จับตาเส้นทางประชาธิปัตย์ ผลพวง 'ดีลลับ' พรรคอะไหล่?

“มีช่วงเวลาที่เพื่อไทยต้องเติมเสียงรัฐบาลให้เข้มแข็งมั่นคง เพื่อต่อรองในการเดินหน้ากฎหมายและนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ หากมีพรรคร่วมใดตุกติกขึ้นมาก็สามารถดีดออกไปได้ โดยเฉพาะในช่วงพฤษภาคมนี้ วุฒิสมาชิกก็จะครบวาระ ตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป พรรคอะไหล่-สส.ฝากเลี้ยงจะเป็นตัวแสดงที่สำคัญ”

ในที่สุดที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ลงมติเลือก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 โดยมี "เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค หลังจากการประชุมครั้งก่อนไม่ได้ข้อยุติ

ฝ่ากระแส "ตระบัดสัตย์” เลิกเล่นการเมืองหากไม่ได้สส.เข้าสภาฯ ตามเป้า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ด้วยการแอ็กชันของ 21 สส.ของพรรค ที่ออกหน้าผลักดันให้ “เสี่ยต่อ” ลงสมัครในตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อมากู้วิกฤตพรรคก่อนที่จะจัดประชุมเพียง 2 วัน 

ปฏิบัติการยึดพื้นที่พรรคประชาธิปัตย์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดครั้งนี้ จึงต้องจบแบบไม่ยืดเยื้อ คุมสภาพไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม ก่อนหน้านั้นจึงได้มีการประเมินขุมกำลัง  และเตรียมแผนสำรองไม่ให้การประชุมล้มเหมือนครั้งก่อน  อีกทั้งในการประเมินสายผู้ใหญ่ในพรรคแล้วก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อกรได้ แม้การดัน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขึ้นมาอีกรอบ ก็คงทำได้แค่ใช้เวทีที่ประชุมพรรคในการแสดงจุดยืน และธงอุดมการณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง

“ผมอยู่กับพรรคมา 30 ปี ขอยืนยันว่าการสนับสนุนผู้สมัครของพรรค และการสนับสนุนพรรค ไม่มียุคใดที่ทำได้มากเท่ากับยุคของนายเฉลิมชัย แต่ความพร้อมที่มากที่สุดตรงนั้น กลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุด ต้องยอมรับว่าที่เรามาถึงจุดนี้ เพราะประชาชนมองไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนหรือเป็นตัวแทนของความคิดอะไร....

...เขาบอกการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งเขาเรียกฝ่ายอนุรักษ์ แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา คำตอบเขาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี อดีตนายกฯ ส่วนฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คำตอบของเขา เพราะเขาบอกว่า ประชาธิปัตย์ไปร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทางเดินไปข้างหน้าของพรรค จึงเป็นเรื่องของการค้นหาจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปัตย์ ว่าที่ยืนของเราจะเป็นความหวัง และตัวแทนของความคิดให้กับประชาชน ซึ่งความจริงไม่ได้ยาก สิ่งที่เรามีหรือเคยมี แล้วพรรคอื่นไม่มี มีหลายประการในอุดมการณ์ของพรรค คือองค์กรของเราใหญ่กว่าตัวบุคคลเสมอ อดีตหัวหน้าพรรคที่ผ่านมา 8 คนจะอยู่สั้นหรือยาวไม่เคยเป็นเจ้าของพรรค เพราะถ้าใช้คำว่าคนที่ทำให้พรรคเคลื่อนไหว ผมก็ต้องตอบว่าพรรคคืออุดมการณ์” นายอภิสิทธิ์ระบุ

นั่นคือโจทย์ใหญ่ที่พรรคประชาธิปัตย์เจอในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในทำนองว่า “ไม่มีจุดขาย” ที่ชัดเจน การจัดเฉดประชาธิปไตย เผด็จการ เสรีนิยม อนุรักษนิยม ถูกตีความด้วยพลวัตทางการเมืองแต่ละช่วง ยิ่งเมื่อเจอ “อนุรักษนิยมเข้มข้น” อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือที่เสรีประชาธิปไตยชนิดสุดขั้ว แบบ "พรรคก้าวไกล” สถานะของพรรคประชาธิปัตย์จึงไปไม่สุดซักทาง "ความก้ำกึ่ง” ในภาวะที่คนในสังคมเห็นต่างเป็นสองทาง จึงมีผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรค

สส.ที่ได้รับเลือกจึงเป็นนักการเมืองใน “มุ้ง” ที่ได้รับสนับสนุนกระสุนดินดำ ฝ่ากระแส “ลุงตู่” และก้าวไกล เข้ามานั่งในสภาฯ ได้แบบทุลักทุเล สวนทางกับอุดมคติเรื่องธนกิจการเมืองที่ “ชวน หลีกภัย” ย้ำเตือนเสมอว่า สุดท้ายก็จบด้วยการต้องเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อถอนทุน

แน่นอนว่าผู้บริหารชุดใหม่ของ “พรรคประชาธิปัตย์" ไม่ได้ดีเด่นเรื่องภาพลักษณ์และอุดมการณ์  ที่จะสร้างการยอมรับจากแฟนคลับของพรรคแม่พระธรณีบีบมวยผมแห่งนี้ได้ แต่เครือข่ายในการขับเคลื่อนเพื่อสานต่อ “สมการการเมือง” ที่ได้วางไว้ น่าจะเล็งเห็นผลที่เป็นรูปธรรมได้จริง

