หลังจากวันที่ 23 พ.ค.2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องคดีที่กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฯ แต่ก็มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้เศรษฐาหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ เรียกว่ารอดแบบฉิวเฉียด
ในที่สุดก็มาถึงวันชี้ชะตา เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ที่จะได้รู้กันว่า เศรษฐายังได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ต่อไป หรือประเทศไทยจะต้องมีการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อไปเป็นนายกฯ คนที่ 31 ที่จะรู้ผลกันวันพุธนี้ 14 ส.ค. หลังศาล รธน.ใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องคดีนี้ 84 วัน นับแต่วันรับคำร้องจนถึงวันตัดสิน
ผลการวินิจฉัยของ 9 ตุลาการศาล รธน.จะออกมาได้สองทางเท่านั้น คือ ศาล รธน.ยกคำร้อง ที่หมายถึงเศรษฐารอด ไม่หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ที่จะทำให้เศรษฐาเดินหน้าทำงานต่อไป จากนั้นคาดว่าอีกไม่นานอาจจะมีการปรับ ครม.แบบเล็กๆ เกิดขึ้น เพราะตอนนี้มีเก้าอี้ รมต.ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง
คือโควตาเพื่อไทย หลังพิชิต ชื่นบาน ลาออกจากตำแหน่ง รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กับโควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออกจาก รมช.คลัง
ที่ล่าสุด รวมไทยสร้างชาติเคาะแล้วให้ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคฯ เป็นรัฐมนตรีในโควตาพรรค แต่จะใช่ รมช.คลังในตำแหน่งเดิมของกฤษฎาหรือไม่ต้องรอผลการเจรจาความทางการเมืองต่อไป
โดยหากจับกระแสการเมือง ช่วงหลังจะพบว่ามีการมองกันว่า เศรษฐาน่าจะรอด หลังเห็นสัญญาณการเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะ ภาพที่เศรษฐาได้พบเจอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน ผนวกกับมีการออกโปรแกรมเดินสายต่างจังหวัดของเศรษฐาตั้งแต่ 15-31 ส.ค. ไล่ตั้งแต่ 15-16 ส.ค. ไปประชุมแม่โขง-ล้านช้างที่เชียงใหม่, 17-20 ส.ค. วางคิวไปจังหวัดนครนายก-สระบุรี-ชัยนาท-สิงห์บุรี และประชุม ครม.สัญจรที่อยุธยา และ 21-23 ส.ค. ไปตาก-เชียงใหม่-เชียงราย ตบท้ายวันที่ 31 ส.ค. ไปนครพนม-บึงกาฬ
ซึ่งวันที่ 15 ส.ค.ก็คือวันรุ่งขึ้นหลังศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีของตนเอง
จนลือกันในแวดวงการเมืองว่า หรือไม่แน่ เศรษฐาและแกนนำเพื่อไทยจะรู้ข่าวอินไซด์บางอย่าง จนมั่นใจว่ารอดแน่ ถึงได้วางโปรแกรมเดินสายออกต่างจังหวัดวันรุ่งขึ้นหลังศาล รธน.ตัดสินคดีทันที
ส่วนคำตัดสินอีกทางของศาล รธน.ก็คือ เศรษฐาไม่รอด-ต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) เพราะศาล รธน.เห็นว่า การที่เศรษฐานำชื่อ พิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งเป็นรัฐมนตรี โดยที่ตัว พิชิตเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาฯ คุมขังเป็นเวลาหกเดือน ในคดีถุงขนมสองล้านบาท ตัวพิชิตจึงยังมีปัญหาคลุมเครือเรื่องขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) จึงถือเป็นการกระทำที่มิชอบฯ นายกฯ ต้องรับผิดชอบ จึงวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งหาก ศาล รธน.มีมติเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนเดียว แต่ คณะรัฐมนตรี ต้องสิ้นสภาพพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับเศรษฐาด้วยเช่นกัน และทำให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยการนำของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ต้องตัดสินใจเรื่องการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป
กระนั้นพบว่า กระแสการเมืองเรื่อง เปลี่ยนตัวนายกฯ ที่เคยแรงก่อนหน้านี้ พอถึงช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันที่ 14 ส.ค. กลับค่อยๆ เบาลงจนแทบไม่มีข่าว การเตรียมตั้งรับการเมืองใดๆ ของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ หากเศรษฐาไม่รอด ปรากฏให้เห็นท่ามกลางกระแสข่าว เศรษฐายังได้เป็นนายกฯ ยังแรงอยู่
เช่นช่วงต้นสัปดาห์กระแสข่าวมติ 7 ต่อ 2 เศรษฐายังได้ไปต่อ ไม่ต้องเก็บของออกจากตึกไทยคู่ฟ้าฯ เริ่มลือกันมากขึ้น อย่าง ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์-นักวิชาการหัวแถวของฝั่งอนุรักษนิยม ที่เคยออกมาพูดเรื่องดีลฮ่องกง-ถุงขนมภาคสอง ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 12 ส.ค. ว่า 4 ต่อ 5 ต่อมา 5 ต่อ 4 ต่อมา 6 ต่อ 3 ต่อมา 7 ต่อ 2 ถุงขนมฮ่องกงคงชนะอีกแล้ว ได้ยินมาเช่นนี้ รอฟังครับ
ที่ก็ดูจะสอดรับกับการวิเคราะห์ของคนในฝั่งเพื่อไทยว่า คดีนี้เศรษฐาน่าจะรอด โดยอิงหลักวิเคราะห์ที่ว่า หากดูจากมติของ 9 ตุลาการศาล รธน. เมื่อ 23 พ.ค.2567 ที่ลงมติรับคำร้องคดีเศรษฐาไว้วินิจฉัย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองมติ
มติแรก ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัยคือ 6 ต่อ 3 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ควรรับ ประกอบด้วย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน., อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่าง รธน.ปี 2560 และสุเมธ รอยกุลเจริญ
จากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งนายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย เห็นว่านายกฯ ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน และจิรนิติ หะวานนท์
ซึ่งในสองมติดังกล่าวจะพบว่า นครินทร์ ประธานศาล รธน.-อุดม อดีต กรธ.ปี 2560-สุเมธ รอยกุลเจริญ ลงมติไปในทางที่ เป็นคุณ กับเศรษฐา คือลงมติไม่รับคำร้อง-ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
คนในเพื่อไทยจึงวิเคราะห์กันไปว่า เศรษฐามีตุนแล้ว 3 เสียง ดังนั้นขอเพียงแค่หากตุลาการศาล รธน.อีก 2 เสียงมาลงมติในฝั่งที่เป็นคุณกับเศรษฐา ตัวนายกฯ ก็รอดแล้ว ได้เป็นนายกฯ ต่อไปที่คนเพื่อไทยเชื่อว่ามีโอกาสสูง เพราะประเด็นข้อต่อสู้ของเศรษฐาที่ปรากฏใน
คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา-คำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษร
ที่เศรษฐายื่นให้ศาล รธน.โดยได้ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายมหาชนชั้นอ๋อง-ที่ปรึกษาของนายกฯ ด้านกฎหมาย มาช่วยกำหนดประเด็น-ตรวจทานให้ทุกบรรทัดก่อนส่งศาล รธน. น่าจะหักล้างข้อกล่าวหาของกลุ่ม 40 อดีต สว.ได้ แม้อาจไม่ทุกประเด็น แต่ก็น่าจะโน้มน้าวให้ตุลาการศาล รธน.ตัดสินคดีมาในทางที่เป็นคุณกับเศรษฐาจนรอดได้
กระนั้น สุดท้ายความเชื่อมั่นของฝั่งเพื่อไทยและคนในตึกไทยคู่ฟ้าที่เชื่อว่าเศรษฐารอด ได้เป็นนายกฯ ต่อไป จะจริงหรือไม่ รอฟังกันพุธนี้ 14 ส.ค. บ่ายสามโมง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พรรคประชาชน' ถอด 'พิษณุโลกโมเดล' วางเกมยาวสู้ 'กลุ่มชนชั้นนำ' เลือกตั้งปี 70
ภายหลังการเลือกตั้งซ่อม จ.พิษณุโลก เขต 1 สิ้นสุดลง ผลปรากฏว่า นายจเด็ศ จันทรา หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน ไปด้วยคะแนนที่ห่างกันมากถึง 6,569 คะแนน
'นายกฯอิ๊งค์' อารมณ์ดี เดินทัวร์ทำเนียบฯ เยี่ยมรังนกกระจอก
'นายกฯอิ๊งค์' อารมณ์ดี ควง 'จุลพันธ์-เผ่าภูมิ' เดินทัวร์ทำเนียบฯ เยี่ยมรังนกกระจอก เผยเมนูโปรดก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ชอบเหมือนพ่อแม้ว
ร้อง กกต. ยุบเพื่อไทย - ฟัน 'อิ๊งค์' ทำเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมฯ ไม่สุจริต
'พิราบขาว' ร้อง กกต. ยุบพท.- เอาผิดอาญา 'อิ๊งค์' อ้างยึดมาตรฐานเดียวกับฟันนายกเบี้ยว เหตุทำเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมฯ ไม่สุจริตเที่ยงธรรม
เรื่องสำคัญที่ 'นายกฯอิ๊งค์' ควรประกาศ มากกว่าไม่รับเงินเดือน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊งประกาศไม่รับเงินเดือน
‘เทพไท’ ชี้โพลสะท้อนชัด ยิ่ง ‘ทักษิณ’ เคลื่อนไหวมาก ยิ่งกดทับบทบาท นายกฯอิ๊งค์
คำถามเรื่องบทบาทของ คุณทักษิณ ชินวัตร ที่จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมือง ของพรรคเพื่อไทยในช่วงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร
ทักษิณไฟเขียวโผทีมรมต. จัดทัพสิงห์มท.'อนุทิน'รอชง
รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแล้วหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาไปสัปดาห์ที่ผ่านมา