มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นายพิธาได้โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ตนเองได้มีการแบ่งมรดกหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทอื่นไป โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัทไอทีวีที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ หลังจากพบพิรุธบางอย่าง
ขณะที่วันเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการพิจารณากรณีสำนักงาน กกต.รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขอให้ตรวจสอบว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นไอทีวีหรือไม่
คำร้องดังกล่าวเป็นของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธาเข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่
โดยในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุม กกต.เห็นว่า สำนักงาน กกต.ยังเสนอรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงให้ไปดำเนินการให้ครบถ้วน และเสนอกลับมาที่ประชุม กกต.โดยเร็วที่สุด
ถือเป็นแอ็กชันแรกของ กกต.นับตั้งแต่มีการร้องเกี่ยวกับการถือครองหุ้นสื่อ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากมีข่าวว่า เดือนมิถุนายนนี้จะได้บทสรุปเรื่องข้อพิพาทกันระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับไอทีวี
ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายพิธาระแวงและตัดสินใจโอนหุ้นไปให้ทายาทคนอื่น เพราะกลัวว่าไอทีวีจะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ หากสุดท้ายชนะคดี
อย่างไรก็ดี กรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธานั้น ถูกมองว่าเป็นการร้องเพื่อสกัดกั้นการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา เหมือนกับที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่โดน
โดยขณะนี้สังคมกำลังเข้าใจว่า หากสุดท้ายนายพิธาถูกวินิจฉัยว่ามีลักษณะต้องห้าม จะทำให้อดนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
หลายคนกำลังเชื่อว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลจะถูกแผนเดิมที่เคยใช้ ทั้งที่มีส่วนจริงเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
อย่าลืมว่า ต่อให้นายพิธารอดกรณีถือครองหุ้นสื่อไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า หนทางสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศจะง่ายขึ้น เพราะปัญหาใหญ่ของนายพิธาและพรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้คือ ยังรวบรวมได้ไม่ถึง 376 เสียง
ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ประกาศจะไม่โหวตให้นายพิธานั้น ไม่ได้เจาะจงเฉพาะตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่ขวางทุกคนที่มาจากพรรคก้าวไกล เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ฉะนั้น ต่อให้รอดคดีถือครองหุ้นสื่อไปได้ มันอาจจะทำให้สบายใจได้ในแง่ของเส้นทางการเมืองที่ยังไปต่อได้อยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ขวากหนามของนายพิธาในเรื่องคดีไม่ได้มีแค่ประเด็นถือครองหุ้นสื่อ แต่ก่อนหน้านี้เคยถูกร้องเรียนเอาไว้สารพัดเรื่องในหลายองค์กรอิสระ
รอดบ่วงนี้ แต่อาจจะโดนบ่วงอื่นก็ได้ ในเมื่อฝ่ายสกัดตั้งแท่นแล้วว่า ไม่เอาชื่อนี้เด็ดขาด
และหลายๆ ครั้งเห็นกันแล้วว่า กลเกมของฝ่ายสกัดกั้นพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ จนบางครั้งจับทางไม่ถูกว่าจะมาไม้ไหน และหลายๆ ครั้งเหนือความคาดหมายก็มีให้เห็น
และเรื่องการถือครองหุ้นสื่อนี้ ยังไม่รู้ว่าจะจบก่อนหรือหลังโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน
