ปูพรมแดง'อุ๊งอิ๊ง'คุมการเมือง โจทย์ยากอัศวินคลื่นลูกที่ 3

“ฐานการเมืองจึงกลายเป็นมรดกชิ้นสำคัญ ที่จะปล่อยให้ใครเข้ามายึดกุม หรือตั้งหุ่นกระบอกไว้คอยชักใยไม่ได้ แต่ต้องเป็นตัวจริงจากตระกูลที่ส่งมาบริหารจัดการตามแนวทางที่เขามองไว้”

สัปดาห์หน้าทิศทางข่าวคงโฟกัสไปที่สถานการณ์หลัง ทักษิณ ชินวัตร ถูกพักโทษ ว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดขึ้นบ้าง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเขาอาจจะเก็บตัวเงียบพักใหญ่ เพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายการติดตาม ก่อนจะมานั่งในตำแหน่งประธานมูลนิธิไทยคม ทำงานการกุศล และให้คำปรึกษาทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ตามพระราชหัตถเลขาฯ อภัยโทษ  

แถมยังต้องเดินหน้าในภารกิจพาน้องสาวกลับบ้าน ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการเช่นกัน จึงยังไม่ใช่ห้วงเวลาที่จะเดินหน้าในการเข้าไปชี้นิ้วการบริหารงานระดับนโยบาย ล่อสปอตไลต์ให้มาโฟกัสจนขยับอะไรไม่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากที่เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจนได้กลับประเทศไทย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ได้ถูกจำคุกในเรือนจำ เพราะใช้อาการป่วยเป็นเหตุขอเข้ารับการรักษาตามการวินิจฉัยของแพทย์ จนมาอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ความเป็น นักโทษเทวดา ก็ถูกสังคมจับตามองอยู่ดี

ระหว่างทางก่อนครบ 180 วัน ยังมีปรากฏการณ์แก้ไขระเบียบกรมราชทัณฑ์ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอน Home Arrest แต่กระแสสังคมไม่เป็นใจ มีขั้นตอนยุ่งยาก จึงต้องรอจนเข้าล็อกเรื่องการพักโทษในฐานะของผู้สูงอายุ จึงทำให้ต้องอยู่ที่ชั้น 14 ถึง 6 เดือน ไม่สามารถกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวอย่างที่ตั้งใจแต่ต้น

ข้อครหาในการไม่ยอมติดคุกตามคำพิพากษาคดีทุจริต โดยถูกมองว่าใช้เทคนิคและเครือข่ายในการเอื้ออำนวย กลายเป็นหัวเชื้อให้กลุ่มมวลชนที่เคยต้านระบอบทักษิณเริ่มออกมาเคลื่อนไหว ตั้งคำถามถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชน แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก

และแม้ “ป.ป.ช.” จะรับคำร้องยื่นให้ไต่สวนกรมราชทัณฑ์ และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กับพวกและฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่ผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการหรือนักการเมือง และกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์ แต่ก็ดูเหมือนแค่ลดกระแส และกว่าจะสอบสวนเสร็จคงต้องใช้เวลาอีกนาน 

ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” เพิ่งตื่นมาตั้งคำถามเรื่องกระบวนการก่อนพักโทษให้กับ “ทักษิณ” เหมือนเล่นปาหี่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ออกอาการ ไม่กล้าแตะ จนมีการตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของพรรคตัวจริงอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กับ "ทักษิณ” ที่บินไปพบกับก่อนเลือกตั้ง

ถึงเวลานี้แน่ชัดแล้วว่า ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เลือกแนวทางที่ไม่แตะต้องสถาบัน ไม่มีจุดร่วมเรื่องนี้กับก้าวไกลอีกต่อไป กระแสข่าวดีลนิรโทษกรรม ม.112 จึงยากที่จะเกิดขึ้น ยิ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากกรณีขบวนเสด็จฯ การแสดงออกของสมาชิกพรรคก้าวไกลยิ่งทำให้ปลุกมวลชนออกมาแสดงพลังไม่เอาฝ่ายที่วิพากษ์เจ้าอย่างชัดเจน การถอยให้ห่างจากประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่ดีสุดในขณะนี้

และก็เชื่อว่า “ทักษิณ” จะไม่แสดงตัวในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเปิดเผย แต่ก็ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงได้ในการเข้าไปเป็น “เงา” กำหนดทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายนโยบายถูกแขวนไว้เหมือนรอการตัดสินใจ โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่กรรมการชุดใหญ่มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. อีก 1 เดือน เหมือนเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ ยื้อเวลารอการเคาะจาก "ทักษิณ” ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้ให้ไอเดียกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

