สถานการณ์ ‘บิ๊กตู่’ ไม่เอื้อยุบสภา  สัญญาณลากยาว ‘ครบเทอม’ 

ทำเอาแตกตื่นกันทั่ว หลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สวมบท ‘หมอเดา’ ทำนายว่า ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะยุบสภาในก่อนวันที่ 24 ธันวาคม 2565 

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า วันที่ 24 ธันวาคม เป็นระยะเวลา 90 วันก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ฉะนั้น ส.ส.หลายคนอาจจะย้ายพรรคก่อนวันดังกล่าว เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อให้สามารถสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 

การที่ ส.ส.หลายคนที่ต้องการย้ายพรรคลาออก นพ.ชลน่านมองว่า อาจส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้ 

 “ส่วนตัวเชื่อว่าคิดว่ารัฐบาลจะยุบสภาก่อนครบวาระแน่นอน เพราะผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์สูงสุด เช่น หากยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งจะรักษาการได้ยาว หรือกรณีมีกฎหมายเลือกตั้งแล้ว จะสามารถคุมจังหวะจัดการเรื่องการย้ายพรรคของ ส.ส. และเตรียมความพร้อมสำหรับพรรคการเมืองของตัวเองได้มากกว่าใคร” 

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันอย่างมากเรื่องระยะเวลา 90 วัน เพราะโดยข้อเท็จจริง ต่อให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบเทอมถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่วันที่ 24 ธันวาคม 2565 ก็ไม่ใช่วันสุดท้ายที่ ส.ส.จะต้องรีบย้ายพรรคเพื่อให้คุณสมบัติครบ 

โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาตำหนินักการเมือง นักวิชาการ ที่ให้ความเห็นว่า วันที่ 24 ธันวาคม 2565 คือ วันสุดท้ายที่ ส.ส.ที่คิดจะย้ายพรรคต้องรีบไปสังกัดพรรคใหม่ว่า ไม่อ่านรัฐธรรมนูญ 

พร้อมกันนี้ยังได้ยกเอาคุณสมบัติของผู้สมัครที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในมาตรา 97 (3) ซึ่งระบุไว้ว่า “เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดเหลือสามสิบวัน” มากางกันชัดๆ  

ซึ่งหากไปเปิดไทม์ไลน์ของ กกต.ในกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่จนครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กกต.ได้วางไทม์ไลน์เอาไว้ว่า จะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 

หากนับจากวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถอยหลังไป 90 วัน จะตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถือได้ว่า เป็นวันสุดท้ายที่ ส.ส.ที่จะย้ายพรรคต้องไปอยู่กับต้นสังกัดใหม่ ไม่ใช่วันที่ 24 ธันวาคม 2565 อย่างที่ นพ.ชลน่าน หรือนักการเมือง หรือนักวิชาการให้ความเห็นก่อนหน้านี้ 

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภา เวลาการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ ส.ส.จะต้องไปสังกัดใหม่ให้ครบตามคุณสมบัติจะเหลือแค่ 30 วันเท่านั้น    

ส่วนกระแสข่าว ‘ยุบสภา’ หลังการประชุมเอเปก ถึงตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจว่า สุดท้าย ‘บิ๊กตู่’ จะทำอย่างนั้นหรือไม่ เมื่อดูจากท่าทีของรัฐบาล  

มุกขำๆ บนโต๊ะอาหารกลางวันของการประชุมคณะรัฐมนตรีที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เล่นกันว่า นายกฯ จะยุบสภาในวันที่ 31 กุมภาพันธ์ จน ‘บิ๊กตู่’ หัวเราะตัวโยก แม้จะเป็นเพียงเรื่อง ‘โจ๊ก’ แต่หากมองให้ไม่ตลก ไม่ใช่ไม่มีนัยสำคัญ 

เดือนกุมภาพันธ์มี 28 และ 29 วัน การตบมุกวันที่ 31 ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันตีความได้หรือไม่ว่า เลิกคิดเรื่องยุบสภาไปได้เลย 

ขณะที่ท่าทีของกลุ่มสามมิตร ไม่ว่าจะเป็นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ต่างอยากให้รัฐบาลอยู่ครบเทอมเพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ ให้สำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม อ่านใจ ‘บิ๊กตู่’ การยุบสภาไม่มีตรงไหนที่ดีกว่าการอยู่ครบวาระ  

กระแสของรัฐบาล โดยเฉพาะ ‘บิ๊กตู่’ ไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบที่จะต้องรีบยุบสภา ขณะเดียวกัน การเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม สามารถทำอะไรได้มากกว่าการเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุมัติ การออกกฎหมาย การโยกย้ายแต่งตั้ง ฯลฯ 

การมีอำนาจย่อมได้เปรียบในการกำหนดแกม และหากอยู่ครบเทอม อำนาจเหล่านี้จะอยู่กับ ‘บิ๊กตู่’ ไปจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 แตกต่างจากกรณียุบสภาที่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้อำนาจเยอะ 

สามารถใช้ช่วงเวลาที่เหลือผลิตผลงาน กู้สถานการณ์ตัวเอง และเริ่มจะพอเห็นสัญญาณการใช้โควตาแบบเต็มพิกัดเพื่อผลิตผลงานในบั้นปลายรัฐบาลออกมาแล้ว 

โดยการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.....ซึ่งเรียกว่า เป็นการ ‘ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน’ ในช่วงบ่าย ก่อนที่ช่วงค่ำจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที  

เป็นการชิงออกกฎกระทรวงตัดหน้าก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลในวาระ 2-3 เพียงวันเดียว   

สัญญาณคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้ามีมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน แต่รัฐบาลรู้ว่ากฎหมายฉบับนี้มีหลายฝ่ายที่เห็นด้วย แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค นอกจากการโหวตที่เสี่ยงเสียงฝั่งรัฐบาลแตก การคว่ำไปเลยอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบไปสร้างประเด็นว่า รัฐบาลเอาแต่อุ้มนายทุน ปิดกั้นประชาชนในเรื่องนี้ 

กลายเป็นว่า เรื่องนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือ คนที่ผลักดันสำเร็จคือ รัฐบาล และยังได้คว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลอีก 

และดูแล้วหลังจากนี้ ‘บิ๊กตู่’ จะขับเคลื่อนกฎหมายและโครงการต่างๆ ที่เล่นกับกระแสมากขึ้น และการมีเวลามากเท่าไหร่ยิ่งดี 

 ‘ยุบสภา’ จึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของ ‘บิ๊กตู่’ ในตอนนี้.                            

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา