'ปรองดอง-สมานฉันท์' นโยบายรัฐบาลที่หายไป

ในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ รัฐบาลจะแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยมีไฮไลต์เด็ดคือนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หวังเป็นตัวจุดชนวนกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ 

ควบคู่นโยบายเร่งด่วนแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และประชาชน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องของรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้ วิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทน สส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว. ได้จัดสรรเวลาการอภิปรายใน 2 วัน รวม 30 ชั่วโมง แบ่งเป็นเวลาของประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง ฝ่าย ครม. 5 ชั่วโมง สส.ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง สว. 5 ชั่วโมง และ สส.ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง

โดยประเด็นหลักที่ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกลจะอภิปราย เช่น ทวงถามคำสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญเรื่องสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ

โฟกัสนโยบายเศรษฐกิจ คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท โดยเฉพาะเรื่องของแหล่งที่มาของเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ต้องถูกกฎหมายแล้ว ต้องไม่กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง และต้องไม่ใช่วิธีการกู้เงินด้วยหรือไม่  

มิเช่นนั้นจะถูกย้อนเกร็ด เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยถล่มการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า "เป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา"  

"ศิริกัญญา ตันสกุล" รองหัวหน้าและ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตหลังมีกระแสข่าวจะยืมเงินรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านมาทำนโยบายนี้

เธอมองว่าอาจจะกระทบกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายให้ยืมได้แค่ 32% ของงบ (1.1 ล้านล้านบาท) และตอนนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบประมาณ

"ประเดิมงานแรกของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลัง โครงการที่กู้ยืมเงินรัฐวิสาหกิจยังมีปัญหาอีกอย่างคือ ไม่อยู่ในงบประมาณ เท่ากับไม่ต้องผ่านสภา ไม่ต้องโดนสภาตรวจสอบตอนอนุมัติงบใช่หรือไม่

ยังมีมุมมองจาก "สมชัย จิตสุชน" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังเช่นในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะขณะนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ อย่างภาคการท่องเที่ยว ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ 

ส่วนภาคการส่งออกแม้จะติดลบ แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และสร้างเม็ดเงินเข้ามาในประเทศมากพอสมควร

“นโยบายของพรรคเพื่อไทยมีทั้งที่เป็นประชานิยมและไม่เป็นประชานิยม ซึ่งประชานิยมในความหมายด้านลบคือการหวังคะแนนนิยม แต่ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจได้จริง โดยในช่วงภาวะวิกฤตนั้น หลายๆ ประเทศก็อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินทั้งนั้น แต่ช่วงนี้ไทยเราไม่ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตขนาดนั้น” ผู้อำนวยการจาก TDRI กล่าว 

ด้าน "เศรษฐา" และผู้เกี่ยวข้องจากพรรคเพื่อไทย ยังไม่ตอบว่าจะนำเงินมาจากไหน แต่นายกฯ และ รมว.คลัง บอกว่าจะจ่ายผ่านบล็อกเชน  

โดยที่มาของเงินอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ไม่อยากให้เกิดความสับสน จึงขอให้รอความชัดเจนก่อน แต่ยืนยันว่าจะจ่ายให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปได้แน่ในวันที่ 7 ก.พ.67 ฉะนั้นจึงต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะผลักดันนโยบายหาเสียงนี้อย่างไรให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

นโยบายต่อมาที่คาดว่าจะถูกตั้งคำถามไม่แพ้กัน คือเรื่องปฏิรูปกองทัพ ว่าจะกล้าปฏิรูปกองทัพจริงหรือไม่ หลังมีข้อครหาว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นผู้ส่งต่ออำนาจให้ "เศรษฐา" เป็นนายกฯ ผ่านการเทคะแนนเสียง สว.สายบิ๊กตู่ให้ หวังประนีประนอมอำนาจ และเปลี่ยนผู้เล่นเพื่อจะไปต่อสู้กับพรรคก้าวไกลในอีก 4 ปีข้างหน้า 

เพราะเมื่อเปิดดูนโยบายคร่าวๆ มีข้อสังเกตว่าไม่กล้าแตะเรื่องการจัดซื้ออาวุธ หลังก่อนนี้ในสมัยเป็นฝ่ายค้าน ถล่มเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำและอาวุธต่างๆ แบบสาดเสียเทเสียอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นโยบายที่ปรากฏ ไม่แน่ใจจะทำจริงหรือไม่ หรือแค่ลูบหน้าปะจมูก อาทิ เกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ, ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงนโยบายยังมีหลายเรื่องไม่ถูกบรรจุไว้ตามที่หาเสียง จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นสินค้าไม่ตรงปก อาทิ ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 20 บาท, ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570

โดยเฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 20 บาท ถูกวิพากษ์หนัก เพราะไม่เชื่อมั่นพรรคแกนนำรัฐบาล ตั้งแต่ทิ้งพรรคก้าวไกล และหันมาจับมือกับพรรคสองลุง ไม่เหมือนที่เคยประกาศไว้ก่อนเลือกตั้งว่า "มีเรา ไม่มีลุง"

ประเด็นร้อนไปถึง "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รมว.คมนาคม ออกมายืนและขอใช้ "คำพูดเป็นสัญญา เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในนโยบายรัฐบาล" และไม่เกิน 2 ปีจะได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาท แตกต่างจากช่วงหาเสียงที่พรรคเพื่อไทยและนายกฯ ก็บอกว่าจะทำทันที   

ส่วนคำพูดของ "สุริยะ" เจ้าของวลีดัง "พุทโธ" จะถือเป็นสัญญาได้หรือไม่ ก็ขอให้ย้อนไปดูวีรกรรมในอดีตก็พอจะทราบ อาทิ ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งปี 62 บอกจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ก็กลืนน้ำลายมานั่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมถึง 4 ปี  

รวมถึงช่วงปลายรัฐบาลประยุทธ์ ก็บอกว่าจะอยู่กับ "บิ๊กตู่" แต่สุดท้ายก่อนการยุบสภาไม่กี่วันเห็นว่ากระแสไม่ดี ก็หอบผ้าหอบผ่อนกลับไปตายรังเก่า พึ่งบารมี “นายใหญ่” ในที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไม่ค่อยพูดถึงในการแถลงนโยบาย ก็คือการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ให้เกิดขึ้น หลังเกิดเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 

เพราะมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ คงไม่เพียงพอที่จะถอดสลักความขัดแย้งลงได้   

เนื่องจากชนวนปัญหาต่างๆ ของรัฐธรรมนูญใกล้จะได้รับการคลี่คลายหมดแล้ว เช่น ปมอำนาจ สว.โหวตเลือกนายกฯ 5 ปี จะหมดลงในเดือน พ.ค. ปี 67 แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เปลี่ยนมาเป็นนายกฯ ปัจจุบันดูแลแล้ว เป็นต้น 

แตกต่างจากความเดือดร้อนของประชาชนทุกสีเสื้อ ที่ถูกจองจำในคุกและยังต่อสู้คดีความต่างๆ ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ในการแสดงออกทางการเมือง ที่รอการช่วยเหลือ

ขณะที่บัดนี้สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตัวแปรและอุปสรรคสำคัญของการนิรโทษกรรมในอดีตที่ไม่สำเร็จได้สลายไปแล้วเช่นกัน เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี 

จึงเป็นโอกาสของรัฐบาลเศรษฐาที่เคลมว่า "เป็นรัฐบาลของประชาชน" จะต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย ทั้งพันธมิตรฯ นปช. กปปส. กลุ่มเยาวชนสามนิ้ว ฯลฯ เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียม

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ตนคิดว่าหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปีแล้ว เพื่อสร้างความเป็นธรรมและยุติความขัดแย้งทั้งหมดอย่างแท้จริง

เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเศรษฐาควรทำในการประชุม ครม.นัดแรกคือ การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมด

หากรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ เชื่อว่าจะเป็นกุญแจดอกแรกที่จะพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง ลดข้อครหาต่างๆ และยังฟื้นความเชื่อมั่นอีกด้วย.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เตรียมจ้อ 'นายกฯพบประชาชน' เดือนละครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมจัดรายการ “นายกฯพบประชาชน” ซึ่งจะจัดเดือนละ 1 ครั้งในวันเสาร์ เพื่อสื่อสารการทำงานของรัฐบาล และพูดคุยกับประชาชน

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน