พ่อค้าโค-กระบือชายแดนแม่สอด เดือดร้อนหนัก นัดชุมนุมประท้วงกรมปศุสัตว์

ผู้ประกอบการนำเข้าสัตว์และเกี่ยวเนื่องจากการนำเข้าสัตว์จากประเทศพม่าสู่ไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพ่อค้าโค กระบือ แพะ แกะ, กลุ่มรถขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ,กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรผู้อัดฟางก้อน ออกแถลงการณ์เชิญชวนสมาชิกกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งโค กระบือ แพะ แกะ จากประเทศเมียนมาร์ 5 ฉบับ รวมระยะเวลากว่า 13 เดือน เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 11 มีนาคม 2567 หน้าด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ในเวลา 10.00 น. เป็นต้นไปเพื่อเรียกร้องให้กรมปศุสัตว์พิจารณาหาทางแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นโดยจะชุมนุมกันอย่างสงบ แต่ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบจะยกระดับการชุมนุมต่อไป

4 มี.ค.2567 - นายอานัส แสนพรม กลุ่มผู้ประกอบการค้าขายโคกระบือ เปิดเผยว่า ประกาศชะลอการนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ ฉบับที่ 4 ของกรมปศุสัตว์ ครบกำหนดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะไม่มีประกาศยกเลิกการนำเข้าแล้วยังมี ประกาศฉบับที่ 5 ให้ชะลอต่อไปอีก 3 เดือน ทำให้ผู้ค้าหลายคนเดือดร้อนไม่มีรายได้ ต้องขายบ้าน จำนำรถ กู้หนี้ยืมสินกันจนไม่มีเงินส่งแล้ว

“ปัญหาคือรัฐบาลสั่งปิดชายแดน ทำให้พ่อค้าโค กระบือ เกี่ยวกับรถบรรทุกการขนส่ง หลายกลุ่มได้รับผลกระทบ การชุมนุมในวันที่ 11 มีนาคมนี้ ข้อเรียกร้องของกลุ่มยังเหมือนเดิมคือให้ยกเลิกการชะลอนำเข้า และขอวันที่จะเปิดด่านชายแดนแน่นอนเพื่อให้วัวนำเข้ามา” นายอานัส กล่าว

โดยก่อนหน้านี้เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทางผู้ค้าผู้ประกอบการชายแดนแม่สอด เคยชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏ จ.ตาก ซึ่งครั้งนั้นผู้ว่าราชการ จ.ตาก ขอให้กลุ่มผู้ค้าเลิกชุมนุมก่อน แล้วภายใน 2 สัปดาห์จะหาทางพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่เป็นผล

ส่วนเหตุผลที่กรมปศุสัตว์ประกาศชะลอการนำเข้าเนื่องจากวัวฝั่งพม่ามีโรคระบาดนั้น กลุ่มผู้ประกอบการค้าขายโค กระบือ ตั้งคำถามว่า ตลอดเวลากว่า 1 ปี ที่ไม่มีการนำเข้าวัวมาเลย ตอนนี้จะยังมีโรคระบาดอยู่ได้อย่างไร

“กรมปศุสัตว์อ้างว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าไปตรวจการระบาดในวัวที่ฝั่งพม่ามีหลักฐานในการไปตรวจหรือเปล่า เพราะเขายิงกันไม่มีใครกล้าเข้าไปสำรวจแน่นอน แล้ววัวที่ประเทศพม่าไม่มีโรค มาเกิดโรคที่ประเทศไทย ต้องมีการฉีดวัคซีนและกักกันโรคอีก 28 วัน จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ผมเป็นพ่อค้าคนกลาง ซื้อมาขายไป พอไม่มีวัวเราก็ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ ตอนนี้ติดลบหมด ปิดด่านแม่สอดไม่ให้นำโค กระบือ แพะ แกะ เข้ามาเราก็ไม่ได้ทำงานเลย ติดหนี้หลายเจ้า ที่รัฐบาลบอกว่าจะทำให้วัวในประเทศไทยราคาขึ้นมันก็ไม่ใช่ เพราะปิดมา 1 ปีแล้ว ราคาร่วงหนักกว่าเก่าอีกจากกิโลกรัมละ 80 กว่าบาท ตอนนี้เหลือ 70 กว่าบาทเอง”นายอานัส กล่าว

นายอานัสกล่าวว่า เมื่อวัวชายแดนพม่าปิดคนซื้อต่างประเทศก็ไม่เข้ามาไทย การซื้อขายก็น้อยลง คนต่างประเทศก็ไม่อยากจะซื้อ ขายได้น้อยลง คนเลี้ยงก็ขาดทุนกันเยอะ ต้องขายกับพวกพ่อค้าเขียง เขียงก็กดราคาเพราะทำได้น้อยลง คนกินในประเทศไทยก็น้อยลง แต่ถ้าวัวพม่าเข้า พ่อค้าต่างประเทศเข้า วัวพม่าไม่พอกับความต้องการของพ่อค้าต่างประเทศก็เอาวัวผสมบราห์มันติดไป พอได้กระจายออกไปราคาก็จะดีขึ้นเป็นวงจรตลาด กรณีการนำวัวไปสวมโสร่ง ในอดีตเคยมีการนำวัวพม่ามาสวมหูประเทศไทยแล้วส่งออก แต่ตอนนี้จะมีแค่บางกลุ่มที่ลักลอบเข้ามา ไม่รู้จากชายแดนไหนบ้างทั้งแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง แม่สลิด มีหลากหลายพอเข้ามาก็มาขอแปลงเป็นไทย บางทีก็มาสวมเบอร์หูแล้วย้ายออกไป ที่เขาทำเพราะแย่กันหมดแล้วเลยลักลอบเข้ามา

ด้านความเดือดร้อนของผู้ค้าผู้ประกอบการชายแดนแม่สอด นายอานัส กล่าวว่า มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งกิจการขนส่งขับรถบรรทุก ซึ่งทำให้ต้องขายรถกันไปหลายคันพ่วง ผู้ประกอบการฟางอัดก้อนก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีลูกค้า ในส่วนการชุมนุมของกลุ่มผู้ค้าและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งชะลอการนำเข้าของกรมปศุสัตว์ วันที่ 11 มีนาคมนี้ ผู้ประกอบการค้าขายโค กระบือ แพะ แกะ กล่าวว่าจะมีการปิดถนนเรียกร้องสิทธิเท่านั้น และจะปิดถนนจนกว่าจะเปิดด่าน

“ปิดถนนอย่างต่ำๆก็เป็นวัน ถ้าไม่ได้จริงๆก็จะไปตรงสะพาน 1 สะพาน 2 ผู้สัญจรทางถนนตรงนั้นจะได้ไม่ต้องรับผลกระทบ ถ้าปิดสะพานเราปิดตายเลย แบบไม่ต้องเข้าออกกันเลย ใครก็ได้ที่มีความสามารถสั่งเปิดปิดด่านได้ให้มาคุยกับเรา มันนาน 1 ปีแล้ว และยังต่อออกไปอีก ผมก็ไม่รู้ว่าสาเหตุหลักๆที่ต้องระงับการนำเข้าด่านแม่สอดมันเป็นเพราะอะไร ที่ในไทยบอกกันว่าราคาเนื้อตกต้องดูหลายสาเหตุ ไม่ใช่นำเข้าจากพม่าเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะเนื้อกล่องหรือการบริโภคในประเทศ” นายอานัส กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ์ นิลนนท์ ผู้ประกอบการธุรกิจฟางอัดก้อน จ.สุโขทัย ,พิษณุโลก ,,อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร กล่าวถึงผลกระทบจากการปิดด่านแม่สอด ชะลอการนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ เนื่องจากทำธุรกิจฟางอัดก้อนใน 3-4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง รับซื้อฟางจากชาวนาที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วให้มีรายได้บ้าง ลดการเผาฟางตอซัง

“ในส่วนผู้ประกอบการฟางอัดก้อน ฟางส่วนใหญ่ใน 3-4 จังหวัดตรงนี้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปส่งที่แม่สอดหมด เพราะมีท่ากักกันสัตว์ วัวควายที่ข้ามมาจากฝั่งพม่าก็ต้องเอามากักกันโรคก่อน 28 วัน อาหารที่จะเลี้ยงก็คือฟางเป็นหลัก ท่ากักกันที่แม่สอดมีประมาณ 10 กว่าแห่ง ที่ผมส่งอยู่ท่าหนึ่งก็มีสัตว์ประมาณ 3,000-4,000 ตัว มันใช้จำนวนเยอะ เกษตรกรที่นี่มีอาชีพอัดฟางกันแล้วเอาขึ้นไปส่งแม่สอด พอชายแดนปิดเราได้รับผลกระทบเต็มๆ ไม่ใช่ปิดแค่ 1-2 เดือน ตอนนี้ 13 เดือนกว่าแล้ว เกษตรกรด้านล่างก็ไม่รู้จะทำยังไงกัน” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ในขณะที่กรมปศุสัตว์ระบุว่าต้องปิดด่านแม่สอดเพราะโรคระบาด นายพิเชษฐ์ ยอมรับว่ามีจริงแต่จะมีเป็นช่วงๆ

“ถ้าปากเปื่อยเท้าเปื่อยจะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งด่านก็ปิดทุกปีอยู่แล้วประมาณ 1 เดือน เราก็ไม่ได้มีปัญหาเข้าใจได้ ในมุมมองของผมคิดว่าการอ้างแบบนี้มันไม่น่าใช่ เพราะวัวควายข้ามมาก็ต้องกักโรค 28 วัน ทำวัคซีน เท่าที่รู้มาถ้าวัวตัวไหนมีเชื้อเยอะๆ 1 สัปดาห์อาการก็ออกแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร” นายพิเชษฐ์ กล่าว

เรื่องความเดือดร้อนจากการปิดด่านนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจฟางอัดก้อน กล่าวว่า คนอื่นมักคิดถึงผู้ประกอบการเดือดร้อน แต่จริงๆแล้วคนที่อยู่ข้างหลังตั้งแต่ผู้ค้าอาหารสัตว์ ทำฟางก้อน กลุ่มรับจ้างทั่วไป กลุ่มรถบรรทุก รวมถึงเกษตรกร

“มันเป็นวงกว้าง แต่ถ้าถามผมว่าสาเหตุก็ต้องพูดถึงที่เขาบอกในหนังสือคือปากเปื่อยเท้าเปื่อย วัวพม่าไม่ได้รับรองจากองค์การอนามัยโลก ผมก็ไม่เข้าใจระบบราชการของเขา คราวที่แล้วเราก็ชุมนุมกันไปรอบหนึ่งแล้ว เขาก็ขอเวลา 2 สัปดาห์จะจัดการให้ สลายการชุมนุมก่อนได้ไหม ตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2566 จนถึงตอนนี้” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากกรมปศุสัตว์ยังคงให้มีการชะลอนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ ด่านแม่สอดต่อไป นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า คงต้องหมดเนื้อหมดตัว

“คนที่สายป่านยาวก็อาจจะเปลี่ยนอาชีพได้ แต่ธุรกิจอัดฟางของผมมันก็ต้องลงทุน เครื่องอัดฟางถ้าซื้อใหม่ๆราคา 4 แสนกว่าบาท รถแทรคเตอร์มือสองอีก 1 คัน เกือบ 2-3 แสนบาท เครื่องมือขนก้อนฟางจากบริเวณนาขึ้นมาอีก บางคนไปซื้อรถบรรทุก 6 ล้อ หรือ 10 ล้อมารับจ้างขนฟางขึ้นไปส่ง กลุ่มพวกผมรถถูกยึดไปจะ 10 คันแล้ว ถามว่าจะเอาฟางไปขายที่อื่นในประเทศไทยได้ไหม ก็ได้ แต่มันโซนใครโซนมัน เราจะไปแย่งตลาดเขา มันก็เกิดการแข่งขัน ทำให้ค่าการตลาดเสียไป แล้วผมคุ้มกับการขนไปส่งหรือเปล่า” นายพิเชษฐ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา กำชับให้รอบคอบ ไม่ประมาท อย่ายุ่งเกี่ยวผลประโยชน์ในพื้นที่

พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เดินทางไปติดตามสถานการณ์ชายแดนไทยและเมียนมา ในพื้นที่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร โดยคณะได้รับฟังบรรยายสรุปการปฏิบัติภารกิจของหน่วย

'บ้านแม่ปอคี' จ.ตาก เตรียมจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองชุมชนกะเหรี่ยง

นายประหยัด เสือชูชีพ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่าในวันที่ 26 เมษายน 2567 ชุมชนบ้านแม่ปอคีจะจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัย

'ปานปรีย์' นำคณะเฉพาะกิจฯมาถึงแม่สอด ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประธานกรรมการเฉพาะกิจเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.)

'หมอมิ้ง' เผยนายกฯ ยกเลิกไปแม่สอด มอบ 'ปานปรีย์' ลงพื้นที่แทน

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา บริเวณชายแดนไทยว่า ในฐานะรัฐบาล เรากำหนดจุดยืนชัดเจนว่า 1.การสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกองกำลังติดอาวุธ จะไม่ให้มีการล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทย

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

‘ปานปรีย์’ ขีดเส้นชัดกองทัพทหารเมียนมาห้ามรุกล้ำอธิปไตยไทย

‘ปานปรีย์’ กำชับกองทัพทหารเมียนมา ห้ามรุกล้ำอธิปไตยและดินแดนไทย รวมทั้งห้ามมีลูกหลงการสู้รบมาฝั่งไทยด้วย เผย เตรียมประชุมวอร์รูมก่อนประชุม ครม. อังคารนี้ ก่อนนายกบินแม่สอด ติดตามสถานการณ์