กระชับมิตรผู้นำฯ-โชว์วิชั่นไทย เวทีแรก ‘เศรษฐา’ สอบผ่านไหม!

หลังดรามา! เหมาลำเครื่องบินการบินไทย 30 ล้านบาท ในภารกิจราชการ บินลัดฟ้าไปร่วมเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภารกิจแรกในต่างประเทศของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะใช้โอกาสโชว์ตัวนายกรัฐมนตรีป้ายแดงของไทยในเวทีระดับโลกด้วย

แต่แค่เพียงเริ่มต้น ตั้งแต่ก่อนบินลัดฟ้า ก็กลับมีข้อครหา ถูกจับจ้อง และมีเรื่องที่หลายคนยังคาใจมากมายในการเช่าเหมาลำการบินไทย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากอดีตรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาใช้บริการเครื่องบินกองทัพอากาศมาตลอด และเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา แล้วทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็ต้องถูกจับจ้อง จับตา เป็นเรื่องธรรมดา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางรัฐบาลเศรษฐาก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เงิน 30 ล้านบาทที่ลงทุนไปครั้งนี้มีความเหมาะสม เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และการันตีว่ามีความคุ้มค่ากับภารกิจในครั้งนี้อย่างแน่นอน

จะว่าไปแล้วภารกิจของนายกฯ เศรษฐาที่ยูเอ็นก็แน่นพอสมควร ยิ่งเป็นนายกฯ ใหม่ป้ายแดง เสมือนได้ไปเปิดตัวกับนานาประเทศ ทั้งระดับผู้นำ บุคคลสำคัญระดับนานาชาติ และภาคธุรกิจเอกชนใหญ่ๆ ระดับโลกทั้งนั้น แต่จะเรียกว่าเนื้อหอมหรือไม่ อาจยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้เพียง 2 สัปดาห์ จึงต้องให้เวลาในการทำผลงานและผุดแนวทางต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานสักระยะก่อน

ทั้งนี้ สำหรับภารกิจของ นายเศรษฐา ที่ยูเอ็นเรียกว่าถูกอัดแน่นในเวลา 3 วัน โดยแบ่งหลักๆ เป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.การร่วมการประชุมระดับพหุภาคีภายใต้กรอบสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ซึ่งนายเศรษฐาได้กล่าวสุนทรพจน์ในรูปแบบเดียวกับผู้นำประเทศอื่น โดยกล่าวถึงมุมมองเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน การประชุมในกรอบของการประชุมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก และนายเศรษฐายังได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองจัดโดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและภรรยา โดยนายเศรษฐาได้ใช้โอกาสนี้กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำโลกอื่นๆ ในงานดังกล่าวด้วย

2.การพบหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำและบุคคลสำคัญระดับนานาชาติ ได้แก่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เลขาธิการสหประชาชาติ และประธาน FIFA ที่นายเศรษฐามีความตั้งใจที่จะพัฒนาฟุตบอลไทยให้มีโอกาสมากขึ้นในเวทีโลก

และ 3.ได้พบกับบริษัทชั้นนำของสหรัฐ Blackrock SpaceX, Citibank, Tesla, Goldman Sachs, JP Morgan, Estee Lauder, Microsoft และ Google โดยนายเศรษฐาตั้งใจให้เกิดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทย เพื่อหวังเพิ่มเม็ดเงินหลายพันล้านในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สำคัญอีก เช่น การประชุมมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยประจำสหรัฐ และการพบปะชุมชนไทยในสหรัฐ

สำหรับการโชว์วิชั่นผู้นำประเทศของนายเศรษฐาในเวทีดังกล่าวนั้น บางคำอาจฟังคุ้นหู คล้ายๆ สคริปต์ของอดีตนายกฯ ประยุทธ์ อย่างในถ้อยแถลงการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ.2023 ที่นายเศรษฐายก แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยมองว่าจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “นโยบายเศรษฐกิจ BCG” มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นจุดขายของไทยอยู่แล้ว หรือนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลประยุทธ์ดำเนินมาแล้ว คำคุ้นเคยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักและแนวทางซึ่งรัฐบาลที่เข้ามาก็จะใช้ขับเคลื่อนต่อไปนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไปเปิดตัวเวทีแรกที่ยูเอ็นครั้งนี้ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตนักธุรกิจ นอกจากจะไปกางแผนยุทธศาสตร์ของไทยด้านความร่วมมือเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังได้โชว์กึ๋นในฐานะที่เคยอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน ทั้งการหารือกับบริษัทชั้นนำยักษ์ใหญ่ของสหรัฐจนมีความสนใจจะมาลงทุนในไทย และยังเปิดนโยบายสำคัญเพื่อเชื้อเชิญนักลงทุนสหรัฐเข้าประเทศ ในการผลักดัน “เศรษฐกิจเกียร์สูง” ว่า

“ขอย้ำถึงนโยบายและโอกาสมากมายสำหรับบริษัทสหรัฐ ทั้งการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่เกียร์สูง อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น การบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรมที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัดและข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนอีกด้วย”

ทั้งนี้ ในส่วนภารกิจ 2 วันที่ผ่านมา ถือว่า นายกฯ ป้ายแดง คนนี้ได้ใช้โอกาสที่มีในทุกเวทีเก็บเกี่ยวความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อประโยชน์ของคนไทยพอสมควร และยังเหลืออีก 1 วันกับภารกิจที่ยูเอ็น ก่อนจะเดินทางกลับถึงไทยในเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย

ส่วนการไปครั้งนี้จะคุ้มค่าคุ้มราคาค่าเครื่องบิน 30 ล้านบาท และข้อสอบแรกของนายเศรษฐา ในเวทีโลกนี้จะผ่านฉลุยหรือไม่ คงต้องวัดกันที่ผลตอบรับจากนานาประเทศและกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่ “นายกฯเศรษฐา” ได้โปรยยาหอมเอาไว้ จะตัดสินใจหอบเงินมาร่วมลงทุนกับไทยหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเตรียมส่งสภาฯ ถกงบฯ 68 ต้น มิ.ย. สมัยวิสามัญ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รัฐบาลมีความพร้อมใช่หรือไม่ ว่า

นายกฯรับไม่ทราบขั้นตอน 'กฤษฎีกา' ให้ศาลรธน.ชี้ขาดคุนสมบัติ 'พิชิต' ยันทุกอย่างเป็นไปตามกม.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยเพื่อร่วมกิจกรรม "10 เดือนที่ไม่ต้องรอ ทำต่อให้เต็ม 10" ซึ่งจะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย

'เศรษฐา' จ่อจัดรายการ 'นายกฯพบประชาชน' อยากสื่อสารกับปชช.สม่ำเสมอ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมจัดรายการนายกฯพบประชาชน ว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะใช้ชื่อรายการว่าอะไร

นายกฯซวยแล้ว! ภาคปชช.อ้างคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคุณสมบัติ 'ทนายถุงขนม' ยื่นป.ป.ช.เอาผิด

สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา