‘รัฐบาลเศรษฐา’ เอาใจ ‘ขรก.ชั้นผู้น้อย’ ขยับศึกษาอัพ ‘เงินเดือน’

มีความพยายามจะเข้าไปยกระดับเรื่องค่าครองชีพข้าราชการตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง 

และเป็นเรื่องแรกๆ ที่แตะด้วย ย้อนกลับไปในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ที่ประชุม ครม.ได้มีเซอร์ไพร์ส ด้วยการปรับแผนจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ จนสร้างความฮือฮา 

โดยนายเศรษฐา ต้องการปรับแผนจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ เพื่อหวังบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อย เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ ซึ่งมองว่า เรื่องกระแสเงินสดของทุกคนในกระเป๋าเป็นเรื่องสำคัญ  

แต่ ครม.เจอเซอร์ไพร์สกลับ หลังกระแสตอบรับไม่ดี โดยถูกมองว่า เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่อง เป็นการซื้อเวลา แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้สิน  

ก่อนที่รัฐบาลจะปรับแผนใหม่ ใช้ระบบ ‘สมัครใจ’ เพื่อเป็นทางเลือก สามารถเลือกได้ว่าจะรับ 1 รอบต่อเดือน หรือ 2 รอบต่อเดือน ครอบคลุมส่วนราชการ 230 หน่วยงาน ที่อยู่ในระบบ e-Payroll ของกรมบัญชีกลาง 

โดยข้าราชการที่สนใจสามารถยื่นแบบเลือกรับเงินเดือน 2 รอบ ได้ตั้งแต่วันที่  1 - 15 ธันวาคม  2566 ขณะที่ระบบการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ รอบแรกจ่ายวันที่ 16 ของทุกเดือน ถ้าวันที่ 16 ตรงกับวันหยุดจะเลื่อนมาเป็นวันทำการ ส่วนรอบ 2 จะจ่ายวันทำการก่อน 3 วันสุดท้ายของเดือน  

โดยกลุ่มข้าราชการที่ขอรับเงินเดือน 2 รอบ จะเริ่มตั้งแต่มกราคม 2567 ส่วนกลุ่มลูกจ้างประจำรับเงินเดือน 2 รอบ ตั้งแต่มีนาคม 2567 

กระทั่งในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายเศรษฐา ได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือนข้าราชการอีกครั้ง โดยให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน รับไปเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน  

พร้อมขีดเดดไลน์ ให้รายงานผลให้ ครม.ทราบโดยเร็วภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

ขณะที่ ‘เศรษฐา’ ระบุว่า เป็นการปรับให้สอดรับกับ ‘ค่าครองชีพ’ ของประชาชน 

ถือเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาอีกรอบ เพราะการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ต้องย้อนกลับไปถึง 9 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่มีการขึ้นเงินเดือนต้องย้อนไปในเดือนธันวาคม 2557 ซึ่ง ครม.ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติให้ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท 

เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกับการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ เพราะการขึ้นเงินเดือนข้าราชการจำเป็นต้องใช้งบประมาณที่ต้องผูกพันต่อเนื่องยาวนาน 

ซึ่งหลายฝ่ายกำลังจับตาว่า รัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนแบบหว่านแห หรือจะทำเป็นระยะ โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอแนะว่า ควรทำเป็นระยะ  

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า ระยะแรกอาจจะต้องปรับให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน เนื่องจากข้าราชการจำนวนหนึ่งเงินเดือนอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ยังมีพนักงานราชการที่เป็นลูกจ้างของระบบราชการ ซึ่งไม่มีสวัสดิการเท่าไร ส่วนข้าราชการระดับกลาง หรือผู้บริหารระดับสูง จะต้องเป็นระยะที่ 2  การปรับระบบทั้งหมด ควรปรับโครงสร้างราชการไปพร้อมกัน 

โดยโอกาสที่จะขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการชั้นผู้น้อย’ มีความเป็นไปได้ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูแนวคิดจ่ายเงินเดือน 2 รอบ คราวที่แล้ว จุดประสงค์ก็เพื่อข้าราชการชั้นผู้น้อยเช่นกัน 

และ ‘ข้าราชการชั้นผู้น้อย’ นี้เอง ถือเป็นปริมาณส่วนมากของกลุ่มข้าราชการในประเทศไทย  

อย่างไรก็ดี เรื่องการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตลอดจนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถือเป็นนโยบายลำดับต้นๆ ของพรรคเพื่อไทยทุกยุคทุกสมัย 

โดยในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เร่งดำเนินการนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี  

ขณะที่ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ กระทรวงแรงงานที่คราวนี้ไม่ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทย ก็ขยับเหมือนกัน แต่ไม่ได้ขยับแบบพุ่งพรวด โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันว่า จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเริ่มมีการฟื้นตัว แต่ต้องระวังในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้นทุนและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น โดยอาจไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศเนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน 

เรื่องเงินเดือน-ค่าแรงขั้นต่ำ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน แน่นอนว่า การขยับของรัฐบาลในการจะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ย่อมมีเป้าหมายในแง่ของคะแนนนิยมพ่วงด้วยเช่นกัน 

เพียงแต่อาจจะต้องรอไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันยังต้องใช้งบประมาณของปีเก่าอยู่ จึงทำได้เพียงแค่ศึกษา ‘แสตนบายด์’ เอาไว้ 

แต่ดูแล้วทำแน่ หากใช้บรรทัดฐานที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย 

ยิ่งยุคนี้ยิ่งต้องทำ เพราะเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ หนี้สิน ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังสูงสุดจากรัฐบาลชุดนี้ และสัมผัสแตะต้องถึงผลงานได้มากสุด (ถ้าทำได้). 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จตุพร’ ปูดมีความพยายามใช้เงินซื้อ 40 สว. ถอนชื่อ หวังคำร้อง ‘เศรษฐา-พิชิต’ ตกไป

'จตุพร’ แฉมีเงินหว่านลงทุนกับ สว.จำนวนมากตลอดคืน 15-16 พ.ค.หวังกล่อมให้ถอนชื่อคว่ำคำร้องส่งศาล รธน.ปม ‘เศรษฐา-พิชิต’ มีจริยธรรมไม่สุจริตปรากฏชัดเจน เชื่อคุณสมบัติ รมต.ขัด รธน. คาดปฏิบัติการ 40 สว. ลุกลามชี้ชะตาทักษิณ 29 พ.ค.ส่อถูกฟ้อง 112 ขังคุก

รบ.ยันไทยเป็นเจ้าภาพจัด Asian Indoor and Martial Arts Games ยันสร้างรายได้ 1 พันล้าน

รบ.ยันความพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพจัด Asian Indoor and Martial Arts Games ครั้งที่ 6 เชื่อมั่นต่อยอดความสำเร็จอุตสาหกรรมกีฬาของไทยสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 พันล้านบาท

'บุ้ง ทะลุวัง' สังเวยการเมือง บีบรัฐบาลเพื่อไทยเร่งคลี่คลายสถานการณ์

การเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์ หรือ บุ้ง ทะลุวัง จากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์