'ก้าวไกล' ไม่ยื่นซักฟอก 'รัฐบาล' เกรงใจหรือกลัวถูกย้อนเกล็ด?

จากการกลับคำของ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ว่า "ซักฟอกที่เป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจโอกาสมีน้อยมากจริงๆ เพราะรัฐบาลก็เพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนทำเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ยังไม่มีประเด็นใหญ่มากที่จะเปิดอภิปราย ถ้าเปิดแล้วไม่มีคุณภาพ ไม่เปิดดีกว่า ควรใช้เมื่อเหมาะสม"

ทั้งที่ ก้าวไกล เคยตั้งมั่นว่าจะ อภิปรายไม่ไว้วางใจ และเคยคาดหวังให้เป็น "เวทีใหญ่" ได้โอกาส "ชำแหละรัฐบาล"

เปลี่ยนเป็นเตรียมยื่นขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. ทิ้งท้ายก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรแทน

แม้ นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะย้ำว่า “ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูล ปัญหาของการบริหารของรัฐบาลมีเยอะ เพียงแต่ข้อมูลด้านการทุจริตในระดับที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องไปดูก่อน”

และยืนยันเสียงแข็งว่า “ไม่มีเรื่องที่จะต้องไปเกรงใจ หรือออมมือให้ใคร”

ก็ไม่ทำให้สังคมสิ้นสงสัย ในการเสาะหา ‘สาเหตุที่แท้จริง’ จากการเปลี่ยนรูปแบบการอภิปรายครั้งนี้ ว่าเป็นการปรับแผนรายวันตามสถานการณ์หรือไม่?

สวนทางกับ สมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ยอมอ่อนข้อ และตั้งมั่นในการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในช่วงปลายเดือน มี.ค. เพื่อสอบถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ถึงปัญหาวิกฤต 7 ด้านของประเทศ

โดยเฉพาะ ‘ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งเน้นย้ำไปที่ ‘โครงการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต’

และปัญหา "ด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย" ในกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนถึง "ความสองมาตรฐาน" หรือไม่

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยนี้ ทำให้ถูกเชื่อมโยงไปถึงกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เคยเดินทางไปพบกับนายทักษิณที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2566 ในช่วงตั้งรัฐบาล ซึ่งธนาธรเคยให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยคือพันธมิตรกัน

ที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘ก้าวไกล’ หรือไม่

เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีที่อ่อนลง และคล้ายจะยอมถอยในหลายเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ที่นายทักษิณได้รับการพักโทษ กลับมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่

แม้ ก้าวไกล จะมีการตั้งกระทู้ถามในสภาก็จริง แต่ก็ยังเป็นการแตะ กระบวนการ ไม่ใช่ ตัวบุคคล

สอดรับกับเมื่อ คนในพรรค ถูกถามในกรณีนายทักษิณ ก็ต่างตอบแบบ ‘แบ่งรับแบ่งสู้’ เหมือนเกรงใจ

หรืออาจเป็นเพราะ กลัวถูกย้อนเกล็ด เสียเอง หากผลีผลามเปิดศึกใหญ่ หรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรรุนแรงเกินงามหรือไม่

เนื่องจากยังมีชนักติดหลัง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในการกระทำที่ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

จึงต้องระมัดระวัง ทั้งการพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม และอะไรที่เชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อาจถูกหยิบมาเล่นงานได้ทุกเมื่อ

คงต้องรอดูกันในศึกจริงว่า ก้าวไกล จะสามารถทำหน้าที่ ฝ่ายค้าน เชิงรุก ได้อย่างที่เคยบอกไว้ได้จริงหรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา