SCB คาด กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง มาสู่ระดับ 2% ในปีนี้

26 ม.ค. 2566 – SCB EIC คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 2% ในปีนี้ กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคม 2023 ครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

โดย SCB EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2023 จะขยายตัวได้ 3.4% จากแรงส่งสำคัญของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีนส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และจะทำให้การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้มีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยเริ่มเห็นการหดตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 (รูปที่ 1) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง การส่งออกในปีนี้อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ[1] ได้แก่ ยุโรปและอินเดีย ซึ่งจะเริ่มมีผลบางส่วนตั้งแต่ปีนี้ ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยอาจขยายตัวต่ำเหลือเพียง 1.2% ในปี 2023

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2023 มีแนวโน้มชะลอลง แต่จะยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2022 ขยายตัวที่ 6.1% (รูปที่ 2) โดย SCB EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 3.2% ณ สิ้นปี 2023 ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากราคาพลังงานในประเทศและราคาอาหารที่ยังสูง รวมถึงการเร่งตัวของเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้อาจเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย เป็น 2.7% จาก 2.5% ในปี 2022 จากผลของเงินเฟ้อที่ได้ขยายวงกว้างไปยังราคาสินค้าและบริการหมวดอื่นมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตได้ทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าของผู้บริโภคตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่อาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์มากขึ้นได้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น การเปิดประเทศของจีน สภาพอากาศโลกแปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลให้มี Upside risk ต่ออัตราเงินเฟ้อได้

ค่าเงินบาทในปี 2023 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วนำประเทศอื่นในภูมิภาค จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนมาก โดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 5.6% นับตั้งแต่ต้นปี (รูปที่ 3) และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้ ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปีนี้ ตามการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะแข็งค่ามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังสู่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ฝากบอกแบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระ แต่ควรคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ปชช.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ย ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ หรือยัง ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายดนุชา แต่ตนทราบมาก่อนแล้ว

'กนง.' ฝ่าแรงกดดันยืนมติไม่ลดดอกเบี้ย

กนง. มีมติ 5:2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ชี้ดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

กสิกรฯ ชี้ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด มอง กนง. มีสิทธิ์ลดดอกเบี้ย

เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนม.ค. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 35 เดือนที่ -1.11% YoY โดยเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