‘โฮปเวลล์’ เปิดหน้าชน ทวงเงินลงทุน 2.7 หมื่นล้าน

‘โฮปเวลล์’เปิดโต๊ะแถลงข่าว ออกโรงทวงเงิน 2.7 หมื่นล้าน ตามคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการปี 51 เผยเคยเจรจา 3 ครั้งล้มเหลว หลังรัฐเงียบหาย ลุยฟ้องคดีอาญา พร้อมขู่ฟ้องผู้กระทำความผิด ลั่น  ห่วงภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติ 

21 มิ.ย.2565 – นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในการแถลงข่าวทวงถามความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาในสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (BERTS) หรือโฮปเวลล์ มูลค่า 80,000 ล้านบาทว่า นับจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2541 และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย คือ รฟท. และบริษัทฯ คืนสู่สถานะเดิม พร้อมกับคืนเงินตอบแทน และเงินลงทุนที่ได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามที่บริษัทฯ ร้องขอออกมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2551 

ทั้งนี้ สาระสำคัญในคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ระบุให้คืนสถานะเดิมแก่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย และให้ รฟท.คืนเงินตอบแทน เงินลงทุน รวมทั้งหนังสือค้ำประกันสัญญาสัมปทานและค่าธรรมเนียมแก่บริษัทฯ รวมทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี โดยล่าสุดอยู่ที่วงเงินประมาณ 27,000 ล้านบาท แต่ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. กลับยังไม่ได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภาครัฐไม่เคารพในคำพิพากษา 

“ยังไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ยืนยันว่า จะไม่ลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งไม่คำนึงถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความซื่อสัตย์สุจริตในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่พึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด”นายคอลลิน กล่าว

นอกจากนี้ กรณีคดีโฮปเวลล์นั้น จะถือเป็นกรณีตัวอย่าง และในอนาคตคำพิพากษาถึงที่สุดของทุกศาลจะไร้ความหมาย และเป็นข้ออ้างสำหรับคนไม่สุจริตในการรื้อฟื้นให้มีการพิจารณาคดีใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ได้เข้ามาโกงประเทศไทย เพราะโครงการดังกล่าว ทางบริษัทฯ ได้ลงทุนในวงเงินมากมหาศาลไปก่อนด้วย

ด้านนายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมายบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทโฮปเวลล์ฯ ได้จัดตั้งบริษัทขึ้นในปี 2533 แต่ในปี 2564 รฟท.ได้ดำเนินการฟ้องร้องว่า การจัดตั้งบริษัทเป็นโมฆะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้ยืนยันต่อครม. แล้วว่าบริษัทจดทะเบียนโดยชอบ พร้อมทั้งยังมีเอกสารยืนยันจาก รฟท.ว่า การจดทะเบียนบริษัทฯ อยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ จึงถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประกอบกับในปัจจุบันภาครัฐได้พยายามดำเนินคดีในทุกคดีด้วย

อย่างไรก็ตามขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อติดตามเอาทรัพย์สินของโฮปเวลล์คืนตามกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการที่จะฟ้องคดีนี้ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการร้องเรียนต่อ ปปช.ในเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และกระทำความผิด เพื่อทวงคืนความเป็นธรรม

นายสุภัทร กล่าวอีกว่า ตามที่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้คืนสถานะเดิม และคืนเงินบางส่วนให้แก่บริษัทฯ วงเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ ล่าสุดอยู่ที่วงเงินประมาณ 27,000 ล้านบาท และหากยังยืดเยื้อต่อไปอีก จะทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นวันละ 2.4 ล้านบาท โดยเมื่อปี 2562 ได้มีการเจรจาไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐจ่ายเงินคืน 18,000 ล้านบาท จากตัวเลข ณ ขณะนั้น อยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท พร้อมด้วยเงื่อนไขยุติการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ภาครัฐไม่ตกลง และไม่ตอบรับในเวลาที่กำหนด ซึ่งหากจะมีการเจรจาหลังจากนี้ ทางภาครัฐ จะต้องเสนอเงื่อนไขมา และถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

สำหรับวงเงินที่คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.คืนแก่บริษัทฯ เพื่อกลับคืนสู่สถานะเดิม ประกอบด้วย 1.เงินค่าตอบแทน ตามสัญญาที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่ รฟท. ไปแล้ว จำนวน 2,850 ล้านบาท 2.เงินลงทุนที่บริษัทฯ ได้ใช้ในการก่อสร้างไปแล้วบางส่วน จำนวน 9,000 ล้านบาท และ 3.คืนหนังสือค้ำประกันสัญญา จำนวน 500 ล้านบาท และเงินค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38 กว่าล้านบาท

“สำหรับประเด็นคำว่า “ค่าโง่”  ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เข้ามาโกงประเทศไทยอย่างแน่นอน เราเข้ามาเพื่อสร้างความเจริญให้ และเราไม่ต้องการค้าความ เพียงแค่เราต้องการขอเงินของเราคืน เพราะเป็นเงินโฮปเวลล์ 100% การไม่จ่ายเป็นการกระทำของภาครัฐ แต่การดำเนินการของรัฐในขณะนี้ ถือเป็นการ “ข่มขืนรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 213 ที่ไม่ดำเนินการตามคำชี้ขาดฯ ซึ่งหลังจากนี้ เพื่อความเป็นธรรมของบริษัทฯ จะขอใช้สิทธิ์ทางศาล เพื่อให้ดำเนินการตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนการเจรจรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับภาครัฐ” นายสุภัทร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภราดร' โต้ 'โรม' ฉะแซงคิวแถลงข่าว ยืนยันไม่ใช้อภิสิทธิ์ เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

จากรายงานข่าวที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน กล่าวตำหนินายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าแซงคิวแถลงข่าวที่ห้องแถลงข่าวของสภาฯ

'เอ้-น้ำผึ้ง' แถลงจับสินค้าปลอม ประกาศฟ้องอินฟูลเอนเซอร์ใส่ความ

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เอ้-ชุติมา นัยนา พรีเซ็นเตอร์ฮันนี่คิว ได้เข้าแจ้งความกรณีสินค้า ฮันนี่คิวเลเวลอัพ ถูกทำปลอมขึ้นมา และมีการใส่สารอันตรายในสินค้าปลอมดังกล่าว และเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา อย.ได้ตรวจจับสินค้าปลอมล็อตดังกล่าว บริษัทจึงได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงว่า

'ผู้ว่าฯ เชียงใหม่' นั่งไม่ติด! นำทีมแจงมาตรการปราบฝุ่น PM2.5

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในการปฏิบัติการทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข

'เศรษฐา-ชอล์ซ' แถลงผลหารือ 2 ประเทศชื่นมื่น

นายกฯ แถลงข่าวร่วมกับนายกฯ เยอรมนี สถาปนาความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เดินหน้าความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย