เราพร้อมหรือยังที่จะอยู่ในโลกที่ไร้ระเบียบ

หลายคนคงรู้สึกว่าโลกเราปัจจุบันมีปัญหามาก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเร็วและเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดโควิด19 ที่ผ่านมาแล้วสองปียังไม่จบ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อและไม่มีท่าทีว่าจะจบง่าย นําโลกเข้าสู่วิกฤตพลังงาน วิกฤตการขาดแคลนอาหารและปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง ล่าสุดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนก็ได้พัฒนาไปสู่ความตึงเครียดทางทหารกรณีใต้หวันที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์สู้รบและความไม่สงบในภูมิภาคเอเชีย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ประชาชนทั่วไปย้อนหลังไปสองปีไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น นําโลกไปสู่โลกที่อันตรายมากขึ้น เต็มไปด้วยความแตกแยก ความขัดแย้ง และความไม่แน่นอน

บทความ “เขียนให้คิด” วันนี้ต้องการชี้ว่าลึกๆแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นกําลังสะท้อนจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่โลกกําลังก้าวสู่โลกในบริบทใหม่ จากโลกเดิมที่ประเทศในโลกอยู่กันอย่างมีระเบียบ เคารพกฏเกณฑ์กติกาและอธิปไตยซึ่งกันและกัน ไปสู่โลกใหม่ที่จะเป็นโลกที่ไร้ระเบียบ ไม่เคารพกติกาและอธิปไตยของกันและกันเหมือนแต่ก่อน ที่ประเทศมหาอำนาจจะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างใหญ่ ไม่เกรงกลัวกัน และจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ต่างๆ ที่โลกเคยมีทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง เป็นโลกที่จะแตกแยก ไม่เป็นหนึ่งเดียว และอันตรายมากขึ้น คําถามคือเราตระหนักหรือไม่กับการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นและควรเตรียมตัวอย่างไรที่จะอยู่ในโลกที่ไร้ระเบียบ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ระเบียบการเมืองโลกที่เราคุ้นชินในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือระเบียบการเมืองโลกที่นําโดยสหรัฐในฐานะประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามที่เน้นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม กลไกตลาด การอยู่ร่วมกันอย่างมีกฏเกณฑ์(rule-based) ให้ความสำคัญกับระบบประชาธิปไตย สิทธิมนุษย์ชน และการบังคับใช้กฏหมาย จัดตั้งสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ ไอเอ็มเอฟ องค์กรการค้าโลก ธนาคารโลก เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติของประเทศต่างๆ ตามกฏเกณฑ์ที่ได้วางไว้ โดยสหรัฐในฐานะประเทศมหาอำนาจจะใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารดูแลระเบียบโลกดังกล่าวให้อยู่ได้โดยไม่ถูกท้าทาย

ซึ่งจุดสูงสุดของระเบียบโลกที่ผ่านมามีสองช่วง หนึ่ง การเติบโตของกระแสโลกาภิวัตน์ควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยที่สามตั้งแต่ปลายปี1970sที่ขับเคลื่อนและกระจายระบบทุนนิยมไปท้่วโลก ผ่านความเป็นเสรีของการเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน และห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ ที่เศรษฐกิจโลกหายใจเข้าออกเป็นกลไกตลาดเสรีตั้งแต่นั้นมา สอง การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกของจีนในปี 2001 ทําให้สหรัฐไม่มีคู่แข่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ขีดเส้นใต้ความยิ่งใหญ่ของระบบทุนนิยมและความเป็นหนึ่งของสหรัฐในฐานะประเทศมหาอำนาจเดียวในโลก ซึ่งแม้ทั้งจีนและรัสเซียจะไม่พอใจกับระเบียบโลกแบบนี้ แต่ก็ต้องยอมเพราะต้องการหาประโยชน์จากโลกาภิวัตน์และระบบทุนนิยมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจตน

แต่อำนาจเมื่อมีมากก็จะเสื่อมจากการใช้อํานาจที่ผิดพลาด สั่นคลอนความเป็นผู้นําและความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ ซึ่งกรณีสหรัฐก็เช่นกัน มีการใช้อำนาจที่เกินเลยโดยไม่สนใจระเบียบโลกและกติกาที่ตนได้วางไว้ เช่น ส่งกําลังทหารของตนและพันธมิตรบุกเข้ายึดอิรักโดยไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับกลไกของสหประชาชาติ และเมื่อประเทศมหาอำนาจหลักคือสหรัฐไม่ปฏิบัติตามระเบียบโลกให้เป็นตัวอย่าง ประเทศมหาอำนาจอื่นๆก็พร้อมจะไม่ปฏิบัติตามเช่นกัน และหนักเข้าก็นํามาสู่การทําเพื่อประโยชน์ตนเองของประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐ จีน และ รัสเซีย โดยไม่สนใจความถูกต้องหรือกติกาที่มีอยู่ นําโลกไปสู่โลกที่ไร้ระเบียบ ซึ่งตัวอย่างที่ได้เห็นชัดเจนคือ

หนึ่ง สหรัฐลดความสำคัญในบทบาทหน้าที่ที่ตนควรทำเพื่อดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศในโลกในฐานะประเทศมหาอำนาจผู้นํา ไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันหลักที่ตนได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลระเบียบโลก เช่น สหประชาชาติและองค์กรการค้าโลก ถอนตัวออกจากเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่สนับสนุนการค้าเสรี เช่น ข้อตกลงความร่วมมือ Trans-Pacific Partnerships และการรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่มาจากจีน ห้ามการส่งออกเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ตั้งป้อมที่จะขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆเช่น จีนและรัสเซีย

