ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เฮลั่น! ศาลยกฟ้องคดีเอกชนขับไล่ 15 ราย จี้เพิกถอนเอกสารสิทธิมิชอบ

แฉดีเอสไอ-อุทยานประสานเสียงให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิไม่ถูกต้องบนเกาะหลีเป๊ะ แต่ไม่มีคำตอบเป็นเหตุให้เอกชนเดินหน้าสร้างรีสอร์ทหรู ชาวอูรักลาโว้ยโล่ง ศาลยกฟ้อง 15 ราย กสม.ลงพื้นที่สำรวจบาฆัด-สุสาน

25 ม.ค.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ได้สั่งการให้ดำเนินคดีกับรีสอร์ทหรู2-3 แห่งที่ปลูกสร้างบนที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยเอกชนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินน.ส.3 แปลงที่ 11 แต่เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมอุทยานฯ ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่ได้อยู่ใน น.ส.3 เลขที่ 11

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการรายงานของดีเอสไอที่ส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบสอบข้อมูลฯ ระบุว่า การตรวจสอบที่ดินแปลงที่ 11 พบว่ามีความคลาดเคลื่อนด้านตำแหน่งและเนื้อหา ประกอบกับการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2493 พบว่ามีการทำประโยชน์ไม่เต็มแปลงพื้นที่ บางส่วนยังมีสภาพเป็นป่าชายหาด ป่าดิบชื้นและทุ่งหญ้าธรรมชาติ ดีเอสไอจึงเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เช่นเดียวกับกรมอุทยานฯ ก็ได้เคยส่งเรื่องให้กรมที่ดินจำหน่ายแบบการแจ้งครอบครองที่ดิน ส.ค.1 และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.3 มาแล้วหลายครั้ง แต่ปัจจุบันกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด

นายพันธ์พงศ์ คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กล่าวว่า อุทยานฯ เคยดำเนินคดีกับเอกชนที่บุกรุกที่ดินอุทยานฯ ไปแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นตนยังไม่ได้ย้ายมา โดยตอนนั้นเขาได้สร้างรากฐานของรีสอร์ท อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่แล้วได้มีการสร้างรีสอร์ทแห่งใหม่อีก อุทยานฯ จึงได้ดำเนินการจับกุมและดำเนินคดี โดยขณะนี้เจ้าของรีสอร์ทได้ร้องขอความคุ้มครองจากศาลปกครอง

ด้านนายยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอเมือง จ.สตูล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้สั่งการให้มีการสำรวจและพิสูจน์ลำรางสาธารณะและเส้นทางดั้งเดิมของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ว่าขณะนี้ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรกดูเอกสารแผนที่ต่างๆ ที่หน่วยงานอื่นถืออยู่ หากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนกับเส้นทางหรือลำรางสาธารณะก็ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ส่วนคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งให้มีหน้าที่สอบสวนเชิงประชาคมกับชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีลำรางสาธารณะและทางเดินดั้งเดิมอยู่จริงหรือไม่ อย่างไร โดยสั่งการให้ทำอย่างเร็วที่สุดเพื่อรายงานไปยังคณะกรรมการสอบสวนชุดพล.ต.อ.สุรเชษฐ์

“เราต้องไปหาหลักฐานของแต่ละหน่วยงาน เพราะอำเภอไม่มีภาพถ่ายที่บอกว่ามีลำรางสาธารณะบนเกาะหลีเป๊ะ และเข้าใจว่าบางจุดที่ชาวบ้านร้องเรียน ตอนนี้กลายเป็นรีสอร์ทไปแล้ว เราจะไปยกเลิกหรือแจ้งอะไรเขาก็ไม่ได้ ทำได้คือต้องพิสูจน์โดยการย้อนไปดูแผนที่เดิม หลักๆ ก็ต้องกลับไปที่กรมที่ดิน ว่าออกเอกสารสิทธิถูกต้องหรือไม่”นายยาลา กล่าว

ขณะที่นายภูวนาถ บัวเนียม ทนายความของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เปิดเผยว่าในวันเดียวกันนี้ศาลแพ่งจังหวัดสตูล ได้อ่านคำพิพากษากรณีที่เอกชนฟ้องชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ 15 ราย เพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่บนที่ดินแปลงที่ 11 โดยศาลระบุว่าเอกชนไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย เพราะชาวบ้านต่างยืนยันกันว่าทุกคนอยู่มาก่อน และเมื่อมีการสืบพยาน โจทย์ไม่สามารถอธิบายให้ชัดเจนถึงที่มาของการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งศาลมองว่าเป็นการออกทับที่ดินชาวบ้านที่อยู่มาก่อน จึงยกฟ้องทั้ง 15 ราย

นางพรนิภา คันทิก ชาวเล 1 ในผู้ตกเป็นจำเลย กล่าวว่า ตนและชาวบ้านทั้งหมดต่างรู้สึกดีใจมากที่ศาลยกฟ้อง โดยบ้านที่ตนอาศัยอยู่เป็นบ้านเดิมที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่เคยอยู่ซึ่งบรรพบุรุษของตนเป็นชาวเลกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ พร้อมกับโต๊ะฆีรี

“เราอยู่มากันมานาน แต่จู่ๆ เมื่อปี 2564 เขามาฟ้องขับไล่ พวกเราจึงสู้คดีในศาล เพราะที่นี่เป็นที่ที่พวกเราอยู่มาก่อน เรามีทะเบียนบ้าน มีประวัติเคยเรียนหนังสือที่นี่ตั้งแต่รุ่นแม่ พวกเราชาวเลรู้สึกดีใจมาก ที่ยกฟ้อง” นางพรนิภา กล่าว

ด้านนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะ ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียน โดยนางปรีดากล่าวว่า เมื่อตอนที่กรมอุทยานฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ตามมาตรา 64/65 ตาม พรบ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ แต่ชาวเลร้องเรียนมายัง กสม.ว่า บาฆัด (พื้นที่ทำมาหากินตามวิถีของชาวอูรักลาโว้ย รวมทั้งเพิงพักชั่วคราว) พื้นที่จิตวิญญาณ เช่น สุสาน ไม่ได้รับการสำรวจจากอุทยานฯ ภายใน 120 วัน ดังนั้น กสม.จังได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานให้กรมอุทยานฯ ศูนย์ดำรงธรรม และชาวเล ร่วมกันสำรวจ

นางปรีดากล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาตนและคณะ ได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่บาฆัดและสุสานย่านเกาะราวี และในวันเดียวกันนี้ได้มีการสำรวจบริเวณเกาะต่างๆ พบว่ามีบาฆัดและสุสานทั้งหมด 178 จุด โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอเป็นรายงานส่งไปยังรัฐบาล

“บนเกาะราวี เคยมีหมู่บ้านชาวเลอาศัยอยู่ มีต้นมะพร้าวใหญ่ มีแหล่งน้ำจืด แต่ชาวบ้านถูกย้ายมาอยู่เกาะหลีเป๊ะ สิ่งที่เราจะเสนอในรายงาน คือเรื่องสิทธิดั้งเดิมของชาวเลเพราะเขาเคยทำมาหากินมานาน รวมไปถึงเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต้องเป็นไปตามหลักกติกาสากลและรัฐธรรมนูญ คิดว่าควรทำเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวหลีเป๊ะ” นางปรีดา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เผย ก.ตร. มีมติส่งคำร้อง 'บิ๊กโจ๊ก' ให้ฝ่ายวินัยพิจารณาอีกรอบ ปมสั่งช่วยราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 3/2567 ว่า วันนี้วาระสำคัญของการประชุมนอกจากแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ยังมีเรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด ทั้งที่มีต่อตนในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ตร.

คกก.สอบ 2 บิ๊กตำรวจ ยอมรับเชิญ 'บิ๊กต่อ' ให้ถ้อยคำแล้ว นัดแถลงทุกประเด็นสัปดาห์หน้า

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

'บิ๊กต่าย' แจงตั้ง 'สราวุฒิ' ใกล้เกษียณสอบวินัย 'โจ๊ก' หากไม่ทันเตรียมใช้แผนสอง

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่จะมีการประชุมข้าราชการตำรวจช่วงบ่ายวันนี้ ว่า จะมีการนำประเด็นเรื่องร้องเรียนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

ชุดสอบ 'โจ๊ก' กับพวกผิดวินัยร้ายแรง-ออกจากราชการไว้ก่อน ยืนยันไม่มีใครชี้นำได้

พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมพวกรวม 5 คน ทำผิดวินัยร้ายแรงจนถูกออกจากราชการไว้ก่อน