"อาคม"สั่งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยยาว แจงเร่งพิจารณามาตรการของขวัญปีใหม่

4 พ.ย. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตรึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้นานที่สุด โดยเบื้องต้นคาดว่าจะถึงช่วงปลายปีนี้ ซึ่งทุกแห่งก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็อาจจะมีการขยับเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

“สถาบันการเงินของรัฐมีบทบาทสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. เป็นแหล่งระดมเงินฝาก และ 2. เป็นกลไกของรัฐ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนั้นก็ได้เคยขอความร่วมมือไปว่าให้ตรึงให้นานที่สุด ซึ่งทุกแบงก์ก็รับปาก โดยจะตรึงจนถึงปลายปี ส่วนหลังปีใหม่คงต้องมาดูสถานการณ์กันอีกที” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า เรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของไทยคงมองตามเฟดตลอดไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ต้องพิจารณาด้วย โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ภาคธุรกิจกำลังเริ่มขยับไปได้ หากเจออัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็อาจจะเป็นการซ้ำเติม ซึ่งเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการพิจารณาหลาย ๆ อย่างประกอบ โดยดูทั้งทิศทางของภาคธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็ก และประชาชนว่าสามารถรับได้หรือไม่ แค่ไหน

สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยอมรับว่ามีหลายมาตรการที่กำลังดูอยู่

อย่างไรก็ดี รมว.การคลังได้กล่าวในพิธีเปิดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน สัญจร ครั้งที่ 1 ว่า งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ผนึกกำลังเพื่อร่วมแก้ไขหนี้ให้กับลูกค้าและประชาชน ซึ่งพบว่ามีผู้ลงทะเบียนเพื่อร่วมงานแล้วกว่า 1.25 หมื่นราย และคาดว่ายอดลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคประชาชน ซึ่งพบว่าประชานส่วนใหญ่เดือดร้อนจากภาระหนี้สิน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในงานนี้จะมีมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ จึงอยากให้ประชาชนที่เดือดร้อนมาใช้สิทธิประโยชน์ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจัดเตรียมไว้ให้” นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ทั้งการแก้ไขหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง, การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนได้ในระยะยาว และสามารถขอรับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และการเสิรมสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินและการส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงการเป็นหนี้และมีการวางแผนทางการเงิน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ในครั้งต่อไปอีก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย ครั้งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น วันที่ 18-20 พ.ย. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น, ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16-18 ธ.ค. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่, ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20-22 ม.ค. 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน และครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27-29 ม.ค. 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดอาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ นายธีธัช สุขสะอาด นายประณต เลิศมีมงคลชัย รองกรรมการผู้จัดการ และนายกรานต์ ฉายาวิจิตรศิลป์