'หมอธีระ' ชี้สถานการณ์โควิดโลกแบ่งเป็น 3 ก๊ก

'นพ.ธีระ' เผยสถานการณ์โควิดโลกยามนี้แบ่งเป็น 3 ก๊กโดยสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เปิดผลวิจัยเมืองมะกันชี้โอมิครอนแม้รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เก่า แต่หากไม่ฉีดวัคซีนก็มีโอกาสหนักถึงตายได้

21 ธ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 428,907 คน ตายเพิ่ม 802 คน รวมแล้วติดไป 658,632,418 คน เสียชีวิตรวม 6,674,650 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และฮ่องกง เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.32 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.17

...สามก๊กในถ้วยซุปสายพันธุ์...
Gerstung M จากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี สรุปลักษณะการระบาดในปัจจุบันทั่วโลก ยืนยันให้เห็นปรากฏการณ์ "ซุปสายพันธุ์ (variant soup)" ซึ่งถือเป็นระลอกที่มีการระบาดโดยมีหลากหลายสายพันธุ์ของไวรัส แตกต่างจากระลอกก่อนๆ ที่มักมีตัวหลักที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น D614G อัลฟา เดลตา BA.1/2 และ BA.5

ขณะนี้ Omicron มีการกลายพันธุ์ไปกว่า 500 สายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มระบาดจริงจังในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซุปสายพันธุ์ถ้วยนี้ หากวิเคราะห์ดูจะพบว่ามีไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่แย่งกันระบาดทั่วโลก โดยมีตัวนำอยู่ประมาณ 3 ก๊กที่ดูจะไม่ค่อยน้อยหน้ากว่ากันนัก ได้แก่ BQ.1.x, XBB.x, และ BA.2.75.x

BQ.1.x ครองฝั่งตะวันตกของโลก
XBB.x ครองฝั่งตะวันออกของโลก
และ BA.2.75.x มีชุกชุมอยู่ในหลากหลายประเทศ ค่อนข้างกระจาย
โดยที่สายพันธุ์ที่ครองการระบาดเดิมอย่าง BA.5 ถูกเบียดลดสัดส่วนลงไปอย่างต่อเนื่อง

...อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราการขยายตัวของการระบาด BQ.1.1 คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกิดการระบาดวงกว้างมากขึ้นในฝั่งตะวันออกของโลกได้ในอีกไม่นาน

...อัพเดตความรู้โควิด-19
"Omicron นั้นไม่ได้อ่อนกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม"
หลายคนคงคุ้นเคยกับวาทกรรมว่า Omicron is mild จนทำให้เข้าใจว่าเป็นหวัดธรรมดา หรือกระจอก
แต่รอบปีที่ผ่านมา เราเห็นกันชัดเจนว่าสายพันธุ์นี้ แม้จะทำให้โอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ก็มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ป่วยและตายจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากมีสมรรถนะที่แพร่ได้เร็วขึ้นง่ายขึ้นมาก และดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิม

ล่าสุด Robinson ML และทีมงานจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิจัยประเมินอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 แห่งในฝั่งตะวันออกของประเทศ
โดยเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา และ Omicron

สาระสำคัญคือ พบว่าในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้น แม้ Omicron จะทำให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตน้อยกว่าเดลตาราว 28% แต่มีอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตพอๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิม ส่วนคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว หากป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล โอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะลดลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็ตาม

...ผลการศึกษานี้จึงช่วยชี้ให้เราเห็นว่า Omicron นั้นแม้จะดูอ่อนกว่าเดลตา แต่ความรุนแรงพอๆ กับสายพันธุ์ดั้งเดิม ไม่กระจอก การฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ด้วยดังที่เคยนำเสนอข้อมูลวิชาการมาให้ทราบมาหลายครั้งแล้ว

...ปัจจุบันไทยยังมีการติดเชื้อแต่ละวันจำนวนมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง
Robinson ML et al. Impact of SARS-CoV-2 variants on inpatient clinical outcome. Clinical Infectious Diseases. 19 December 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอชี้แม่รับวัคซีนโควิด-19 ครบเข็มกระตุ้น ช่วยลดความเสี่ยงทารกป่วย

แม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จนครบเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่ทารกจะป่วยเป็นโควิดจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วง 4 เดือนแรกหลังคลอดได้ 53%

ผลวิจัยชี้ Long COVID จะทำให้ลางานมากกว่าปกติ 1.4 เท่า

'หมอธีระ' เผยแดนกิมจิยังคองแชมป์ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดใหม่สูงสุด ชี้ผลวิจัย Long COVID เมืองผู้ดีที่ศึกษาประชากร 2 แสนรายพบผู้ป่วยจะมีปัญหาลางานมากกว่ากว่าปกติ 1.4 เท่า

'หมอธีระวัฒน์' ยันเดินวันละ 10,000 ก้าวมีประโยชน์ไม่มั่วนิ่ม

'หมอธีระวัฒน์' ยันเดินวันละหมื่นก้าวมีผลงานวิจัยยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงว่ามีประโยชน์ แม้ไม่ถึงก็ยังดี เพราะยิ่งเดินเพิ่มก็ช่วยสร้างสุขภาพให้ตัวเองโดยไม่ต้องเข้าฟิตเนส

อาจารย์หมอจุฬาฯ ย้ำเตือนผลระยะยาว Long COVID ติดเชื้อต้องระวัง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ผลการสำรวจผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงกุมภาพันธ์ 2563 ถึงพฤศจิกายน 2564 จำนวน 502 คนพบว่าส่วนใหญ่กว่า 80% เคยติดเชื้อโดยป่วยมีอาการน้อย (86.4%)

'หมอดื้อ' ยกหลักฐานการศึกษาตั้งแต่ปี 2560 ชี้การอักเสบส่งผลต่อร่างกายและสมอง

'หมอธีระวัฒน์' ยกหลักฐานชี้การอักเสบเรื้อจะมีผลกระทบต่อร่างกายและสมอง แนะใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือหยุดสูบบุหรี่ไม่เช่นนั้นเมื่อรวมกับ PM2.5 จะเกิดการอักเสบเหมือนตายผ่อนส่ง

'หมอยง' ชี้หลักวิวัฒนาการทำความรุนแรงโควิด19 ลดลงแต่ มิ.ย.นี้กลับมาแน่!

'หมอยง' ตอกย้ำโควิด-19 ไม่มีการกลายพันธุ์ใหม่ๆ ซ้ำความรุนแรงก็ลดลงตามหลักวิวัฒนาการ แต่เชื่อเดือน มิ.ย.จะกลับมาพบผู้ป่วยมากอีกครั้งหนึ่ง