ซึ่งหากรอด หรือหากยังไม่ได้บทสรุป ชื่อของนายพิธายังสามารถเสนอเข้าไปโหวตได้ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล อยู่แค่ว่าจะฝ่าด่าน ส.ว.ไปได้หรือไม่ ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่ถึง 376 เสียง
หากไม่ถึง 376 เสียง ต้องดูอีกว่า ขาดไปเท่าไหร่ หากขาดไม่มาก น่าจะทิ้งช่วงเพื่อให้พรรคก้าวไกลไปหามาเพิ่มเพื่อรอเสนอชื่อไปโหวตซ้ำ เมื่อโหวตแล้วต้องดูอีกว่า ขาดน้อยกว่าเดิมหรือไม่
ยากที่พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเองไปแข่งทันทีที่ชื่อของ พิธา ไม่ผ่านในรอบแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ
มันต้องลองกันไปจนสุด จนรู้สึกว่าไม่มีทางแล้ว ถึงเวลานั้นจะอยู่ที่พรรคก้าวไกลตัดสินใจแล้วว่า จะลองเปิดทางให้กับพรรคเพื่อไทยบ้างหรือไม่
พรรคเพื่อไทยในฐานะพระรองไม่ออกตัวก่อนแน่ ยกเว้นพระเอกตาย และนางเอกไม่มีคนดูแลถึงจะเข้าไปได้
เพียงแต่ถ้าทั้ง 2 พรรคยืนยันไม่ทิ้งกัน เมื่อถึงคราวพรรคเพื่อไทยบ้าง แต่เกิดกรณีเสียงยังไม่เพียงพออยู่ดี พรรคก้าวไกลจะยอมรับวิธีการหาเสียงมาเติมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่
เพราะพรรคก้าวไกลนั้นมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องมีเราไม่มีลุง หรือแอนตี้พรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เคยโหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงตรงนั้นพรรคก้าวไกลรับได้หรือไม่
ถ้ารับไม่ได้แบบนี้จะถือว่า พรรคเพื่อไทยทิ้งพรรคก้าวไกลหรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนล็อกเอาไว้ว่า พรรคอันดับ 1 ต้องเป็นผู้นำประเทศได้เพียงพรรคเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัยธวัชมา-ปดิพัทธ์..? กับทางออก เก้าอี้รอง ปธ.สภาฯ
ก่อนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำชื่อ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ทรงแต่งตั้งเป็น ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทางประธานสภาฯ คงรอให้ได้ข้อยุติในเชิงข้อกฎหมายเสียก่อน ถึงจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
‘ช่อ’ ลั่นกลางวงเสวนา ‘ก้าวไกล’ จะอยู่ตรงนี้ สู้ต่อไปจนกว่าชนะ
พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนา'ตื่นเถิดประเทศไทย'ในกิจกรรม "ก้าวต่อไป ไกลทั้งแผ่นดิน"
‘พิธา’ ลั่นจะกลับมายิ่งใหญ่ ปลุกสมาชิกอย่าปล่อยไฟที่จุดติดดับเด็ดขาด
‘พิธา’ ฝากฝัง ‘ชัยธวัช’ ขอสมาชิกรักตัวเองอย่างไร ให้รักหัวหน้าใหม่อย่างนั้น ย้ำ แกนกลางก้าวไกลยังคงอยู่ โว นำเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้มา 151 แล้ว หากเทียบบัญญัติไตรยางค์ รอบหน้าไม่ต่ำกว่า 300 ชู 3 กลยุทธ์ แข่ง-ขยับ-ขยาย จนกว่าจะถึงเส้นชัย
‘ชัยธวัช’ ลั่น ‘หน.ก้าวไกล’ เปลี่ยน แต่ว่าที่นายกฯยังชื่อ ‘พิธา’ ชู 4 ยุทธศาสตร์ 2 ภารกิจ
‘ชัยธวัช’ ผลักดัน 4 ยุทธศาสตร์ 2 ภารกิจ ‘ก้าวไกล’ พร้อมสู้กับการเมืองของชนชั้นนำล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีปชช.เป็นไม้ประดับ ย้ำ ไม่มีอะไรมีจะต้องเสียใจอีกต่อไป แม้พรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล
‘ไอติม’ ร่ายแผนก้าวไกล ชูทลาย 5 มายาคติ ดันฝ่ายค้านเปลี่ยนแปลงปท.
‘พริษฐ์’ร่ายแผนก้าวไกล ใช้กลไกสภาขับเคลื่อนความหวัง-ความฝันของปชช. หวังทลายมายาคติ 5 ข้อ ลั่น แม้เป็นฝ่ายค้านก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้
ก้าวไกลพรึ่บ! ปลุกกร้าว ก้าวต่อไป ก้าวใหญ่ทั้งแผ่นดิน
ก้าวต่อไป ก้าวใหญ่ทั้งแผ่นดิน คักคัก สมาชิกทั่วสารทิศแห่มาร่วม เปิดตัวหัวหน้าพรรคป้ายแดง พร้อมวงเสวนา “ช่อ” และคณะ