ทำให้ย้อนนึกถึง “ดีลลับ” เมื่อช่วงรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล กระแสข่าวของแกนนำหลักของพรรคที่เดินทางไปพบ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ฮ่องกง รวมไปถึงปฏิกิริยามือ สส.ในสภาฯ ในเรื่องที่สำคัญ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป ว่าก้าวย่างต่อจากนี้จะเป็นไปตามดีลที่คุยกันไว้หรือไม่

ไม่นับ “เก้าอี้” ในคณะรัฐมนตรี 2 ที่นั่ง เปิดว่างไว้ล่อ  เหมือนพิสูจน์สัญญาที่เคยมีการเจรจากันไว้ เพื่อรอจังหวะเวลาอันเหมาะสม

เพราะอย่าลืมว่า มีช่วงเวลาที่เพื่อไทยต้องเติมเสียงรัฐบาลให้เข้มแข็งมั่นคง เพื่อต่อรองในการเดินหน้ากฎหมายและนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ หากมีพรรคร่วมใด “ตุกติก” ขึ้นมาก็สามารถดีดออกไปได้ โดยเฉพาะในช่วงพฤษภาคมนี้ วุฒิสมาชิกก็จะครบวาระ ตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป “พรรคอะไหล่-สส.ฝากเลี้ยง” จะเป็นตัวแสดงที่สำคัญ

“วันนี้ตอบคำถามตรงนี้ได้ แต่วันหน้าผมไม่สามารถเดาได้ ส่วนใหญ่เวลาตอบคำถามอนาคตจะเดากันถูกก็ถือว่าเก่ง แต่ถ้าไม่ถูกก็เฉยๆ ขอยืนยันว่าวันนี้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน และวันที่ 12 ธ.ค. มีการเปิดสมัยประชุมสภา เราจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สมบูรณ์และเข้มแข็งที่สุด” นายเฉลิมชัยกล่าว เมื่อถูกถามถึงการเข้าร่วมรัฐบาล

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าประชาธิปัตย์จะไม่ไปร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า “ตอนนี้เราเป็นฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด" 

ซักต่อว่า ในอนาคตหากมีการทาบทามหรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคพร้อมจะไปร่วมใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัยตอบว่า “เราต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติและพรรค ไม่ใช่ตัวบุคคล ผมเรียนเลยว่าไม่มีการตัดสินใจง่ายๆ เด็ดขาด และสิ่งที่ผมจะบอกทุกท่านคือ ผมมาทำภารกิจให้พรรคเพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นพูดไว้ตรงนี้ได้เลยว่าพรรคจะต้องเดินไปข้างหน้าก่อน ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรไม่มีใครเดาได้ แต่หลักการอุดมการณ์ของพรรคต้องอยู่”

จึงดูเหมือนว่า “ประชาธิปัตย์" อาจต้องรอเงื่อนไข และเหตุผลที่มีน้ำหนักพอ ในการจะเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคตข้างหน้า เพราะอย่าลืมว่า “ภัย” จากข้อกล่าวหาต่างๆ เมื่อครั้งที่ รมต.ของพรรคไปคุมกระทรวงแล้วถูกพาดพิงใกล้ตัวเข้ามาทุกที หรือแม้กระทั่ง “แบ็กกราวด์”  ของผู้บริหารบางคนก็เป็นจุดอ่อนที่อาจถูกเปิดแผลได้ในอนาคต ดังนั้นการเข้าไปมีอำนาจรัฐจึงสร้างความอุ่นใจได้มากกว่าการนั่งเป็นฝ่ายค้าน

ที่สำคัญคือ การเตรียมพร้อมเพื่อสะสมสรรพกำลัง เสบียงกรัง ในการพัฒนาพรรคและสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว

และถ้าไม่มีการส่งกำลังบำรุงเพื่อปลุกกระแสพรรคให้ได้รับการยอมรับอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มว่าจะมี สส.และนักการเมืองไหลออกจากพรรคไปจำนวนหนึ่ง เพราะรู้ดีว่าลำบากในการทำพื้นที่ ส่งผลให้ยากที่จะกลับมาเป็นพรรคขนาดใหญ่และมี สส.จำนวนมากได้เหมือนเดิม

จึงต้องรอพิสูจน์ฝีมือ “หัวหน้าต่อ” กับ “เลขาฯ ชาย”  (เดชอิศม์ ขาวทอง) จะนำพาพรรคและวางบทบาททางการเมืองอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ประชาธิปัตย์เองเคยตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมาอย่างยาวนานและเข้มข้น

อีกทั้งจะสร้างความเป็นเอกภาพ ลดการแบ่งฝักฝ่าย ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ในฐานะเลือดสีฟ้าเหมือนกัน ได้เข้ามามีบทบาทรักษาจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปัตย์ให้คงอยู่ ตามที่ได้ประกาศเป็นภารกิจแรกในการเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค โดยยืนยันว่าจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง

รวมถึงโจทย์ใหญ่ ในการที่จะพลิกโฉม สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังยุควิกฤตศรัทธาได้จริง เรียกคะแนนความนิยมกลับคืนมา ด้วยจุดยืนของผู้บริหารชุดใหม่ได้ตามประกาศหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา