มกราคม 2567 จุดเปลี่ยน-โค้งอันตราย นับถอยหลัง 'คดีพิธา-ก้าวไกล'

 

ความเคลื่อนไหวของ พรรคก้าวไกล ทั้ง สส.และแกนนำพรรค ที่เป็นพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง มี สส.มากที่สุดในสภาฯ ได้คะแนนเสียงตอนเลือกตั้งเข้ามา 14 ล้านเสียง แต่ไม่สามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาล ทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชวดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30  ของประเทศไทย จนสุดท้าย เศรษฐา ทวีสิน จากเพื่อไทย ได้เป็นนายกฯ แทนแบบส้มหล่น

ด้วยการที่ พรรคก้าวไกล มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างที่เห็นกัน แม้ตอนนี้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ทุกย่างก้าวของพรรคก้าวไกลและคนในพรรค ล้วนถูกจับตามองอย่างมากในการเมืองไทย พ.ศ.นี้

และช่วงนี้ คนในพรรคก้าวไกล ก็มีความเคลื่อนไหวและมีประเด็นที่ถูกพูดถึงและถูกจับตามอง

ทั้งกรณี ไอซ์-รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคก้าวไกล โดนศาลอาญาตัดสินจำคุก 6 ปี ในคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่งแม้จะได้รับการประกันตัว ไม่ต้องหลุดจาก สส. แต่หากใครได้อ่านรายละเอียดแห่งคดี จะพบว่า ไอซ์ รักชนก อยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอย่างมาก และตกที่นั่งลำบากในการสู้คดี ทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกา

หรือสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากช่วงหลังเก็บตัวเงียบทางการเมืองมานาน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดแถลงข่าว อภิปรายผลงานการบริหารประเทศของเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ในช่วงที่กำลังจะเข้ามาเป็นนายกฯ ครบ 100 วัน โดยแม้จะมีบางส่วนที่พิธาให้คะแนนรัฐบาลเศรษฐา ว่าทำงานได้ดี เช่นการช่วยเหลือแรงงานไทยที่อิสราเอลให้เดินทางกลับโดยปลอดภัย แต่ภาพรวม พิธา ก็หวดการทำงานของเศรษฐาและรัฐบาลเพื่อไทย ไปหลายดอก

แต่เรื่องของ พรรคก้าวไกล ที่ต้องติดตามต่อจากนี้ ก็คือ

เรื่อง คำร้อง-คดีความ ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มีด้วยกันสองคดี ที่จะชี้ชะตาความเป็นไปทางการเมืองของ พิธา-ก้าวไกล  

คดีแรก ก็คือคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพการเป็น สส.ของพิธา ว่ายื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการยื่นสมัคร สส.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 ว่า สถานภาพการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) กรณี "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่”หรือ คดีหุ้นสื่อไอทีวี นั่นเอง  

คำร้องคดีนี้ ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้พิธา ในฐานะผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับแต่วันที่ 13 ก.ค.2566 เป็นต้นมา จากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีการประชุมหารือทางคดีมาต่อเนื่อง ระหว่างที่ให้ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องยื่นพยานเอกสารต่างๆ เพื่อสู้คดี

จนสุดท้าย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นควรให้มีการเปิดห้องพิจารณา ไต่สวนคดี โดยเรียกผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง และพยานบุคคลของทั้งสองฝ่าย มาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 20 ธ.ค.นี้

และหากเสร็จสิ้นการไต่สวนแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะประกาศนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลงมติตัดสินคดีทันที ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ที่ก็คาดว่า น่าจะนัดลงมติและเผยแพร่ผลการพิจารณาคดีภายในเดือนมกราคม หรือช้าสุดก็คงไม่น่าจะเกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567

โดยผลแห่งคดี หุ้นสื่อไอทีวี หากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติด้วยเสียงข้างมากหรือเอกฉันท์ ให้ยกคำร้อง ก็จะทำให้พิธาได้กลับมาทำหน้าที่ สส.ในสภาฯ อีกครั้ง และคาดว่าจะทำให้ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลกันใหม่ เพื่อเลือกให้พิธา กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกรอบ และถูกเสนอชื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ต่อไป