สอง จีน หลังได้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ กลายเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับสองของโลกในแง่เศรษฐกิจ ก็ประกาศที่จะมีบทบาทในฐานะประเทศผู้นําในโลกที่จะสร้างดุลยภาพทางอำนาจใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่ให้ความสำคัญกับความเห็นและความยิ่งใหญ่ของจีนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งถ้าดูจากท่าทีของจีนในความขัดแย้งกับหลายประเทศในเอเชียทั้งกรณีพื้นที่ทะเลในทะเลจีนใต้ แรงเสียดทานระหว่างจีนกับอินเดีย จีนกับเวียดนาม และล่าสุดกรณีไต้หวัน พูดได้ว่าจุดอ่อนไหวเหล่านี้เป็นผลจากการวางบทบาทใหม่ของจีนในระเบียบการเมืองโลกที่ชัดเจนว่าจีนต้องการเปลี่ยนระเบียบโลกปัจจุบันในทางที่จีนต้องการ

สาม รัสเซีย ที่ไม่เคยลืมความยิ่งใหญ่ของสหภาพโชเวียตและโหยหาเวลาที่ความยิ่งใหญ่นั้นจะกลับมา ที่ในอดีตสหภาพโซเวียตเคยเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นประเทศเดียวที่สามารถยืนระยะในการท้าทายสหรัฐอเมริกาในเกือบทุกมิติ นี่คือความเจ็บปวดที่รัสเซียมีหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พูดได้ว่าการบุกโจมตียูเครนของรัสเซียที่ท้าทายอํานาจทางทหารของกลุ่มประเทศนาโต้โดยตรงก็คือการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกและความต้องการของรัสเซีย รวมถึงแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับระเบียบโลกปัจจุบันและความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเปลี่ยนระเบียบโลกเพื่อลดบทบาทและความสำคัญของสหรัฐในการเมืองโลก

นี่คือตัวอย่างที่ชี้ว่าโลกกําลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของความพยายามที่จะเปลี่ยนระเบียบโลกที่มีทั้งเเรงหนุนและแรงต้าน แรงหนุนมาจากประเทศมหาอำนาจใหม่คือจีนกับรัสเซียที่มองว่าระเบียบโลกปัจจุบันนําโดยสหรัฐเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ ขณะที่แรงต้านก็มาจากประเทศมหาอำนาจเดิมคือสหรัฐและกลุ่มประเทศพันธมิตร อย่างไรก็ตามพฤติกรรมสหรัฐที่ผ่านมา ที่ไม่ทําหน้าที่ประเทศมหาอำนาจผู้นำในการดูแลผลประโยชน์สาธารณะของส่วนรวม ทําให้ประเทศที่เป็นพันธมิตรรวมถึงประเทศอื่นๆ เริ่มขาดความมั่นใจในความมุ่งมั่นของสหรัฐที่จะรักษาระเบียบโลก เราจึงเห็นประเทศอย่างญี่ปุ่นและเยอรมันให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการทหาร คือสร้างกองกำลังทางทหารเพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งก็เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นไปอีกให้กับสถานการณ์ความมั่นคงในโลก

จึงชัดเจนว่าจากนี้ไปเราจะอยู่ในโลกที่อันตรายมากขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอาจไม่สงบเหมือนที่เราเคยคุ้นชินในอดีต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกหรือโลกาภิวัตน์จะหายไป กลายเป็นเศรษฐกิจโลกที่ประเทศจะแตกแยกเป็นกลุ่มๆ ค้าขายกันระหว่างประเทศในกลุ่มเป็นหลัก ต้นทุนในการทําธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น ทําให้เศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อตํ่าจะเป็นเรื่องในอดีต อนาคตคือเศรษฐกิจโลกที่แต่ละประเทศจะต่างคนต่างอยู่และต้นทุนการผลิตหรืออัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น

ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนและความไม่วางใจกันซึ่งกันและกันจะทําให้ความขัดแย้งที่มีอยู่จะยิ่งแย่ลง กระทบประเทศเราและภูมิภาคทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็จะทําให้รัสเซียต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐและประเทศในกลุ่มนาโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สร้างความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจขยายผลและนําโลกไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากเห็น

คําถามคือประเทศเราจะอยู่อย่างไรในโลกที่ไร้ระเบียบ และควรเตรียมรับสถานการณ์อย่างไร

ผมว่าสิ่งแรกคือประชาชนควรต้องทราบและตระหนักในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเตรียมตัว การปรับตัว และความร่วมมือของคนในสังคมที่จะช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งการสื่อสารในประเด็นเหล่านี้ต้องมาจากภาครัฐหรือรัฐบาลที่ต้องเริ่มสร้างความเข้าใจ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นและความจำเป็นที่สังคมต้องปรับตัว อย่างที่สิงคโปร์ทําในการสื่อสารของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในโอกาสวันชาติสิงค์โปร์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ขอให้ประชาชนในประเทศเขาสามัคคีกันและช่วยเหลือกันในการเผชิญกับปัญหา เป็นตัวอย่างของผู้นําที่มองไกล มีประชาชนและประเทศชาติอยู่ในใจ

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน