แฟ้มคดีร้อน "ศาลรธน." “ก้าวไกล” แก้ 112 จุดไคลแมกซ์

การเมืองไทยสัปดาห์นี้ หลังจากพ้นช่วงหยุดยาวราชการ 6 วัน จุดพีกจะอยู่ที่ 2 จุด แต่จะมีความเชื่อมโยงทางการเมืองถึงกัน นั่นก็คือ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ กับ รัฐสภา

เพราะวันพฤหัสบดีที่ 3 ส.ค. จะเป็นวันที่ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมประจำสัปดาห์ โดยเลื่อนมาจากที่ปกติประชุมทุกวันพุธ แต่เนื่องจากรอบนี้ตรงกับวันที่ 2 ส.ค.ที่เป็นวันหยุดราชการ เลยมาประชุม 3 ส.ค.แทน

วงประชุมนัดดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่หลายคนสนใจก็คือ การรอฟังว่า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะ

รับคำร้อง-ไม่รับคำร้อง

เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 19 ก.ค.ที่มีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้อีก หากรอบแรกชื่อไม่ผ่านความเห็นชอบ เป็นมติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อที่ 41 หรือไม่ อีกทั้งในคำร้องยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวจนสะเด็ดน้ำ

 โดยหากศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย ถึงแม้ต่อให้ไม่มีการสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตนายกฯ แต่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่า หากศาลรับคำร้องไว้พิจารณา ก็จะชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นกระแสความ แต่หากศาล รธน. ไม่รับคำร้อง ก็จะทำให้การประชุมร่วมรัฐสภา วันศุกร์ที่ 4 ส.ค. ก็จะมีการเดินหน้า โหวตนายกฯ กันทันที เพราะได้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในระเบียบวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อย

 จับกระแสการเมืองก่อนถึงวันประชุมตุลาการศาล รธน. 3 ส.ค. พบว่า แวดวงการเมืองและนักกฎหมายมหาชน รวมถึงอดีตตุลาการศาล รธน. ตลอดจนบรรดา สส.และ สว.หลายคน คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่า ศาล รธน.น่าจะไม่รับคำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัย ด้วยเหตุผลเป็นเรื่องการดำเนินการของสมาชิกรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และเป็นเรื่องที่มีการลงมติไปแล้ว ศาล รธน.จึงไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะจะไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ

 และอีกแนวทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ ศาล รธน.อาจรับคำร้องไว้ก่อน แล้วก็เร่งวินิจฉัยภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ จากนั้น ก็น่าจะยกคำร้อง แต่ถ้าจะออกมาแนวทางหลังจริง ก็น่าจะไม่รับคำร้องตั้งแต่แรกไปเลย

 หลายคนจึงยังมองว่า มีโอกาสไม่น้อยที่ศาล รธน.ไม่น่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพื่อที่รัฐสภาจะได้เดินหน้าตัดสินใจเรื่องเลือกนายกฯ ไปเลย ไม่ต้องมารอศาล รธน.

แต่สุดท้ายแล้ว เสียงส่วนใหญ่ของ 9 ตุลาการศาล รธน.จะมีดุลยพินิจในคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างไร ก็ต้องรอดูกัน 3 ส.ค.นี้

 สำหรับ ศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าช่วงนี้มีคำร้องหลายคดีที่เป็นเรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ที่เข้าสู่สารบบการวินิจฉัยของตุลาการศาล รธน.และอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นคำร้อง คดีหุ้นสื่อไอทีวี ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังได้รับคะแนนนิยมสูงในขณะนี้ ที่กระบวนการทางคดีตอนนี้อยู่ระหว่างที่พิธา-ทีมทนายความกำลังยกร่าง คำชี้แจงข้อกล่าวหา เพื่อสู้คดีว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว อีกทั้งหุ้นที่ครอบครองไว้ก่อนที่จะโอนไป ก็เป็นการครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก

คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่พิธาจะขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาออกไปหลังครบกำหนด 15 วัน เพื่อใช้สิทธิ์ในการสู้คดีให้เต็มที่

รูปคดีหุ้นสื่อของพิธา อ่านสถานการณ์ไว้ว่า มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ศาล รธน.อาจจะเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเรียกพิธาและผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวน เช่น ผู้บริหารของไอทีวีในปัจจุบัน เพื่อซักถามถึงสถานะของไอทีวี ในช่วงพิธาถือครองหุ้นไว้ก่อนโอนหุ้น เป็นต้น  

 โดยมีความเป็นไปได้ที่คำร้องคดีหุ้นสื่อของพิธา กว่าศาล รธน.จะวินิจฉัยเสร็จ ก็น่าจะประมาณช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งหากพิธาไม่รอด ก็จะต้องพ้นจากการเป็น สส.อย่างเป็นทางการทันที และอาจมีดาบสองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาในการเอาผิดพิธาในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 กรณีลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.โดยที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ

และอีกหนึ่งคำร้องที่เกี่ยวข้องกับ พิธา-พรรคก้าวไกล ก็คือ คำร้องคดีที่ทาง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.....เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยพบว่าหลังศาล รธน.รับคำร้องคดีดังกล่าวไว้วินิจฉัยเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

 ล่าสุด พรรคก้าวไกลได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาออกไปหลังครบกำหนด 15 วันที่ต้องส่งคำชี้แจง

มีการคาดหมายไว้เช่นกันว่า ไม่แน่คำร้องคดีนี้ ศาล รธน.อาจเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้อง คือพิธาและพรรคก้าวไกล มาชี้แจงข้อกล่าวหากลางห้องพิจารณาคดีของศาล รธน. รวมถึงอาจจะเรียกพยานบุคคลที่ศาลเห็นสมควรมาให้ถ้อยคำเพื่อต้องการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ของพิธาและพรรคก้าวไกลตามคำร้อง มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่

เบื้องต้น ธีรยุทธ-ผู้ยื่นคำร้อง วิเคราะห์ไว้ว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่าย คือตัวผู้ร้อง คือตนเอง กับผู้ถูกร้อง คือพรรคก้าวไกลและพิธา นำพยานหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าสู่การพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความแรงของเนื้อหาในคำร้องคดีนี้มีมาก สังคมจับจ้อง

“ประเมินจากกระบวนการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งการให้ฝ่ายผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาภายใต้กรอบ 30 วัน และกระบวนการต่างๆ ในการไต่สวนของศาล ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 45-60 วัน ก็คาดว่าประมาณปลายเดือนตุลาคมอาจจะได้เห็นอะไรบางอย่าง” ผู้ร้องคดีแก้ 112 ของพรรคก้าวไกลคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ธีรยุทธ-ผู้ร้องคดีแก้ 112 ของพรรคก้าวไกล ยังบอกไว้ด้วยว่า รูปคดีนี้หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดเรื่องมาตรา 112 ศาลจะวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และจะมีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในวันข้างหน้าหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเข้าข่าย ก็อาจเห็นควรมีคำสั่งให้หยุดการกระทำต่างๆ ตามที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาล

“หากเป็นเช่นนั้น เหตุผลจากคำวินิจฉัยว่าพฤติกรรมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และอาจเป็นการล้มล้าง เหตุผลดังกล่าวนั้นจึงจะเป็นหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นเหตุอันควรยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเป็นคำร้องดอกสองต่อไป”

 เห็นแบบนี้ก็พอคาดการณ์ได้ล่วงหน้าได้ว่า หากผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคำร้องคดีพิธาและคดีแก้ไขมาตรา 112 ออกมา โดยที่ผลทางคดีไม่เป็นคุณกับพิธาและพรรคก้าวไกล

รับรองได้ว่า ด้อมส้มทั้งหลายย่อมเดือดดาลและแค้นหนัก จนจัดทัวร์ลงชุดใหญ่ที่ศาล รธน.แน่นอน!!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลโหมหนัก การเมืองบทใหม่ ฉันทามติระหว่างชนชั้นนำ กับปชช.

ก้าวไกลประกาศเป็นสะพานเชื่อมแห่งยุคสมัย “ชัยธวัช’ ยก ปรากฏการณ์ ‘เลือกตั้ง 66’ เป็นข้อบ่งชี้ ไทยกำลังเดินเข้าสู่บทที่สิ่งเก่ากำลังจะตาย-สิ่งใหม่กำลังจะเกิด

ผุด 'กรรมการนิรโทษกรรม' ผ่าทางตัน ล้างผิด 112 เข้าทางก้าวไกลเป๊ะ

จับตาผุดโมเดล”กรรมการนิรโทษกรรม”ผ่าทางตัน ล้างผิด 112 ตั้ง 13 อรหันต์ พิจารณาคดีแรงจูงใจทางการเมืองในรอบ 20 ปี 2548-2568 พบตรงกับกฎหมายนิรโทษฯของก้าวไกล

’พิธา‘ ยัน ’ก้าวไกล‘ ไม่ได้ฉกฉวยหวังผลการเมือง จากการเสียชีวิตของ 'บุ้ง ทะลุวัง'

’พิธา‘ ยัน ’ก้าวไกล‘ ไม่ได้ฉกฉวย หวังผลการเมือง วอนสังคมตั้งสติ รอฟังข้อเท็จจริง ปม ’บุ้ง‘ เสียชีวิต พร้อมสื่อสารนักกิจกรรม-เยาวชน เอาชีวิตตัวเองก่อนการต่อสู้ บอกเป็นห่วง ’ตะวัน‘

‘พิธา‘ คุยหาก ’ก้าวไกล‘ เป็นรัฐบาล สามารถเปลี่ยนระเบิดเวลามาจุดศักยภาพประเทศไทย

‘พิธา‘ เทียบหาก ’ก้าวไกล‘ เป็นรัฐบาล จะเปลี่ยนระเบิดเวลามาจุดศักยภาพประเทศเป็นโอกาส ด้าน ’วีรยุทธ‘ แจงเตรียมงานนาน ไม่เกี่ยวจัดชน ‘เดือนที่ไม่รอ ไปต่อให้เต็ม 10’

’พิธา‘ ยัน ‘ก้าวไกล’ มีเจตนาดี ‘แก้ม.112’ ย้ำไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

’พิธา‘ ขู่ พรรคที่จ้องจะดูด สส. บอกไม่ได้ไร้เดียงสาจนไม่รู้เรื่อง ยัน ‘ก้าวไกล’ มีเจตนาดี ‘แก้ม.112’ หวังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ปชช.สถาบันฯ ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง