้งคราวนั้นประชาธิปัตย์ได้ ๗๙ ที่นั่ง
ตามด้วย ชาติไทย ๗๗ ที่นั่ง
และชาติพัฒนา ๖๐ ที่นั่ง
คราวนั้นหากพี่เขยน้องเมีย ประมาณ อดิเรกสาร-ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่แตกกัน เป็นชาติไทย-ชาติพัฒนา ประชาธิปัตย์คงไม่ได้อันดับหนึ่ง
มาคราวนี้ "นายนิพิฏฐ์" โวยวาย สาเหตุก็มาจากเรื่องเก่า
คือความขัดแย้งมาจากการเลือกหัวหน้าพรรค ต่างยุคต่างสมัย
ที่เน้นพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันทางการเมือง
ใครไป ใครอยู่ ก็ยังเป็นประชาธิปัตย์ ไม่มีนายทุนชี้นิ้ว ไม่ใช้พรรคของตระกูลการเมือง
ปัจจุบันยังเป็นแบบนั้นหรือไม่ คนในต่างรู้ดี
แต่...วันนี้พรรคเพื่อไทยน่าสนใจกว่า
พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนโลโก้ จากเดิมใช้สี น้ำเงิน แดง ขาว ล้อกับธงชาติไทย เหลือพื้นแดงฉาน กับอักษรสีขาว
ตัดสีน้ำเงินออกไป
ตีความกันเยอะครับ แต่ก็ไปว่าใครไม่ได้ เพราะเมื่้อครั้งก่อตั้งพรรคไทยรักไทย มีการอธิบายว่าใช้อักษร “ท.ทักษิณ” และแถบสีของธงชาติไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล
โลโก้พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ก็ล้อมาจากไทยรักไทย
มีสามสี น้ำเงิน แดง ขาว
ต้นคิดการเปลี่ยนโลโก้และสีพรรคเพื่อไทยล่าสุดนี้ น่าจะมาจากทีมกลุ่มแคร์ ที่ใกล้ชิด "ทักษิณ"
"ภูมิธรรม เวชยชัย" อธิบายเรื่องนี้ว่า
"เราต้องการเปลี่ยนลุคส์ใหม่ของพรรค เพราะในโลโก้ เสื้อ และแผ่นป้ายต่างๆ ของพรรคมีสีอื่น ซึ่งมีหลายพรรคการเมือง และมีบางคนบางส่วนไปลอกเลียนแบบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ เราก็เลยอยากจะเปลี่ยนลุคส์ให้มีสีที่สดใสขึ้น เพื่อสะท้อนถึงความเฟรช ความสดใหม่มากขึ้น นอกจากนี้สีแดงก็เป็นสีที่สะท้อนจิตวิญญาณของพรรคเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนตัวหนังสือที่ทำเป็นตัวเขียนก็เพื่อให้เป็นการสื่อสารที่ดูง่าย สบายๆ ไม่เป็นทางการมาก แต่ทำให้รู้สึกว่าใหม่"
แต่ก็ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าทำไมถึงเอาสีน้ำเงินออกไป
ที่จริงไม่ได้จับผิดอะไร แค่อยากรู้ความคิดของนักการเมืองพรรคนี้ว่า มีความเห็นถึงองค์ประกอบเด่นของประเทศไทยตามเฉดสี น้ำเงิน แดง ขาว พระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา อย่างไร
สงสัยจึงต้องตามไปดูความคิดของพรรคเพื่อไทยที่เว็บไซต์พรรค https://ptp.or.th/
พบมีนโยบายหลัก ๑๕ ข้อ ดังนี้
(๑) พัฒนาและปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายและมีบทบาทสำคัญ เพื่อให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและยั่งยืน
(๒) สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในคุณค่าและวัฒนธรรมประชาธิปไตย อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีอิสรเสรีในการคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างด้วยสันติวิธี
(๓) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่เป็นธรรม รัฐมีบทบาทสนับสนุนและสร้างสภาวะที่เอื้อให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ และใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ
(๔) สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตเต็มศักยภาพอย่างมีเสถียรภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการผูกขาด ขจัดความยากจน สร้างรายได้ ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีการกระจายทรัพยากรและรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
(๕) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนและของประเทศในทุกมิติ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีคุณภาพทักษะและมีสมรรถนะในการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้ได้มาตรฐานโลก ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง สร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมเพียงพอเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถด้านการคมนาคมขนส่ง ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
(๖) พัฒนาระบบราชการและการบริหารภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ มีขนาดที่เหมาะสมกับภารกิจ มีธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้ตรวจสอบ ยกเลิกกฎหมายและระบบการอนุมัติ อนุญาต ที่เป็นอุปสรรคในการทำมาหาเลี้ยงชีพและการประกอบธุรกิจของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจังและชัดเจนในทุกด้าน
(๗) สร้างโอกาสอย่างเสมอภาคให้ประชาชนในการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทุน ที่ดินทำกิน สวัสดิการ และการบริการที่มีคุณภาพจากภาครัฐ
(๘) เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้ภาคการผลิตและบริการ นำสังคมไทยเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโลก ยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ใช้ปัญญาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ยกระดับรายได้จากการท่องเที่ยวโดยการทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก
(๙) ยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะที่มีคุณภาพมาตรฐานโลกตลอดชีวิต มีแรงงานที่มีทักษะและสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศและของโลกอย่างเพียงพอ
(๑๐) พัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง คนไทยมีหลักประกันด้านสุขภาพ ได้รับบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง
(๑๑) เตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมการดึงแรงงานสูงวัยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยบูรณาการเข้ากับแรงงานปกติ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงของผู้สูงวัย
(๑๒) สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการบริหารงานภาครัฐทุกระดับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
(๑๓) ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
(๑๔) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศอื่นๆ ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและคนไทย รวมทั้งเพิ่มพูนบทบาทที่สร้างสรรค์และโดดเด่นของไทยในเวทีโลก
(๑๕) อุปถัมภ์ คุ้มครองและทำนุบำรุงศาสนา ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา เพื่อนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตมากขึ้น
ก็ยังดีครับที่พูดถึง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่างกับพรรคก้าวไกล ไม่มีนโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย นอกจากบีบบังคับสังคมให้ปฏิรูปตามความคิดของตนเองเพียงฝ่ายเดียว
แต่...นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีการพูดถึง นโยบายปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด
การเปลี่ยนสีโลโก้พรรคอาจไม่เกี่ยวอะไรกันเลยก็ได้
แต่นโยบายหลักที่พูดถึงประชาธิปไตย โดยไม่มีคำว่า อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อท้าย
ยังต้องการคำอธิบายอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