จึงไม่แปลกที่จะมีการมองว่า ประเทศไทยต่อจากนี้จะมีนายกฯ 2 คนทับซ้อนกัน ส่งผลให้คนของเพื่อไทย และรัฐมนตรีของพรรค ฟังแต่การส่งสัญญาณจาก "ทักษิณ” เป็นหลัก ถนนทุกสายจะวิ่งไปสู่ผู้มีอำนาจตัวจริง ไม่มีใครเห็นหัว “นายกฯ” ตามกฎหมายว่าจะสั่งการอะไรบ้าง

สุ่มเสี่ยงเกิดความสับสนในการบริหารงาน เพราะต่างรอสัญญาณที่ไม่ได้มาจากทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด

ต้องยอมรับว่าการขึ้นมาเป็นนายกฯ ของเศรษฐา ทวีสิน นั้นก็เป็นการให้ไฟเขียวของคนในตระกูล “ชินวัตร” ที่เห็นว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอีกคน ยังต้อง บ่มให้สุก รอให้มีประสบการณ์และอาวุโสมากกว่านี้ และช่วงนั้นกระแสพรรคก้าวไกลมาแรง การส่ง “อุ๊งอิ๊ง” ลงสนามเลยอาจถูกแรงปะทะจากแฟนคลับที่กำลังคลั่งไคล้

ส้มจึงหล่นที่ “อานิด” ซึ่งได้รับการผลักดันให้เข้ามาขัดตาทัพ กระชับด้วยภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำฟื้นเศรษฐกิจผลงานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ แบ่งภาคกับการเมืองเรื่องการฟอร์มรัฐบาลผ่าน “ดีล” นอกประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนโอกาสส่วนตัวกับโอกาสทางการเมือง เพื่อปิดแนวทางเซาะกร่อน-บ่อนทำลายสถาบัน ตามการวินิจฉัยของศาล รธน.

ที่ผ่านมา ด้วยบุญเก่าและความสัมพันธ์ในทุกองคาพยพ “รัฐบาลเศรษฐา” มีผลงานอยู่ในระดับ “ทรงๆ” ไม่ได้โดดเด่นเหมือนที่วาดฝันให้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ถึงขนาดที่ “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เย้ยในสภา ในทำนองว่า “ไหนคุยว่าเก่งเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันยังถูกมรสุมภายในจากกระแสข่าวว่าถูกบ่นเรื่อง ใจไม่ถึง เงื้อค้างในปฏิบัติการคืนอิสระให้ “ทักษิณ” ปล่อยให้ต้องนอนรออยู่ที่ชั้น 14 ถึง 6 เดือน

จนทำให้มองว่าเก้าอี้ “เศรษฐา” อาจจะไม่มั่นคง เพราะไม่เข้าตา “นายใหญ่” ที่อยากปรับทัพสร้าง “ดรีมทีม” เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากใน ครม.เศรษฐา 1 ได้ตอบแทนแจกเก้าอี้คนทำงานและผู้มีพระคุณเรียบร้อยไปแล้ว

อาจถึงจังหวะเวลาในการวางคนที่ตัวเองเล็งไว้ใน ครม.ชุดใหม่ เพียงแต่ต้องฝ่าด่านครอบครัวว่าจะมีคนขวางเปลี่ยนตัวนายกฯ ที่ชื่อเศรษฐาหรือไม่

เพียงแต่ถ้าเปลี่ยนตัวตอนนี้ก็มีความกังวลว่า “อุ๊งอิ๊ง” มีความพร้อมในการที่จะนั่งเป็นนายกฯ ในตอนนี้ได้หรือ?

จากผลงานการนั่งเป็นประธานกรรมกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี "หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นั่งเคียงข้าง ยังเรียกว่าไม่เข้าตา

ถูกท้าทายในการตอบเรื่องคำนิยามที่แวดวงวิชาการยังตีความและถกเถียงยังไม่จบสิ้น แถมการทุ่มงบ 5 พันล้านในปี 2567 เลยไปถึงการตั้งงบอีก 2568 ที่คาดว่าอาจจะมีการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมารองรับเหมือนโมเดลเกาหลีใต้ มุ่งเดินหน้าในการใช้ยุทธศาสตร์หาเงินเข้าประเทศ

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายถ้า “อุ๊งอิ๊ง” ต้องบินเดี่ยว โดยไม่มีพี่เลี้ยงที่เป็น “ลูกจ้าง” ของบิดาเข้ามาประกบ

ยังไม่นับสิ่งที่คาดไม่ถึงอันเกิดจากเหตุไม่พึงประสงค์ จากกรณีอนุกรรมการฯ ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติลาออกยกชุด จนเมาธ์กันสนุกปากเรื่องปมเหตุ แต่กรรมการแต่ละคนนั้นเป็นที่รู้กันว่ามีผู้สนับสนุนที่ “ไม่ธรรมดา”

จนมีข่าวว่า จากเรื่องดังกล่าวทำให้ต้องคิดหนัก และมีการจัดทัพปรับพีเรียดการรับมรดกทางการเมืองของ “อุ๊งอิ๊ง” ออกไปก่อน

โดยมีข่าวเรื่องหัวหน้าพรรคร่วมที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตอีก 2 คนขยับปรับท่าทีหากมีการเปลี่ยนนายกฯ ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนไปอยู่แดนไกลต้องเข้ามาจัดการหลายสิ่งหลายอย่างภายใต้ข้อมูลที่จำกัด

และเป็นโจทย์ใหญ่ในการวาง “ไทม์เฟรม” ทางการเมืองให้ลงตัว ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขที่แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่จะชี้นิ้วสั่งการ หรือส่งใครลงไปนั่งตรงไหนก็ได้

เมื่อสมการอำนาจหลังจาก “ดีลลับ” เปลี่ยนไป การจะตัดสินใจสิ่งใดจึงต้องคิดแบบรอบด้าน ไม่ออกหน้า “เลยธง” พูดได้ทุกเรื่องเหมือนที่ผ่านมา

“ทักษิณ” ในวันนี้แม้จะเป็นคนเดิม แต่เชื่อว่า “ไม่ได้ห้าว” เหมือนเมื่อก่อน เพราะเป้าหมายคือครอบครัว ธุรกิจ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจัยหลังสุดจะเป็นตัวทำให้ “ชินวัตร” ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงหรือไม่

พร้อมกับใช้บทเรียนที่ผ่านมาปรับวิธีการ แบ่งสรรผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียอย่างเหมาะสม

ฐานการเมืองจึงกลายเป็นมรดกชิ้นสำคัญ ที่จะปล่อยให้ใครเข้ามายึดกุม หรือตั้งหุ่นกระบอกไว้คอยชักใยไม่ได้ แต่ต้องเป็นตัวจริงจากตระกูลที่ส่งมาบริหารจัดการตามแนวทางที่เขามองไว้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ตามอำเภอใจ เพราะปัจจัยของคนในครอบครัวก็มีอิทธิพลในการตัดสินใจค่อนข้างสูง

แต่เป้าหมายในการใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ เชื่อว่ายังเดินหน้าตั้งใจทำภารกิจ เสริมสร้าง บ่มเพาะให้ทายาทได้ลงเล่นในสนามนี้ โดยไม่ต้องเจอแรงเสียดทานเหมือนที่ตัวเองเจอมากเกินไป

พร้อมไปกับการปูพรมแดงด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ปรับเทรนด์การเมืองจากการต่อสู้เรื่องอุดมการณ์-ความคิด มาเป็นเรื่องปากท้องที่สัมผัสได้ เพียงแต่ฐานเสียงคนรุ่นใหม่จะซื้อไอเดียนี้ และนำไปสู่ชัยชนะของเพื่อไทยแบบเบ็ดเสร็จตามที่เขาหวังได้อีกหรือไม่

เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่งัดข้อกับ “ก้าวไกล” หลังจากพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

แต่ในที่สุดจะเป็นบทพิสูจน์ “อัศวินคลื่นลูกที่ 3” ที่เคยเฟื่องฟูมาในอดีต จะฝ่าสายลมที่เปลี่ยนแปลง วางฐานปูพรมแดงให้ทายาทขึ้นมายืนอยู่แถวหน้า ขึ้นแท่นเบอร์ 1 สร้างกระแสฟีเวอร์เหมือนยุคตัวเองได้หรือไม่.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ก.ตร. ไฟเขียวแต่งตั้ง 43 นายพลสีกากี 'สุรพงษ์ ชัยจันทร์' ผงาดที่ปรึกษาพิเศษตร.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นประธานเพื่อประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 3/2567 โดยมีวาระการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ

นายกฯ เผย ก.ตร. มีมติส่งคำร้อง 'บิ๊กโจ๊ก' ให้ฝ่ายวินัยพิจารณาอีกรอบ ปมสั่งช่วยราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 3/2567 ว่า วันนี้วาระสำคัญของการประชุมนอกจากแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ยังมีเรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด ทั้งที่มีต่อตนในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ตร.

นายกฯ มั่นใจคุณสมบัติ 'พิชิต' ถามกฤษฎีกาแล้ว อุบ 'มาริษ' แทน 'ปานปรีย์'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเตรียมร้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

'หมอวรงค์' ฟันธง! เพื่อไทยกำลังตกต่ำ ทำลาย 'หมอชลน่าน' จนหมดราคาเป็นเพียงลูกจ้างบริษัท

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า พรรคเพื่อไทยกำลังตกต่ำ โดยส่วนตัว ผมกับหมอชลน่าน