เชียงใหม่แถลงภาพรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยฯ พร้อมปิดศูนย์ฯ แต่ทุกหน่วยยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนต่อ
16 ต.ค.2567 - นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่าทางจังหวัดพร้อมด้วยส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ หลังได้เปิดเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการบูรณาการของทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประสบอุทกภัยในตลอดห้วงที่ผ่านมาพร้อมกับการปิดศูนย์ฯ จากที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 5-14 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ไม่เคยประสบกับสาธารณภัยที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อน ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งจากสถานการณ์จากสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ตลอดจนทีมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และได้ประเมินสถานการณ์แล้วคาดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อเมืองเชียงใหม่ จึงได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนรับทราบเหตุการณ์ในเบื้องต้นและจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของจังหวัดในช่วงที่เกิดสถานการณ์ขึ้น
โดยตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์ฯ แห่งนี้ มีการจัดประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ ในเวลา 08.00 น. ของทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดราชการ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะรายงานผลการดำเนินงานและสถานการณ์ในพื้นที่รายวันให้กับทางจังหวัดฯ ได้รับทราบ และร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทั้งในเรื่องของสถานการณ์น้ำ การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในขณะเกิดสถานการณ์ การรับเรื่องร้องทุกข์ การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย การจัดตั้งศูนย์พักพิง ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การดูแลสุขภาพของประชาชน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือและการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนจนปัจจุบันสถาณการณ์น้ำได้คลี่คลายลงประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้แล้ว จึงได้ปิดภารกิจการดำเนินการของศูนย์ฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 67 แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะปิดศูนย์ฯไป แต่ทุกหน่วยงานยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนเช่นเดิมภายใต้บริบทของแต่ละหน่วยงาน เพียงแค่กลับไปทำงานยังที่ตั้งของตนเองเท่านั้น ไม่ได้หยุดการช่วยเหลือประชาชนแต่อย่างใด
หลังจากนี้จังหวัดเชียงใหม่จะเร่งเดินหน้าฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมาสะอาด สวยงามเหมือนเดิมให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจได้ตามปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการเก็บขยะตามข้างทาง กวาดล้างทำความสะอาดถนน ตรอก ซอย รวมถึงบ้านเรือนของประชาชน ควบคู่กับการดูแลสุขภาพจิตใจ สุขภาพร่างกายของประชาชนจากโรคที่มาจากน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ อบจ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับ อปท. ในพื้นที่ตลอดจนหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่มาจากต่างจังหวัด ได้ระดมรถน้ำ รถเก็บขยะ พร้อมกำลังพลเร่งทำความสะอาด ฉีดล้างถนนตามเส้นทางต่างๆ เพื่อช่วยระดมฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทางจังหวัดจะมีการนำมาถอดบทเรียนในระดับจังหวัด ตั้งแต่การแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ การแก้ไขปัญหาระหว่างเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ เพื่อประมวลผลการดำเนินงานตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา นำมาวางแผนในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เตรียมการป้องกันและรับมือเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์รุนแรงเช่นนี้ให้ดีขึ้น พร้อมทั้งนำข้อมูลเหล่านี้ไปเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำไปพิจารณาหามาตรการในการช่วยเหลือจังหวัดเชียงใหม่ในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ติดตามการถ่ายทอดผ่านเพจ PR Chiangmai ในการแถลงปิดศูนย์ฯดังกล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ประชาชนไม่ได้รับทราบหรือได้รับการช่วยเหลือจริงและการยืนยันข้อมูลการช่วยเหลือประชาชนของศูนย์ฯไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริงที่ประชาชนอีกจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลหรือช่วยเหลือระหว่างประสบภัย ส่วนมากเป็นกลุ่มจิตอาสากู้ภัยมาจากพื้นที่ต่างๆเข้ามาช่วยเหลือมากกว่า ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยืนยันว่า การช่วยเหลือไม่มีตกค้างและสมบูรณ์เกิน 95% โดยข้อเท็จจริงแล้วประชาชนไม่ได้รับรู้ข่าวสารจากศูนย์ฯดังกล่าว ที่ระบุว่ามีการประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวันแม้แต่สถานที่ของศูนย์ฯ ก็ยังไม่ชัดเจนการรับข้อร้องขอในการช่วยเหลือมีการตั้งศูนย์และเบอร์โทรศัพท์สายด่วน 1567 หรืออื่นๆ มีการติดต่อค่อนข้างลำบากแม้จะติดต่อได้แต่ก็เป็นเพียงการรับเรื่องเอาไว้ก่อนส่วนการติดตามช่วยเหลือไม่ได้เป็นตามที่มีการแถลง ซึ่งเกิดข้อพิพากษ์วิจารณ์กับการทำงานอย่างกว้างขวางว่า ข้อมูลที่มีการแถลงไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'มีนตรา อินทิรา' ร่วมสมทบทุน ช่วยผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้
นาทีนี้ชาวใต้กำลังประสบอุทกภัยอย่างหนัก เรียกได้ว่าลำบากไม่น้อย มีนตรา อินทิรา ศิลปินสาวจาก Gmm Music ก็ไม่รอช้า ถึงแม้ตัวเองจะมีคอนเสิร์ตทุกคืน ตัวไปไม่ได้แต่ก็ได้ส่งเงินร่วมสมทบทุนช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่
รมว.เกษตรฯ สั่งรวบรวมข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย 67 เตรียมพัฒนาส่งเสริมอาชีพ-ลดภาระหนี้สิน
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงความคืบหน้าภารกิจโครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 โดยเร่งสำรวจความเสียหายและรวบรวมข้อมูลเกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงวันที่ 14 ก.ค. 67 – 31 ต.ค. 67 รวม 59 จังหวัด
เชียงใหม่ช้ำ! ประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมกว่า 5 พันล้าน
เชียงใหม่หารือร่วม 4 จังหวัด พิจารณาข้อเสนอขอรับการสนับสนุนในการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบการและการเยียวยาประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จากมหาอุทกภัย
'ธีรรัตน์' ลงพื้นที่บ้านถ้ำผาจมสั่งเร่งฟื้นฟู
รมช.มหาดไทย ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการฟื้นฟูหมู่บ้านถ้ำผาจม กำชับเร่งเคลียร์พื้นที่ตลอดสองข้างทาง
นายกฯ อิ๊งค์สั่งแรงงงานเยียวยา 'ผู้ประกอบการ-ผู้ประกันตน' ที่เจอน้ำท่วมใน 41 จังหวัด
นายกฯ กำชับแรงงานดูแลผู้ประกอบการ-ผู้ประกันตน ม. 33 ,39,40 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมใน 41 จังหวัด มั่นใจเป็นส่วนหนึ่งเยียวยาผู้ประสบภัยได้อย่างตรงจุด
มูลนิธิ 'รักกัน เราทำได้' บริจาคเงินให้สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานมูลนิธิ “รักกัน เราทำได้” พร้อมด้วย พลเอกอุทัย ชินวัตร รองประธานกรรมการ และนายเหอ หนิง กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ “รักกัน เราทำได้” บริจาคเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้กับสภากาชาดไทย สำหรับนำไปใช้ในโครงการ “ธารน้ำใจ สู้ภัยน้ำท่วม” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย