'สภาพัฒน์’เปิดตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยทะลัก 14.58 ล้านล้าน ห่วงเด็กจบใหม่ตกงานสูง

‘สภาพัฒน์’เปิดตัวเลขไตรมาส 1/65 อัตราว่างงานลดต่ำลงเหลือ 1.53%การจ้างงานฟื้นตัว 3% ต่ำสุดตั้งแต่เกิดโควิด-19ห่วงเด็กจบใหม่ยังตกงานสูง ส่วนไตรมาส 4/64 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท สั่งจับตาการฟื้นตัวจ้างงานภาคท่องเที่ยวเร่งหาแนวทางดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด

23 พ.ค.2565-นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส1/2565 พบความเคลื่อนไหวสำคัญภาพรวมสถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 1.53% ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 หนี้สินครัวเรือนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับด้านการก่ออาชญากรรม และอุบัติเหตุจราจรทางบก

สำหรับสถานการณ์แรงงานมีแนวโน้มดีขึ้น การจ้างงานที่ขยายตัวได้ดีทั้งในและนอกภาคเกษตร ชั่วโมงการทำงานปรับตัวเพิ่มขึ้น การว่างงานในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบสถานการณ์แรงงานไตรมาส1/ 2565 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงาน ภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น3.0%จากการเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชสำคัญ

ทั้งนี้ในส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6% จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงสุดในช่วงโควิด-19 และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้5.8% และ 16.2% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามขณะที่ สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร มีการจ้างงานลดลงที่ 1.1% โดยการลดลงของจ้างงานสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของ โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในไตรมาส1/2565 ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก โดยมีเพียง 5.0 แสนคน จากปกติที่มี 9 – 10 ล้านคน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาพรวมและภาคเอกชนที่ 40.8 และ 43.8% ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้เสมือนว่างงานที่ในไตรมาส1/2565 มีจำนวนถึง 3.8 ล้านคน

ขณะที่ผู้ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือกลุ่มทำงานล่วงเวลามีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าช่วงปกติ โดยมีจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคนในไตรมาส1/2565 จากช่วงปกติประมาณ 6-7 ล้านคน การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่1.53% ต่ำที่สุดในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 305,765 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 2.7%

ทั้งนี้ในส่วนหนี้สินครัวเรือนล่าสุด ข้อมูลไตรมาส 4/2564 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก4.2% ของไตรมาสก่อนหน้า หนี้สินครัวเรือนขณะนี้คิดเป็นสัดส่วน 90.1%ต่อ GDP ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เช่น สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5.0% จาก 5.8% ในไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว6.5%จาก 7.6% ในไตรมาสก่อน

ส่วนสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 1.2% จาก0.3% ในไตรมาสก่อน จากการส่งเสริมการขายช่วงงานมอเตอร์เอ็กซ์โป (ช่วงสิ้นปีที่แล้ว) ขณะที่สินเชื่อจากบัตรเครดิต ขยายตัว 1.6% จากการหดตัว 0.5% ในไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อ และ ลิซซิ่ง ที่ขยายตัวมากถึง 21.6%

สำหรับความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เสียจากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค มีมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน4.0% คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.73 แต่ยังต้องเฝ้าระวังหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากมีสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมสูงถึง11.08% มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เพราะครัวเรือนไทย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย สภาพคล่องต่ำ มีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวยาวนาน , รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่ปกติ และ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือผู้ว่างงานที่ ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้น 5.2 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลงผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน และ การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูงอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 3.1%

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แต่สัดส่วนรายจ่ายยังไม่สามารถชดเชยการหายไปของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด

2.ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงาน และการจ้างงานเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากราคาน้ำมัน และปัจจัยการผลิตในสินค้าบางชนิดที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และการจ้างงานสาขาขนส่งจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและ 3. การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 0.6% โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น1.8% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลง 1.3% อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปต้องให้ความสำคัญกับ 1. การควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการให้สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารที่ผ่านมาตรฐาน SHA PLUS หรือ Thai Stop Covid 2 Plus ได้ ซึ่งอาจทำให้การบริโภคเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 จึงต้องควบคุมและตรวจสอบ การให้บริการของร้านอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด

2.การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน จากข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 23.7%มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกในครัวเรือนได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม ซึ่งมีสารพิษและสารก่อมะเร็งจำนวนมาก และ 3. การเร่งรัดปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันมีการโฆษณาและจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงและซื้อมาบริโภคได้ง่าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

'นักวิชาการ' ยกรายงานสศช.ชี้คนหลายสิบล้านที่เสพสื่ออินฟลู 2 ล้านคนคือเหยื่อที่ถูกล่า

ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ผลกระทบของ "อินฟลูเอนเซอร์" 2 ล้านคนที่มีต่อสังคมไทย มีเนื้อหาดังนี้

"รมว.พิพัฒน์" ลุย พัทลุง เพิ่มการจ้างงาน วัยเรียน แรงงานอิสระ กระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้สนใจกว่า 3 หมื่นคน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1 ล้านอัตรา ในปี 2567

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสร้างงาน และเส้นทางสู่อาชีพ ณ จังหวัดพัทลุง โดยมี นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี นายสมชาย