ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับ ‘หัวเขียง’ ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น
สาระสำคัญที่น่าสนใจซึ่งหลายฝ่ายพูดถึงกันมากคือ การจะโยกอำนาจแต่งตั้งนายทหารให้มาอยู่ในมือ ‘คณะรัฐมนตรี’
ขณะเดียวกัน ยังมีกลไกป้องกันการรัฐประหาร โดยระบุว่า ห้ามใช้กำลังทหารเพื่อกระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมายบางประการ เช่น ยึดอำนาจจากรัฐบาล ก่อกบฏ ขัดขวางการปฏิบัติราชการ เพื่อธุรกิจ หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
ฝั่งพรรคเพื่อไทยเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า ‘กฎหมายสกัดรัฐประหาร’
อย่างไรก็ดี สำหรับกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเสนอประกบกับร่างของพรรคประชาชน
ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคเพื่อไทยผนึกกำลังกับพรรคประชาชน กฎหมายฉบับดังกล่าวจะผ่านไปไม่ยาก เพราะเสียงของพรรคสีแดงกับพรรคสีส้มรวมกันเกินกึ่งหนึ่งแล้ว
แต่จะผ่านไปสู่การนำมาใช้นั้น ‘ยาก’ โดยเฉพาะเมื่อดูปฏิกิริยาของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ‘ไม่เอาด้วย’
ท่าทีของนายอนุทินย่อมสะท้อนแทนพรรคภูมิใจไทย และย่อมสะท้อนไปถึง ‘วุฒิสภา’ อันเป็นขุมข่ายของ ‘ค่ายสีน้ำเงิน’ เช่นกัน
ฉะนั้น ต่อให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาด้วยเสียงข้างมากได้ ถึงอย่างไรจะต้องมาเจอทางตันอยู่ในชั้นของสภาสูงอยู่ดี
อีกทั้งในทางปฏิบัตินั้น ขณะนี้โอกาสที่จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาถึงชั้นวุฒิสภาเป็นไปได้ยากแล้ว เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่แต่เพียงพรรคภูมิใจไทย ได้แสดงจุดยืนว่าไม่เอาด้วยเช่นกัน
ล่าสุดคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคอนุรักษนิยมที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งมาจากอดีตคนในกองทัพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอดีตผู้นำรัฐประหารเป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรค
2 พรรคการเมืองที่เคยร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อน ต่างยืนยันชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย
และแม้ลำพัง 2 พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวจะไม่มีเรี่ยวแรงในการสกัดกั้นกฎหมายฉบับนี้หากพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจับมือกัน แต่มันเป็นสัญญาณที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยต้องถอยในที่สุดได้
เพราะหากพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลผนึกกำลังกันผลักดันกฎหมายดังกล่าวจริง มันย่อมมีผลทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างความหวาดระแวงให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมและกองทัพ ถึงความสัมพันธ์อันดีของพรรคสีแดงกับพรรคสีส้มที่ยังดำรงอยู่
จะเกิดความไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย ในเรื่องที่ว่า จะกลับไปร่วมมือกับพรรคประชาชนอีกครั้งในอนาคตอันใกล้
ไม่เพียงเท่านั้น มันอาจจะกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘กองทัพ’ กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ระยะหลังเหมือนจะดีขึ้นมา หลังเป็นเส้นขนานกันตลอดสิบปีมานี้
ซึ่งบทเรียนในอดีตมีมาแล้วว่า การพยายามที่จะเข้าไปล้วงลูกและแทรกแซงกองทัพของฝ่ายการเมือง มักจะลงเอยอย่างไร
อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งการที่พรรคเพื่อไทยเสนอกฎหมายดังกล่าวในครั้งนี้นั้น รู้อยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยากที่จะผ่าน หากแต่เมื่อพรรคประชาชนคู่แข่งคนสำคัญในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งมีฐานมวลชนปีกขวาแบบเดียวกันชิงเสนอก่อน จึงทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถอยู่เฉยได้ ต้องเสนอประกบในเชิงสัญลักษณ์ว่า ต่อต้านการรัฐประหารเช่นเดียวกัน
ทั้งที่ความจริงพรรคเพื่อไทยไม่อยากเข้าไปยุ่มย่ามกับกองทัพมากนัก เพราะสมัยนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม ก็ศึกษากฎหมายฉบับนี้เอาไว้เหมือนกัน แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กลับไปดูในรายละเอียด ไม่ได้นำกลับเข้ามาตั้งแต่ตอนนั้นอีก
ขณะที่ ‘บิ๊กอ้วน’ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมคนปัจจุบัน ก็ชิงออกมาชี้แจงแล้วว่า มันเป็นท่าทีส่วนตัวของนายประยุทธ์เท่านั้น ซึ่งมีสิทธิ์แสดงความเห็นได้ แต่นั่นไม่ใช่ท่าทีในนามพรรคเพื่อไทย
หากจับปฏิกิริยาของ ‘บิ๊กอ้วน’ จะเห็นว่าไม่ได้ตำหนินายประยุทธ์แต่อย่างใด อาจอนุมานได้เหมือนกันว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเล่นสองหน้า คือ ให้สมาชิกออกมาพูดในเชิงสัญลักษณ์ แต่ขณะเดียวกันตนเองและพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้แสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ว่าเอาหรือไม่เอา
ซึ่งมันอาจจะมีเรื่องของฐานคะแนนเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง
ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้หากจะมีการแก้ไข และหากจะให้ผ่านไปได้ 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องไม่มีคือ การแต่งตั้งนายทหารที่จะให้ ครม.เป็นผู้อนุมัติ กับเนื้อหาสกัดกั้นการรัฐประหาร
เพราะการรัฐประหารนั้น ไม่มีกฎหมายใดป้องกันได้ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวนักการเมือง ไม่จำเป็นต้องตราออกมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บทบาท‘แม้ว’ด้อยค่า‘อิ๊งค์’ ‘สายล่อฟ้า’เรียกแขกรัฐบาล
อะไรที่เคยด่ารัฐบาลชุดที่แล้ว วันนี้ย้อนศรเข้าตัวหมด โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังคุกคามปอดและลมหายใจคนกรุง
เลือกตั้งนายก อบจ.1 ก.พ. 47จว.“บ้านใหญ่”กวาดเรียบ
ถึงตอนนี้แม้เหลือเวลาอีกร่วมสัปดาห์เศษๆ แต่แวดวงการเมืองประเมินแล้วมีแนวโน้มสูงที่ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. ผู้สมัครนายก อบจ.ที่มาจากสาย “บ้านใหญ่-ตระกูลการเมืองประจำจังหวัด” จะได้รับชัยชนะเข้าไปเป็นนายก อบจ.มากที่สุด แนวโน้มเกินครึ่งหนึ่ง
‘ส้มบุกทั่วไทย’ ดาวกระจาย ล้วง 'ชิงแดน' ฝ่ายตรงข้าม
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 1 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ซึ่งพรรคประชาชนได้เริ่มจุดแคมเปญ 'ส้มบุกทั่วไทย เปิดปราศรัยใหญ่ อบจ.ประชาชน' ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา
ชดเชยค่าโง่ที่ดิน“อัลไพน์” ครม.-สภาฯกล้าเสี่ยงคุกไหม
ภายหลัง “ชำนาญวิทย์ เตรัตน์” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เซ็นคำสั่งเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา
‘บิ๊กป้อม’ เดินหน้าพปชร.ต่อ (แค่ไหน) สุดเทอมสภา ‘แยกย้าย-เปลี่ยนมือ’?
‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศกลางวงสัมมนาพรรค ที่ อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ‘พลังประชารัฐ’ ยังคงเดินหน้าต่อ
รหัสลับทักษิณถึง สส.พท. อบจ.เขตไหนแพ้ขึ้นบัญชีดำ
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จะเลือกกันวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.