แต่หากผลออกมาตรงกันข้าม คือ เสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไอทีวียังมีสถานะเป็นธุรกิจสื่อสารมวลชนอยู่ แม้ตอนนี้จะยุติการออกอากาศใดๆ ไปแล้ว อีกทั้งเห็นว่าพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวีไว้โดยไม่ได้จำหน่าย-จ่ายโอนไปยังบุคคลอื่น ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีเจตนาถือครองหุ้นดังกล่าวที่ได้รับเป็นมรดกไว้ ถ้าเป็นแบบนี้ พิธาก็ไม่รอด ต้องหลุดจาก สส.อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้โดนตัดสิทธิ์การเมืองใดๆ ยังสามารถลงเลือกตั้งได้อีก

โดยก่อนไปขึ้นศาลรัฐธรรมนูญกลางสัปดาห์นี้  พิธา กล่าวถึงการเตรียมตัวเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน-ซักถาม ว่า ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และมีความพร้อมที่จะขึ้นให้การไต่สวนพยาน ทั้งในเรื่องของหลักฐานที่เป็นหลักฐานส่วนตัว ในส่วนของผู้จัดการมรดก และหลักฐานว่าไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมองเรื่องของรายได้ เรื่องของสัญญาอนุญาตที่ต้องขอในการทำสื่อจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ซึ่งตรงนี้  กสทช.ตอบกลับมาชัดเจนว่า ไม่มีสัญญาอนุญาตทำสื่อของไอทีวี

"ดังนั้น ตรงนี้ก็พร้อมที่จะขึ้นบัลลังก์ในการให้ปากคำในฝั่งของผม และมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ผิด ทั้งนี้ แนวเรื่องของการเป็นผู้จัดการมรดกมีหลักฐานที่ไม่เคยเปิดที่ไหน ก็จะใช้ส่วนนี้จะอธิบายต่อสาธารณะ"

ส่วนคดีที่สอง ก็คือ "คำร้องคดีพรรคก้าวไกลและ สส.พรรคก้าวไกล พฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่" ที่ยื่นคำร้องโดย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ซึ่งได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยหลังศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อช่วงมิถุนายน 2566 ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีการดำเนินการประชุมปรึกษาหารือทางคดีมาตลอดหลายเดือน หลังทั้งผู้ร้องคือนายธีรยุทธ ที่เป็นทนายความส่วนตัวของ พุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย นครปฐม อดีตแนวร่วม กปปส. และพรรคก้าวไกล ได้ยื่นเอกสารการต่อสู้คดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนสุดท้าย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้มีการ เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี เช่นเดียวกับ คดีหุ้นสื่อพิธา  

ซึ่งศาลได้นัดหมายไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าว  ด้วยการเรียกผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง และพยานที่ทั้งสองฝ่ายยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมาให้ถ้อยคำเพื่อไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าวในวันพุธที่  25 ธ.ค.นี้

และหลังศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนฝ่ายผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง และพยานที่เรียกมาในวันดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ศาลจะประกาศนัดวันลงมติและอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะไม่เกินเดือนมกราคม 2567 หรืออย่างช้าสุด ไม่เกินกุมภาพันธ์ 2567

อนึ่ง คำร้องคดีดังกล่าว ไม่ใช่คำร้องเพื่อให้มีการยุบพรรคก้าวไกล-ตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรค-สส.พรรคก้าวไกลแต่อย่างใด แต่เป็นคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวเรื่อง 112 โดยเด็ดขาด โดยหากศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง เรื่องก็จบ แต่ถ้าศาลสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเรื่องมาตรา 112 มันจะเป็น  ดาบสอง ที่จะทำให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามก้าวไกล นำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวไปต่อยอดเป็นดาบสอง ยื่นยุบพรรคก้าวไกลต่อไป ผ่านช่องทางไปยื่นเรื่องต่อ กกต.เพื่อให้ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่บัญญัติว่า

 หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”

ทาง ธีระยุทธ-ผู้ร้องคดีพรรคก้าวไกลเสนอแก้มาตรา 112 ดังกล่าว บอกกับ ทีมข่าวการเมืองไทยโพสต์ ว่า การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลที่เสนอสภาฯ สมัยที่แล้ว คนที่เซ็นอยู่ข้างท้ายในร่างดังกล่าว คนแรกก็คือนายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลในเวลานั้น โดยมี สส.พรรคก้าวไกลลงชื่อรับรองการเสนอร่างเข้าสภา  ซึ่งหากศาลมองไกลไปถึงคำว่า "พรรค" แล้ว จุดเกิดเหตุมันอยู่ที่การเสนอร่างฯ ไม่ใช่แค่นายพิธาที่จะโดน แต่ สส.ที่ร่วมลงชื่อรับรองร่างฯ ดังกล่าวอีกหลายสิบคนให้เสนอสภาฯ ก็อาจจะโดนด้วย

"คำร้องคดีนี้ หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลหยุดเรื่อง 112 ศาลจะวินิจฉัยก่อนว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และจะมีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ในวันข้างหน้า ซึ่งหากเห็นว่า เข้าข่าย ก็อาจเห็นควรมีคำสั่งให้หยุดการกระทำต่างๆ ตามที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาล

หากเป็นเช่นนั้น เหตุผลจากคำวินิจฉัย ว่าพฤติกรรมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ และอาจเป็นการล้มล้าง เหตุผลดังกล่าวนั้น จึงจะเป็นหลักฐานอันควรเชื่อว่า เป็นเหตุอันควรยุบพรรค ซึ่งจะเป็นคำร้องดอกสองต่อไป"

การเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีหุ้นสื่อของพิธาวันที่ 20 ธ.ค.และคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ วันที่ 25 ธ.ค. จึงเป็นแมตช์สำคัญทางการเมืองและการสู้คดีของพิธาและก้าวไกล

ก่อนจะไปรอรู้ผลกันในช่วงเดือนมกราคม ปีหน้า หรือช้าสุดไม่เกินกุมภาพันธ์ 2567 ว่าสุดท้าย “พิธา-ก้าวไกล” จะรอดหรือจะร่วง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บุ้ง ทะลุวัง' สังเวยการเมือง บีบรัฐบาลเพื่อไทยเร่งคลี่คลายสถานการณ์

การเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์ หรือ บุ้ง ทะลุวัง จากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

'คารม' แจง ป.ป.ช. พยานคดี สส.ก้าวไกล แก้ 112 ชี้นิรโทษยกเข่งรอดหมด

'คารม' แจง 'ป.ป.ช.' ในฐานะพยาน ปม สส.ก้าวไกล ลงชื่อแก้ ม.112 พร้อมถามใครเจ้ากี้เจ้าการ เชื่อนิรโทษล้างผิดยกเข่ง 'ผู้นำจิตวิญญาณ - สส.พรรคส้ม' รอดหมด

'ชัยธวัช' โทษการไม่ให้สิทธิประกันตัว 'บุ้ง' ต้นเหตุอดอาหารตาย ปัด 'ก้าวไกล' อยู่เบื้องหลัง

'ชัยธวัช' ชวนสังคมมองต้นเหตุของโศกนาฏกรรม ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ คือการไม่ให้สิทธิประกันตัว ยัน 'ก้าวไกล' ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว

ทวงสัญญารัฐบาลเพื่อไทย แก้กม.-ปล่อยตัวนักโทษม.112

การต่อสู้ของ “เนติพร เสน่ห์สังคม” หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้สิ้นสุดลง เพราะเธอจากไปขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ด้วยอาการหัวใจวาย เนื่องมาจากอดข้าวอดน้ำประท้วง เรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

'เด็กก้าวไกล' จี้รัฐบาลเร่งดันร่างกฏหมาย PRTR

'ชุติพงศ์' จี้รัฐบาล เร่งดันร่างกฏหมาย PRTR หลังเกิดเพลิงไหม้-สารรั่วไหลทั่วประเทศเกือบ 10 ครั้ง เผยโรงงานระยองไฟปะทุ ก่อควันพิษกระทบสุขภาพ ปชช.-โรงเรียนในพื้นที่เปิดไม่ได้

พท.ดึง “กัญชา” กลับยาเสพติด "กลบเกลื่อน" ผลงานไม่ตรงปก

รัฐบาลเศรษฐา 1/1 ชูธงนโยบายใหม่ปราบยาเสพติด ตั้งเป้าเปลี่ยนยาบ้าจาก 5 เม็ด เป็น 1 เม็ดเป็นผู้ค้า รวมถึงตีปี๊บดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติดหวังดึงคะแนนเสียงจากสังคม อย่างเช่น ยุครัฐบาลทักษิณ ที่ได้รับเสียงชื่นชมมาแล้ว