เผยโฉม ‘สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5’ บึงกาฬ-บอลิคำไซ เชื่อมขนส่งไทย-สปป.ลาว

กรมทางหลวง โชว์‘สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5’บึงกาฬ-บอลิคำไซ มูลค่า 3.93 พันล้าน คืบหน้า 36.75% คาดก่อสร้างแล้วเสร็จ ม.ค. 67 หนุนการเดินทาง–ขนส่ง–ท่องเที่ยวเชื่อมไทย-สปป.ลาว

8 มี.ค.2565-รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่าในวันที่ 12 มี.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ และติดตามความก้่วหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) และโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สาย อ.โพนพิสัย-บึงกาฬ ตอน ต.หอคำ-บึงกาฬ จ.บึงกาฬ โดยมีนางนาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูลพร้อมด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม, รองปลัดฯ, อธิบดีกรมทางหลวง, อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ร่วมลงพื้นที่ในครั้งดังกล่าวด้วย

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสะพานมิตรภาพไทย–สปป.ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ–บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาทว่า โครงการฯ ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทย ระหว่าง กม.0+000-9+400 วงเงิน 831 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ธ.ค. 2565 จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 50.903% เร็วกว่าแผน 1.378%

ขณะที่ สัญญาที่ 2 ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่างๆ และถนนภายในด่าน ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 วงเงิน 883 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 2566 จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 41.366% ช้ากว่าแผน 2.733%

และสัญญาที่ 3 งาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+032.930 วงเงินรวม 1,263 ล้านบาท แบ่งเป็น ฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว วงเงิน 476 ล้านบาท โดยได้กู้เงินกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

ทั้งนี้โดยในส่วนของไทย เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 พ.ย. 2566 จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 18% ช้ากว่าแผน 2.77% ส่วนของ สปป.ลาว จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 25.21% เร็วกว่าแผน 8.11% สำหรับภาพรวมของโครงการนั้น ในขณะนี้ คืบหน้า 36.756% ช้ากว่าแผน 1.375%

สำหรับ การดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว คาดว่า จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งฝั่งไทย และ สปป.ลาว ภายใน ม.ค. 2567 จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ระหว่างไทย และ สปป.ลาว ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการบำรุงรักษาหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2567 หรือก่อนเทศกาลสงกรานต์ 2567

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ไทย และ สปป.ลาว อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เพื่อเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวบริเวณจุดก่อสร้างโครงการฯ (Free Zone) เพื่อขนย้านอุปกรณ์ และเครื่องจักรต่างๆ ได้อย่างสะดวก หรือเป็นเขตแดนเดียวกัน โดยคาดว่า จะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ภายใน มี.ค. 2565

รายงานข่าวจาก ทล. ระบุว่า โครงการสะพานมิตรภาพไทย–สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ–บอลิคำไซ) มีระยะทาง 16.18 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ถนนฝั่งไทยยาว 13 กม. และถนนฝั่งลาวยาว 3.18 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ฝั่งไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ

จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวง หมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร

โดยจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทาง จราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาวสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ลักษณะโครงการเป็นรูปแบบทางหลวง ถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร

ส่วนรูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงนั้น เป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด2 ช่อง มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตรและทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

สำหรับสะพานมิตรภาพไทย–สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ–บอลิคำไซ) ถือเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าแห่งใหม่ที่สะดวกสบาย กระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ จ.บึงกาฬ และเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว

นอกจากนี้ ยังมีมีความโดดเด่นด้วยงานสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ ซึ่งมีรูปแบบของโครงสร้างประยุกต์ โดยนำเสาหลักของสะพาน (Pylon) มาประยุกต์ ระหว่างสัจจะด้านโครงสร้าง และ “แคน” เครื่องดนตรีท้องถิ่นของลุ่มแม่น้ำโขง ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของประเทศไทย และ สปป.ลาว สื่อถึงความสนุก รื่นเริง เป็นมิตร ความคุ้นเคย และความเป็นกันเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บึงกาฬน้ำโขงทะลุ 12 เมตรสูงสุดในรอบ 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีมวลน้ำเหนือจากจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และน้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ ในฝั่ง ประเทศเพื่อนบ้านไหลลงมาสมทบทำให้เช้าวันนี้ระดับน้ำโขงทะลุ 12.05 เมตร

ฝนถล่มบึงกาฬ 2 วัน น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรหลายร้อยไร่

จังหวัดบึงกาฬเจอฤทธิ์ร่องมรสุมกำลังปานกลางที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ส่งผลให้ในพื้นที่มีฝนตกหนักติดต่อ 2 วัน จนมีมวลน้ำสะสมจำนวนมากไหลหลากเข้าท่ว

เฮ! ดร.สามารถ แจ้งข่าวดี กรมทางหลวงไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เฮ ! ทล. “ไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์”