‘เวิลด์แบงก์’ หั่นจีดีพีไทยเหลือ 2.9% สงครามพ่นพิษ

สงครามรัสเซีย-ยูเครนพ่นพิษ “เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปี 2565 เหลือโต 2.9% จากคาดการณ์เดิม 3.9% ชี้ราคาน้ำมันทะยานกระทบต้นทุน-การบริโภคเอกชนอ่วม แนะรัฐเดินหน้ามาตรการเยียวยาโควิด-19 แบบเฉพาะเจาะจง เน้นกลุ่มเปราะบาง หลังพื้นที่การคลังแคบลง ชงปฏิรูปจัดเก็บรายได้ ปูพรมภาคการคลังยั่งยืน ชมเปาะ “คนละครึ่ง” สุดเวิร์ค

6 เมษายน 2565 – นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 ลดลงเหลือ 2.9% ถือว่าปรับลดลงค่อนข้างมากจากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% โดยประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน โดยไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการนำเข้าพลังงานถึง 4.5% ของจีดีพี

“ผลกระทบดังกล่าว จะส่งผ่านมาทางด้านราคาพลังงานที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกระทบต่อการบริโภคเอกชนด้วย โดยราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยมีได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง” นางเบอร์กิท กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นนั้น มีปัจจัยบวกมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเวิลด์แบงก์ประเมินว่า ในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ราว6.2 ล้านคน รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นชัดเจน หนุนการบริโภคในประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญกับไทยเริ่มอ่อนแอลง ถ้าผลกระทบรุนแรงขึ้น จะส่งผลให้ภาพของจีดีพีไทยลงไปอยู่ที่ 2.6% ซึ่งถือเป็นกรณีต่ำ โดยการคาดการณ์นี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบให้เกิดช็อกในตลาดการเงินและมาตรการทางการคลังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในกรณีฐาน ซึ่งเวิลด์แบงก์ประเมินว่า การใช้นโยบายการคลังจะหนุนการบริโภคในประเทศขึ้นมาได้ ถ้าแรงส่งนี้ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

ด้านนโยบายการเงินนั้น ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่0.5% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการฟื้นตัว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตอ่อนแอ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาส 4/2564 ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 40%

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น ยังมีแรงกดดันจากsupply site หรือทางด้านอุปทาน จากราคาพลังงาน โดยประเมินว่าราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพราะอาจจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมองว่าแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานมีอยู่จำกัด เนื่องจาก เศรษฐกิจยังคงอยู่ในการฟื้นตัวที่ค่อนข้างต่ำ

นางเบอร์กิท กล่าวอีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความเปราะบาง และยังมีความไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ ดังนั้นมาตรการเยียวยาผลกระทบของภาครัฐยังมีความจำเป็น แต่ควรเป็นมาตรการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบสูง และแม้ว่าภาครัฐจะยังมีพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้ แต่พื้นที่ก็แคบลง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ราว 60% ของจีดีพี จากเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพี ดังนั้นนอกจากการดำเนินมาตรการด้านการเยียวยาแล้ว ควรจะมีการปฏิรูปด้านการจัดเก็บรายได้ในอนาคตไปพร้อมกันด้วย เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง

“นโยบายการคลังที่ดำเนินการอยู่เป็นนโยบายที่ตรงจุด และเหมาะสมที่จะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น โครงการคนละครึ่ง ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบมากมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานเกือบ 50%ของรายได้ ดังนั้น นโยบายที่ภาครัฐประกาศออกมาถือว่าเป็นนโยบายลดภาระการใช้จ่ายได้ ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มองว่า ควรดำเนินนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม และถือว่ามีความจำเป็น เพราะระดับหนี้ยังสูง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19ทำให้ภาระการกู้ยืมเพิ่ม โดยเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ออกมาน่าจะช่วยได้ แต่ในภาพการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนลงมาถือว่า ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว และจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในประเทศระยะยาว” นางเบอร์กิท กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ซัดรัฐบาล 'เศรษฐา' หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น

“ชนินทร์” ปชป. ซัดรัฐบาล “เศรษฐา” หมดสภาพ ขาดความเชื่อมั่น ประจานไร้น้ำยา และจริยธรรม เหตุประมาณการ GDP ถูกปรับลด เตือนรากหญ้าตาย รายใหญ่ไปไม่รอด ประเทศหายนะ